กรีนบอร์ด เฟอร์นิเจอร์รักษ์โลก

 

 
 
“ในแต่ละปีมีกล่องเครื่องดื่มทั่วโลกเกือบหนึ่งพันล้านตัน เมืองไทยมีปริมาณมากถึงหกหมื่นตัน เราได้เริ่มต้นโครงการรีไซเคิลเมื่อ 10 ปีก่อน ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่าง Tetra Pak บริษัทผู้ผลิตกล่องเครื่องดื่มรายใหญ่ที่ให้การสนับสนุนวัตถุดิบ และเรายังทำกิจกรรมเก็บขยะรีไซเคิลร่วมกับสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม และกลุ่มชุมชนซาเล้งเพื่อนำไปสร้างบ้านให้แก่ผู้ยากจน ซึ่งเป็นรูปแบบของการช่วยเหลือสังคมอีกทางหนึ่ง”
 
หิรัณยธร ยิ่งทวีรัตนกุล ผู้บริหารบริษัทกรีนบอร์ด (ประเทศไทย) จำกัด บอกเล่าถึงที่มาของผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ได้จากการรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม ในชื่อ “กรีนบอร์ด” ที่นอกจะทำเพื่อสังคมแล้ว ยังใช้ต่อยอดทางธุรกิจ โดยการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้หลากหลาย ทั้งเฟอร์นิเจอร์อย่างโต๊ะ เก้าอี้ ชั้นวางของ กระทั่งตู้เสื้อผ้าแบบ Walk in Closet หรือแม้แต่นำไปใช้สร้างบ้าน

โดยกรีนบอร์ดสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่กำลังหันมาสนใจวัสดุทดแทนไม้ ซึ่งนับวันจะหายากและมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนวัสดุสังเคราะห์อื่นๆ แม้จะมีราคาถูกกว่าแต่ก็มีต้นทุนการผลิตสูง และมีข้อจำกัดในการใช้งาน

ในขณะที่กรีนบอร์ดนอกจากจะมีความคงทนต่อน้ำ, ปลวกหรือแมลงต่างๆ แล้ว ยังปราศจากสารเคมีที่เป็นอันตรายในการผลิตเมื่อเทียบกับวัสดุประเภท Particle Board หรือ MDF เมื่อรวมเข้ากับคุณสมบัติในการเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ทำให้กรีนบอร์ดกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้ากับกระแสการอนุรักษ์ทรัพยากร จนได้รับ “รางวัลโดดเด่นด้าน Recycle Product”
 
ผลแห่งความสำเร็จและการยอมรับในครั้งนี้ ยิ่งกระตุ้นให้กรีนบอร์ดไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อยอดไปในอนาคต โดยตั้งเป้าหมายให้กรีนบอร์ดเป็นสินค้าแห่งอนาคตด้านสิ่งแวดล้อม ที่ตอบโจทย์กระแสอนุรักษ์นิยมและสุขนิยม ด้วยกลยุทธ์การบริหารงานที่มีการศึกษาวิจัยความต้องการของลูกค้า และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค โดยไม่ลืมใส่ใจต่อปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม
 
นอกจากการนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมเกษตรแล้ว แผ่นกรีนบอร์ดยังถูกดีไซน์เพิ่มมูลค่าไปใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น โต๊ะ เก้าอี้นักเรียน, สตูดิโออัดเสียง และบ้านที่สร้างจากวัสดุกรีนบอร์ด ทว่าแม้จะมีการนำไปใช้จริงแต่ก็ไม่ได้แพร่หลายในวงกว้างเท่าใดนัก

ผู้บริหารกรีนบอร์ดยอมรับว่า ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลมักจะมีจุดอ่อนอยู่ที่การตลาด ที่ผู้บริโภคยังติดภาพว่า สินค้ารีไซเคิลคือของที่ใช้แล้ว จึงวางแผนงานเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่จากการตลาดแบบ B-to-B (Business-to-Business) ที่เป็นการติดต่อโดยตรงกับองค์กรหรือบริษัทที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้อยู่แล้ว มาเป็นการตลาดแบบ Business-to-Consumer หรือ B-to-C เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น
 
“คนไทยทั่วไปชอบสินค้าที่โมเดิร์น ไม่นิยมของที่ใช้แล้ว แต่เราอยากให้ลูกค้ามองว่าการซื้อสินค้ารีไซเคิล คือคุณซื้อการรักษาโลกใบนี้ไว้ ในอนาคตเรามีแผนจะทำการตลาดให้ผู้บริโภครู้จักสินค้ามากขึ้น โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ตัว Product และเพิ่ม Position ทางการตลาด นอกเหนือจากการให้คุณค่าคืนสู่สังคมโดยตรงผ่านการรีไซเคิล เพราะเราไม่ได้เน้นเพียงแค่ทำกำไรทางธุรกิจเท่านั้น แต่เราช่วยเหลือโลกและสังคมด้วย” หิรัณยธรกล่าวทิ้งท้าย 
 
กรีนบอร์ดไม่ใช่แค่วัสดุรีไซเคิลที่ช่วยรักษ์โลก แต่ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจได้อย่างน่าสนใจ 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Momento Coffee Roaster  จากคั่วกระทะหลังหอ สู่แบรนด์กาแฟ ที่สร้างรายได้ 1.5 ล้านบาทต่อเดือน

จากเด็กที่ไม่รู้ว่าชอบอะไร สู่เจ้าของโรงคั่วกาแฟที่โตมาด้วยความเชื่อว่าทำก่อน แล้วค่อยรู้ว่ารัก ตามไปรู้จัก เต้ย-เฉลิมชาติ สีเขียว เจ้าของแบรนด์ “Momento Coffee Roaster” ที่เริ่มคั่วกาแฟจากกระทะหลังหอ สู่เจ้าของโรงคั่วที่ขายได้ 1.5 ล้านบาทต่อเดือน

Tasty Toastys ขนมปังสุดน่ารัก ที่เริ่มต้นจาก NFT ก่อนมาปังในโลกจริง

Tasty Toastys แบรนด์ขนมปังคาแรกเตอร์น่ารักจากสิงคโปร์ ที่เริ่มต้นจากแรงบันดาลใจง่ายๆ แต่ลึกซึ้งจนกลายเป็นธุรกิจของสะสมและไลฟ์สไตล์ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก

JR Farm ปั้นไข่ผำแนวตั้งเจ้าแรกของไทย พลิกพืชพื้นบ้านสู่ซูเปอร์ฟู้ดหลักพันต่อกิโล  ด้วยสมาร์ทฟาร์มเต็มระบบ

ย้อนไป 5 ปีก่อน...วันที่คนอื่นมองว่าเขาบ้า เขากำลังสร้างระบบ วันที่ไม่มีใครเชื่อในผำ วันนี้ เขาคือผู้บุกเบิก “ไข่ผำแนวตั้งระบบปิด” รายแรกของไทย จากพืชน้ำที่หลายคนเคยขยะแขยง สู่ซูเปอร์ฟู้ดหลักพันต่อกิโล ส่งออกไปยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย