​เจาะวิธีคิด Diamond Dust แก้เกมธุรกิจ จับตลาดน้ำแข็งพรีเมียม







     เพราะภาพจำในวัยเด็กของ ยศพล วัธนเวคิน โรงน้ำแข็งเป็นธุรกิจที่ไร้ความศิวิไลซ์ อีกทั้งยังเห็นพ่อต้องทำงานหนัก และไม่เป็นเวลา นั่นทำให้เขาและพี่น้องไม่เคยคิดฝันอยากเข้ามารับช่วงกิจการต่อจากพ่อเลยแม้แต่นิด แต่ใครจะคาดคิดเมื่อชีวิตพลิกผันให้เขาต้องเข้ามาดูแลโรงน้ำแข็งต่อจากพ่อ จากธุรกิจที่ไม่เคยอยู่ในสายตา เขากลับใช้เวลาเพียงแค่ปีเดียวพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมาเติบโตเพิ่มขึ้น 30% และยังต่อยอดสู่การเป็นธุรกิจน้ำแข็งแบรนด์พรีเมียม Diamond Dust  ซึ่งทำให้โรงน้ำแข็งของเขาลอยตัวขึ้นมาโดดเด่นอยู่บนตลาดพรีเมียม


     ยศพลเล่าว่าสมัยที่เขาเข้ามาดูแลกิจการโรงน้ำแข็งใหม่ๆ เป็นยุคที่โรงน้ำแข็งยังต้องพึ่งยี่ปั๊ว ซาปั๊วมารับซื้อน้ำแข็งไปขายส่งให้กับร้านค้า ซึ่งมีอิทธิพลต่อความอยู่รอดของโรงน้ำแข็งมาก ความอึดอัดต่ออิทธิพลเก่าที่เน้นแข่งขันกันที่ราคา เป็นแรงกดดันที่พลักดันให้ยศพลคิดยกระดับสินค้า และบริการของเขาให้มีความเป็นพรีเมียมมากขึ้น





     “เจ้าพ่อเจ้าแม่ที่เป็นยี่ปั๊ว ซาปั๊วเก่า พวกนี้ส่วนใหญ่โตมากับรถส่งน้ำแข็ง ผมเพิ่งมาใหม่จะไปสู้อะไรกับคนพวกนี้ได้ สิ่งที่ทำได้ ก็คือต้องยกระดับให้ขึ้นมาเล่นในตลาดพรีเมียม ซึ่งตลาดน้ำแข็งไม่เคยมีมาก่อน ช่วงนั้นพอดีเมกะบางนากำลังเปิดใหม่ ผมเอาความคิดตัวเองเข้าไปคุยกับผู้บริหาร บอกจะทำห้องเย็นไว้เป็นเซ็นเตอร์กลางห้าง แล้วพร้อมรับผิดชอบปัญหาทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นให้กับห้าง ไม่ว่าปัญหาน้ำหยด น้ำแข็งไม่สะอาด ราคาน้ำแข็งไม่ได้มาตรฐาน โกงน้ำหนักน้ำแข็ง ห้างไม่ต้องปวดหัวกับเรื่องพวกนี้ คอนเซปต์ผมโดนใจเขา จนเราได้ดิวนี้มาเป็นผู้รับผิดชอบส่งน้ำแข็งให้กับร้านค้าในเมกะบางนาทั้งหมด





