ส่องตลาดกาแฟ Standard ผ่านการโต 5 เท่าของ “กาแฟมวลชน”

Text : กองบรรณาธิการ  
Photo : กฤษฎา ศิลปไชย


     6 ปีก่อน “กาแฟมวลชน” ยังเป็นแค่ร้านเล็กๆ ใช้ประลองวิชาใน “โครงการอบรมกาแฟสร้างอาชีพ เพื่อสังคมและชุมชน” ของบริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด ธุรกิจใต้อาณาจักร ซี.พี.กรุ๊ป วันนี้ร้านเล็กๆ ที่ว่าขยับมามีกว่า 120 สาขา และยังคงขยายตัวไม่หยุดนิ่ง พร้อมแตก 2 แบรนด์ใหม่สยายปีกสู่ตลาดโลก 




     ดร.นริศ ธรรมเกื้อกูล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของกาแฟมวลชน เผยให้เราฟังว่า ปีก่อนหน้าและปีนี้ธุรกิจกาแฟของพวกเขายังคงเติบโตได้ถึง 5 เท่า! การเติบโตที่มากไปกว่าคำว่า “ก้าวกระโดด” ของกาแฟมวลชน มาจากการมีสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของตลาด สามารถนำเสนอเครื่องดื่มที่มีคุณภาพในราคาจับต้องได้ ตามที่มาของชื่อ “มวลชน” ซึ่งหวังตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม 


     “ในมุมพฤติกรรมผู้บริโภคมองว่า ตลาดกาแฟ Standard ที่ขายกันแก้วละ 30-35 บาท มีความน่าสนใจและยังเติบโตได้อีกมาก เพราะคนไทยส่วนใหญ่มีฐานะปานกลางถึงยากจน เป็นคนหาเช้ากินค่ำ เป็นพนักงานออฟฟิศ อย่างเราๆ ฉะนั้นการจะไปขายกาแฟแก้วละ 100 บาท ซึ่งแพงกว่าอาหารมันไม่สมเหตุสมผล มวลชนจึงโฟกัสตลาดนี้ ตลาดที่มีคนดื่มเยอะสุด เพื่อให้เขามีโอกาสได้ดื่มของดีมีคุณภาพในราคาที่จับต้องได้”
 




     “มวลชน” อาจเกิดจากความบังเอิญ แต่หมากรบของซีพี รีเทลลิงค์ นับจากนี้จะเป็นการเดินเกมตามแผนที่วางไว้ชัดเจนตั้งแต่ต้น เช่นเดียวกับการมาถึงของแบรนด์น้องใหม่ “จังเกิ้ล คาเฟ่”(Jungle Cafe’) และ “อาราบิเทีย คาเฟ่” (Arabitia Cafe’) ที่เพิ่งเปิดตัวไปในปีนี้ ซึ่งจะมีความพรีเมียมขึ้น โดยจับลูกค้ากลุ่ม B+ ขึ้นไป และนี่คือหัวหอกสำคัญที่พวกเขาจะไปปักธงธุรกิจกาแฟไทยในตลาดโลก เริ่มที่เอเชียเป็นด่านแรก

 
     โดยประเดิมด้วยการเปิดจังเกิ้ล คาเฟ่ สาขาแรกที่ สปป.ลาว และจะขยายเพิ่มอีกเป็น 3 สาขา ส่วนอาราบิเทีย คาเฟ่ เปิดแล้วที่กัมพูชา 2 สาขา และกำลังจะเพิ่มเป็น 3 สาขา และยังเปิดที่เมืองจีนอีก 3 สาขา ซึ่งภายใน 3 เดือนนี้ ผู้บริหารกระซิบบอกเราว่า เฉพาะประเทศจีนจะขยายไปได้อีกถึง 30 สาขา




