​Back to the origin ฟื้นชีวิตฝ้ายไทยริมฝั่งโขงด้วยนวัตกรรม







     จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าริมฝั่งโขงแถบจังหวัดอุบลราชธานี คือ แหล่งปลูกฝ้ายชั้นดี ทว่าปัจจุบันอาณาจักรฝ้ายแห่งนี้กำลังถูกลดพื้นที่ลงเรื่อยๆ เพราะไม่มีตลาด เช่นเดียวกับภูมิปัญญาชาวบ้านในเรื่องการเข็นฝ้ายโดยใช้มือปั่นและรีดออกมาให้ได้เส้นใยธรรมชาติก็กำลังถูกลืมเลือนเช่นกัน และอาจจะหมดไปในวันหนึ่ง
               

     นิตยา โชติชัยชรินทร์ คือ ทายาทผู้รับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว บริษัท โกลเด้น คีริน จำกัด โรงงานผลิตผ้าสำหรับเด็ก เช่น ผ้าสาลู ผ้าขนหนู ผ้าห่อตัวเด็ก ภายใต้แบรนด์มิมิเบบี้ เธอคือหนึ่งคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอมาตลอดชีวิต และผูกพันกับโลกของฝ้ายไทย จึงถักทอธุรกิจผ้าพันคอแบรนด์ Back to the origin ขึ้น เพื่อหวังคืนชีวิตให้กับฝ้ายไทยริมฝั่งโขง
     
     
   

     “ริมแม่น้ำโขงมีแร่ธาตุธรรมชาติ เมื่อน้ำลดชาวบ้านจะมาปลูกฝ้ายโดยไม่ใช้สารเคมีเป็นฝ้ายออร์แกนิก 100 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นจึงเก็บมาปั่น รีดให้เป็นเส้นและทอด้วยมือ แต่ปัจจุบันพื้นที่ปลูกฝ้ายลดลงเพราะชาวบ้านหันไปปลูกอย่างอื่นที่ได้เงินเร็วกว่าแทน จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีรายได้และกลับมาปลูกฝ้ายอีกครั้ง เพื่อรักษาภูมิปัญญาของคนไทยไว้ แรกๆ ใช้วิธีรับซื้อผ้าของชาวบ้านมาขายแต่สุดท้ายมองว่าแค่นั้นไม่ยั่งยืนและเห็นผลช้า ครั้นจะลงไปสู้กับสินค้าโอท็อปก็ไม่ได้อีกเพราะเราเป็นผู้ประกอบการเอกชนธรรมดา จึงเปลี่ยนมาทำให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้นจากการย้อมผ้าสีธรรมชาติที่ถ่ายทอดมาจากผู้เฒ่าในท้องถิ่น แล้วโปรโมตออกไปให้คนรู้จักว่าที่ทุ่งนาเมือง โขงเจียม มีดีเรื่องฝ้ายและการย้อมผ้า ให้คนหันมารู้จักพวกเขามากขึ้น และรู้ว่าที่นี่เป็นแหล่งปลูกฝ้ายที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศเรา”
               




     ผลิตภัณฑ์ของ Back to the origin มาจากฝ้ายออร์แกนิกและใช้วิธีย้อมโดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติทั้งสิ้น เช่น สีชมพูได้มาจากเปลือกไม้ประดู่ สีเขียวจากใบหูกวาง และสีเทาจากใบบัวบก เป็นต้น
ด้วยแต้มต่อของการเป็นผู้ผลิตสิ่งทออยู่แล้ว เธอจึงได้รู้จักกับนวัตกรรมเส้นใยฟิลาเจน (Filagen Fiber) เส้นด้ายที่มีส่วนผสมของคอลลาเจนที่สกัดจากปลามิลค์ (Milk Fish) ซึ่งสามารถนำมาผลิตเป็นผ้าคอลลาเจนที่มีคุณสมบัติกักเก็บความชุ่มชื้น ป้องกันรังสียูวีได้ และสวมใส่สบาย จึงนำมาพัฒนาใช้กับธุรกิจและเนรมิตความแตกต่างให้กับ Back to the origin จากเดิมผ้าพันคอฝ้ายขายในราคา 390 บาท แต่ปัจจุบันสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมใหม่ผ้าพันคอคอลลาเจนขายได้ในราคา 1,200 บาท และยังขายดีขึ้นกว่าเดิมมากด้วย
               