     “ช่วงเริ่มต้นใหม่ๆ ผมยอมขายขาดทุน เพื่อที่จะเปลี่ยนภาพจำของคนว่ากระสอบใช้ใส่น้ำแข็งไม่ได้ มันสกปรก การบรรจุถุงต้องทำเป็นระบบปิดทั้งหมด ผู้บริโภคต้องเป็นคนแรกที่ได้จับน้ำแข็งนี้ แรกๆ ร้านค้าก็ยังเชื่อเรื่องราคา มีคำถามแบบเดิมๆ เช่น น้ำแข็งคุณกี่โล เจ้านั้นให้เท่านั้นเท่านี้กิโล คิดๆ แล้วไม่คุ้ม คนกินไม่เห็นหรอกว่ามันใส่ถุง หรือใส่กระสอบมา แต่ไม่ว่าจะโดนร้านค้าปฏิเสธมายังไง ผมก็ยังคงเชื่อในสิ่งที่ผมคิด สมัยนี้ลูกค้ายอมจ่ายเงินแพงขึ้นเพื่อซื้อน้ำขวดกิน แล้วทำไมถึงไม่กล้าจ่ายแพงเพื่อซื้อน้ำแข็งที่ถูกสุขอนามัยของผมกิน”





     การยกระดับน้ำแข็งขึ้นมาเป็นพรีเมียม และได้เป็นผู้จำหน่ายเพียงผู้เดียวในห้างใหญ่อย่างเมกะบางนา ได้ต่อยอดโอกาสใหม่ กระทั่งสามารถขยายแนวคิดน้ำแข็งพรีเมียมของยศพลออกสู่ตลาดกว้างครอบคลุมกรุงเทพฯ และปริมณฑล


     “พอทำได้สักพัก ผมก็เอาตัวเลขมาดู สังเกตว่าร้านกาแฟร้านหนึ่งใช้น้ำแข็งเท่ากับร้านอาหาร 7 ร้าน และเป็นช่วงจังหวะเดียวกับที่อเมซอนเข้ามาในเมกะบางนาพอดี เฉพาะสาขาในเมกะบางนา อเมซอนใช้น้ำแข็งเท่ากับร้านอาหาร 20 ร้าน เราก็เลยเข้าไปคุยกับผู้จัดการของอเมซอน ซึ่งเขาก็ยินดีกับคุณภาพน้ำแข็ง และการบริการของเรา ก็เลยตอบตกลงใช้น้ำแข็งของเราทุกสาขา คราวนี้ Diamond Dust เลยได้ทลายออกจากเมกะบางนากระจายไปทั่วตลาด เราได้ส่งไปตามสาขาต่างๆ ของอเมซอน ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล น้ำแข็งของเราแพงกว่าคนอื่น 5-10%  แต่ถ้าเทียบกับมูลค่าแบรนด์ของอเมซอน วันนี้หลายพันล้านแล้ว สำหรับเขาจ่ายค่าน้ำแข็งแพงขึ้นมาอีกหน่อยแลกกับความมั่นใจในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับแบรนด์ของเขา ผมว่ามันคุ้มนะ”
  

      
     
    ถึงวันนี้ แม้จะมีแบรนด์น้ำแข็งพรีเมียมเพิ่มขึ้นมาใหม่ แต่ยศพลก็ไม่รู้สึกกลัว ตรงกันข้าม เขากลับมองว่านี่คือบทพิสูจน์ถึงสิ่งที่เขาเชื่อ และทำให้เขามั่นใจยิ่งขึ้นที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าตามความเชื่อของตัวเอง ด้วยการยกระดับโรงน้ำแข็งของตัวเองให้ได้มาตรฐานระดับโลก อย่าง GMP HACCP  ซึ่งแม้จะมีคนทักเหมือนกันว่าสินค้าเป็นแค่น้ำแข็งจะทำมาตรฐานโลกไปทำไม แต่สำหรับเขาแล้ว Diamond Dust ไม่ใช่แค่น้ำแข็งที่ให้ความเย็น แต่คือความสะอาด ที่กินได้ดื่มได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเขาเชื่อว่าเทรนด์ทั่วโลกไปทางนี้ การก้าวไปก่อนคนอื่น นั่นหมายถึงโอกาส ซึ่งหากวันหน้าแบรนด์ข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอะไรก็ตามแต่ที่ต้องใช้น้ำแข็งเข้ามาในไทย Diamond Dust จะเป็นเพียงตัวเลือกเดียวที่แบรนด์ระดับโลกต้องเลือก



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​