 
     “เรานำแบรนด์อาราบิเทียไปเมืองจีนเพราะชื่อและโลโก้ดูพรีเมียม แต่ไม่ได้ขายแพงมาก มองว่าจีนไม่จำเป็นต้องเอาของแพงไปขาย เพราะคนจีนเขาฉลาดและมีหลายเซกเมนต์เหมือนบ้านเรา ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเจาะเซกเมนต์ไหน มองว่าถ้าเอาของแพงไปขายก็จะไปชนกับสตาร์บัคส์ ฉะนั้นเราไม่ชน แต่กลยุทธ์คือ ต้องขายให้เยอะ มองว่าถ้าปลายน้ำเราขายได้มาก กลางน้ำ และต้นน้ำจะตามมาเอง ซึ่งในอนาคตเราจะสามารถไปลงทุนโรงคั่ว เทรนนิ่ง และอื่นๆ ในเมืองจีนได้ ซึ่งจะทำให้เราสามารถทำกำไรได้และแข็งแกร่งทั้งห่วงโซ่” และการลงทุนตั้งแต่ต้นน้ำจนสุดปลายน้ำก็คือจุดแข็งสำคัญของผู้นำธุรกิจอย่างซี.พี

.
     นอกจากเมืองจีน อาราบิเทีย คาเฟ่ กำลังจะไปปักธงที่อินเดีย รวมถึงประเทศนอกสายตาอย่างบังกลาเทศ ซึ่งได้พาร์ตเนอร์แล้วเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทำให้ได้เปรียบเรื่องพื้นที่ ซึ่งกลยุทธ์บุกตลาดโลกของพวกเขาคือจะไม่ลุยเดี่ยว แต่เลือกจับมือกับคนพื้นที่ โดยเลือกคนที่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ มีที่เป็นของตัวเอง เพราะจะทำให้เปิดสาขาได้เร็วและต้นทุนต่ำ รวมถึงอาจเป็นเจ้าของร้านอาหาร ไม่ก็มีระบบขนส่งของตัวเอง เพื่อให้ง่ายต่อการขยายสาขา และการขนส่งสินค้าด้วย




     เฉพาะปีนี้เป้าขยายสาขาต่างประเทศของพวกเขาคือไม่ต่ำกว่า 100 สาขา ทั้งที่เป็นปีแรกที่บุกตลาดโลกด้วยซ้ำ
ในวันที่กาแฟไทยกำลังสยายปีกไปเป็นกาแฟโลก พวกเขาไม่ได้ต่อสู้ด้วยอาวุธแค่การนำเสนอของดีในราคาจับต้องได้ ทว่ายังไปพร้อมโมเดลร้านที่ต่างจากร้านกาแฟทั่วไป นั่นคือยกทัพไปทั้งเครื่องดื่ม ของหวาน และอาหาร พร้อมปรับรสชาติให้เหมาะกับประเทศนั้นๆ

 
     “เวลาไปประเทศไหนเราต้องปรับรสชาติให้เหมาะกับประเทศนั้น อย่างจีนก็ต้องปรับรสกาแฟให้อ่อนลงเพราะเขาไม่ดื่มเข้ม และยังติดดื่มชา เมนูในร้านก็ต้องมีชาด้วย แต่โชคดีที่คนจีนชอบดื่มชาไทยอยู่แล้ว จึงเอาชารสชาติไทยๆ ไปเสิร์ฟได้”




     ตลาดต่างประเทศยังขยับขยาย ขณะที่ในประเทศไทยเขาก็ย้ำว่ายังมีโอกาส โดยธุรกิจกาแฟไทยยังคงเติบโตเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 15-20 เปอร์เซ็นต์ วันนี้คนไทยยังบริโภคกาแฟแค่ 220 แก้วต่อคนต่อปี ขณะที่อเมริกาดื่มกาแฟสูงถึง 1,000 แก้วต่อคนต่อปี ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียบริโภคกาแฟสูงถึง 1,200 แก้วต่อคนต่อปี ฉะนั้นตลาดไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ขณะเดียวกันวันนี้ผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น แต่ผู้สูงวัยก็เริ่มหันมาดื่มกาแฟเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนคนวัยทำงานก็มาแทนที่ผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่บริโภคกาแฟเป็นหลักอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมาผู้บริหารกลุ่มซี.พี.เคยตั้งเป้าว่าจะขยายร้านกาแฟมวลชนประเทศไทยให้ได้ถึงพันสาขา ซึ่งนั่นไม่ได้ไกลเกินเอื้อมเลย



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน

SME ไทยจะอยู่รอดได้อย่างไรท่ามกลางสงครามการค้า

การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 125% โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้จุดชนวนสงครามการค้ารอบใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ดังนั้น SME ไทยจึงกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง ...แล้วเราจะอยู่รอดได้อย่างไร