     “เรานำนวัตกรรมผ้าคอลลาเจนจากไต้หวันเข้ามาได้ประมาณ 5 ปีแล้ว ก่อนจะมาถึงตรงนี้ก็ได้ร่วมพัฒนากับสถาบันสิ่งทอ เราเรียนรู้จากธุรกิจหลักว่าต้องปรับเปลี่ยนมาทำนวัตกรรมและผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น เพราะถ้ายังสู้ในตลาดล่างก็ต้องแข่งกับสินค้าจากจีนที่เข้ามาเยอะและเขาเก่งมาก วงการสิ่งทอชอบซื้อสินค้าจากจีนเพราะง่ายและถูก ผู้ประกอบการไทยจึงต้องปรับตัว ที่จริงแล้วสินค้าของไทยเราไม่แพ้ชาติอื่นถ้าเทียบกันเรื่องราคาและคุณภาพ สินค้าจีนความคงทนปลอดภัยยังด้อยกว่าของไทยเรามาก นี่คือจุดแข็งของเรา”



     

     นอกจากผ้าพันคอคอลลาเจน เธอมีแผนจะทำชุดเครื่องนอนสำหรับผู้สูงอายุ ที่ส่วนใหญ่จะใช้เวลานอนและอยู่กับเตียงมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยเรื่องรักษาความชุ่มชื้นให้ผิวแล้ว ยังช่วยป้องกันเชื้อโรคได้อีกด้วย
               

     “จุดหมายปลายทางเรามุ่งหวังว่าจะทำให้ทุ่งนาเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นที่รู้จักมากขึ้นเพื่อที่จะให้ชาวบ้านได้กลับไปพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง พัฒนาการท่องเที่ยวและเป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับฝ้าย สุดท้ายแล้วที่อยากได้คือ ทำให้มีโรงเรียนการเข็นฝ้ายเกิดขึ้นที่นี่ เพื่อให้เด็กในชุมชนมีรายได้และแก้ปัญหายาเสพติดไปได้ในคราวเดียวกัน” 
    

           

     ไม่เพียงแค่การพัฒนาชุมชนบ้านทุ่งนาเมืองเท่านั้น นิตยายังเปิดรับความร่วมมือกับวิสาหกิจอื่นๆ เพื่อนำนวัตกรรมสิ่งทอนี้ไปต่อยอดเพิ่มเติมในชุมชนต่างๆ เช่น จังหวัดตรัง ที่มีกระบวนการพิมพ์ลายผ้าด้วยการจุ่มเทียนแล้วนำไปย้อมคล้ายผ้าบาติก เป็นต้น


     “เราเกิดมากับสิ่งทอที่คุณพ่อทำมาตั้งแต่ต้น จึงอยากจะทำดีคืนกลับไปสู่ชุมชนด้วย จุดเริ่มต้นของแบรนด์ไม่ได้เกิดมาจากธุรกิจเพราะธุรกิจหลักของเราคือ สินค้าเด็กซึ่งทำเงินได้เยอะอยู่แล้ว งานนี้เป็นส่วนหนึ่งที่อยากทำเพื่อสังคมแล้วมันก็โตเกินคาด ที่ผ่านมาเราไม่ได้คาดหวังอะไรเพราะถูกสอนมาว่าการทำความดีไม่ต้องเร่ง แค่ทำไปเรื่อยๆ ก็จะถึงจุดหมายเอง”






www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​