ร้านทองอัจริยะ ด้วยเทคโนโลยี RFID

เรื่อง : เรไร จันทร์เอี่ยม
ภาพ : ชีวทันย์ ปาลกะวงศ์


       สำหรับเจ้าของร้านทองแล้ว คงไม่มีอะไรน่ากังวลใจมากไปกว่าการสูญหายของสินค้าอีกแล้ว เพราะด้วยมูลค่าต่อชิ้นที่ค่อนข้างจะสูงนี่เอง ทำให้บรรดาผู้ประกอบการทั้งหลายต้องพยายามอย่างมากเพื่อหาทางป้องกัน แต่ที่ผ่านมาปัญหาเหล่านี้ก็ยังเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ แต่วันนี้ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงนำมาสู่ทางออกในการช่วยลดปัญหาดังกล่าวให้กับเจ้าของร้านทองได้ พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

       ทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านทองเที่ยงธรรม สมสิทธิ์ ดวงเอกอนงค์ เลือกที่จะปฏิวัติการบริหารจัดการร้านทองแบบเดิมๆ ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการ เพราะตั้งแต่อดีตมีสิ่งหนึ่งที่เขาเห็นว่ายังเป็นจุดอ่อนของการทำงาน นั่นคือ ‘การตรวจนับทอง’ สมสิทธิ์เล่าว่า

       การตรวจนับทองเป็นกิจวัตรประจำวันหลักของร้านที่จะต้องทำทุกเช้าและเย็น โดยจะตรวจนับทองทุกชิ้นก่อนนำสินค้าออกจากห้องมั่นคง (ห้องนิรภัย) เพื่อนำไปวางหน้าร้านเมื่อเปิดทำการในตอนเช้า และต้องตรวจนับสินค้าอีกครั้ง เพื่อเก็บเข้าห้องมั่นคงหลังจากร้านปิดทำการในช่วงเย็น ซึ่งแต่ละวันต้องใช้พนักงานตรวจนับ 4-5 คน รวมเวลากว่า 2 ชั่วโมง และบางครั้งก็อาจเกิดความผิดพลาดในระหว่างการตรวจนับของพนักงานขึ้นได้

       “เดิมจะให้พนักงานเป็นคนนับ แต่เราเองก็ไม่สามารถมั่นใจว่าเขานับจริงหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาในทุกๆ ไตรมาสจะมีการส่งระดับผู้บริหารหรือคนที่ไว้ใจได้เข้าไปนับ ปรากฏว่ามีหายทุกรอบ นั่นคือปัญหาภายในอย่างหนึ่ง ขณะเดียวกันกรณีการขายหน้าร้าน ปัจจุบันก็มีวิธีการโกงหลากหลายรูปแบบมาก ทองเส้นหนึ่งอย่างน้อยสุดก็ครึ่งสลึงประมาณ 2,000 กว่าบาท ถ้าเป็นเส้นละ 5 บาทราคาก็เกือบแสนเลยทีเดียว ฉะนั้นถ้าสูญหายไปมูลค่าจะค่อนข้างมาก”

       จากปัญหานำมาสู่โจทย์ของการแก้ไข นอกจากสมสิทธิ์จะเป็นเจ้าของร้านทองแล้ว เขายังควบตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท โมลีคิว (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจร้านทอง ซึ่งเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่เกิดขึ้นจากความรักและความชื่นชอบส่วนตัว และที่สำคัญ คือ อยากช่วยพัฒนายกระดับธุรกิจของครอบครัว อย่างร้านทองให้มีการบริหารจัดการที่ดีมากขึ้น

       โดยบริษัทนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2546 เพราะเล็งเห็นว่าปัจจุบันเทคโนโลยีไอทีได้เข้ามามีส่วนในการเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการแทบทุกสาขาอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่ร้านทอง และล่าสุดสมสิทธิ์ได้ร่วมกับโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) พัฒนาเครื่องอ่าน RFID ซึ่งเป็นเทคโนโลยีคลื่นวิทยุ ใช้ในการตรวจนับทองรูปพรรณในรูปแบบของถาดไฮเทคขึ้นมา และระบบควบคุมการเปิด-ปิดห้องมั่นคงด้วยโทรศัพท์มือถือ

       สำหรับถาด RFID ไฮเทคนี้ สามารถตรวจนับในครั้งเดียวได้มากกว่า 300 Tags ในเวลาไม่ถึง 10 วินาทีเท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องเกลี่ย Tag ที่วางทับซ้อนกัน ซึ่งเครื่องอ่าน RFID ที่พัฒนาขึ้นนี้ถือเป็นเครื่องแรกที่สามารถอ่านค่าได้ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานจริงของธุรกิจร้านทอง โดยได้ออกแบบและพัฒนาเสาอากาศที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ของถาดบรรจุทองรูปพรรณหรือจิวเวลรี่ของทางร้าน

       สำหรับ Tag ที่ติดกับตัวสินค้าออกแบบเป็น Tag ติดโลหะที่สามารถบรรจุข้อมูล เช่น รหัสสินค้า ราคา ค่ากำเหน็จ น้ำหนัก และราคาขาย เป็นต้น เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับพนักงานขายด้วย และสามารถทำงานได้ดีในสภาวะเข้าใกล้โลหะ

       อย่างไรก็ดี สมสิทธ์ได้บอกอีกว่า หลังจากได้นำเครื่องอ่าน RFID มาทำหน้าที่ตรวจนับสินค้าในร้าน ทำให้มั่นใจได้ว่าสามารถนับสินค้าทั้งตอนออกจากห้องมั่นคงและกลับเข้าห้องมั่นคงได้ถูกต้องครบถ้วนแม่นยำ 100 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งช่วยลดบุคลากรในการทำงานลงด้วย นอกจากนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจอื่นๆ เช่น ร้านเพชร-พลอย โรงรับจำนำ ไฟแนนซ์ และร้านขายสินค้ามือสอง เป็นต้น

       “อย่างโรงงานจิวเวลรี่ เวลาเขานำสินค้าไปออกงานแสดงสินค้าต่างๆ เขาจะไม่เหมือนกับร้านทองที่หยิบทีละเส้นให้ลูกค้าดู เขาจะหยิบเป็นถาดเลย ถ้ามีคนมาขอดูหลายคน เขาจะแน่ใจได้อย่างไรว่าของจะไม่หาย สามารถที่จะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ได้ แทนที่จะวางถาดบนกระจก หรือกำมะหยี่ ก็เอาไปวางบนเครื่องอ่านซะ เครื่องอ่านจะทำการอ่านว่าสต๊อกเดิมที่ออกมาเท่าไร เวลาส่งคืนจะรู้ว่าครบจำนวนหรือไม่ เรียกว่าสามารถต่อยอดการใช้งานกับสินค้าอื่นๆ ได้

      

       นอกเหนือจากการตรวจเช็กสินค้าแล้ว เรื่องของระบบความปลอดภัยของห้องมั่นคงก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน สมสิทธิ์เล่าว่า เนื่องจากเรามีสินค้าหลังร้านและสินค้าหน้าร้านที่ต้องเก็บในห้องมั่นคง โดยปกติการเปิด-ปิดห้องสามารถทำได้เฉพาะเจ้าของร้านและผู้จัดการที่ถือกุญแจห้องมั่นคงเท่านั้น

        แต่ในกรณีที่ผู้ถือกุญแจติดภารกิจเร่งด่วนไม่สามารถทำการเปิด-ปิดในเวลาได้ก็จะมีปัญหาต่อการนำสินค้าเข้าออกด้วยเช่นกัน จึงเป็นที่มาของการพัฒนาต้นแบบระบบควบคุมการเปิด-ปิดห้องมั่นคงด้วยการส่งคำสั่งผ่านทาง SMS โดยไม่ต้องใช้กุญแจและสามารถเปิด-ปิดได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังสามารถควบคุมเวลาและบุคคลที่เข้าออกห้องมั่นคงในระหว่างวัน และสามารถส่งคำสั่งล็อกห้องมั่นคงเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้นได้ทันที

      

“การที่จะทำงานโดยที่เราไม่ได้อยู่ที่สาขา ทำให้เราต้องมอบหมายให้คนเข้าออกห้องมั่นคง ผมพยายามจะสร้างธุรกิจร้านทองให้ทำงานด้วยตัวของมันเอง ถ้าซอฟต์แวร์สามารถทำงานได้ด้วยตัวของมันเองแล้ว จะเอาฮาร์ดแวร์อะไรเข้ามาต่อเชื่อมก็ทำได้ง่าย และสามารถที่จะขยายสาขาได้ โดยที่เจ้าของไม่จำเป็นต้องอยู่ที่สาขา

       อย่างผมเองก็มีอยู่หลายสาขาเช่นกัน ถ้าผมคนเดียวถือกุญแจไปเดินเปิด-ปิดห้องมั่นคงของทุกสาขาคงเป็นไปไม่ได้ และกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งผมกลับมาล็อกห้องไม่ทัน ผมก็จะส่ง SMS มาล็อกตายห้องทันที ฉะนั้นจะไม่มี SMS ที่จะมาปลดล็อกของผมได้ และไม่สามารถเปิดห้องได้อีก หลักการของห้องมั่นคงตัวนี้จะเป็นแบบ One Way ไม่มีการย้อนกลับ ถ้าจะเปิดออก คือต้องทุบอย่างเดียว”

       สมกับเป็นร้านทองอัจริยะจริงๆ ทั้งปลอดภัย ถูกต้อง แม่นยำ แถมเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ดียิ่งขึ้น อนาคตคงได้เห็นธุรกิจอัจริยะอื่นๆ ตามมาอีกแน่นอน เพราะวันนี้เทคโนโลยี คือ เครื่องมือสร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกแล้ว...!!!  

 

  

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน