โลกถูกใจสิ่งนี้! ไอเดียเปลี่ยนขวดน้ำพลาสติกเป็นผ้าห่อของแบบญี่ปุ่น ใช้จนเบื่อยังรีไซเคิลต่อได้

Text: Neung Cch.





Main Idea
 
  • ต้องใช้เวลาถึงกว่า 400 ปี ในการย่อยสลายถุงพลาสติก การรณรงค์ให้คนหันมาใช้ถุงผ้าเพื่อร่วมลดโลกร้อนจึงได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา
 
  • ทว่าแม้จะแก้ปัญหาได้ดีขึ้นแต่ก็ยังไม่ถึงที่สุด เมื่อพบว่าต้องใช้ถุงผ้าฝ้ายจำนวน 7,000 ครั้งถึงจะคุ้มกับการใช้ทรัพยากรในการปลูกฝ้ายจนผลิตมาเป็นถุง
 
  • สาวครีเอทีฟจึงได้ต่อยอดออกแบบผ้าห่อของสไตล์ญี่ปุ่น Furoshiki  ที่ทำมาจากขวดน้ำพลาสติกเหลือทิ้ง พกง่ายกว่าถุงฝ้าย ใช้ได้หลากหลาย ที่สำคัญยังไม่ทำลายโลกอีกด้วย


     นับวันอุณหภูมิโลกยิ่งสูงขึ้น ประเทศคูเวตเผชิญวันที่ร้อนที่สุดในโลกขณะอยู่ในที่ร่มอุณหภูมิแตะที่ 52.2 องศาเซลเซียส แต่หากยืนกลางแดดจะรู้สึกร้อนเหมือน 63 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ยิ่งกว่านั้นมีรายงานใหม่จาก Breakthrough National Centre for Climate Restoration ออสเตรเลีย ระบุว่า มีโอกาสสูงมากที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะนำมาซึ่งจุดจบของอารยธรรมมนุษย์ภายใน 30 ปีข้างหน้า หากอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังดำเนินต่อไปเช่นนี้





     ยิ่งได้อ่านข่าวได้ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทำให้ สิริวรรณ ชิวารักษ์ อดีต Art Director ของบริษัทโฆษณาที่มีโอกาสได้คลุกคลีและรับผิดชอบทำงานในโปรเจ็กต์ CSR ให้กับองค์กรลูกค้า ทำให้เธอรู้สึกถึงปัญหาโลกร้อนว่าเป็นเรื่องที่สำคัญและได้ซึมซับเข้าไปในวิถีชีวิตประจำวันของเธอ


     “เรากลายเป็นคนที่แยกขยะก่อนทิ้ง ส่วนตัวก็พกถุงผ้า แต่บางครั้งซื้อผักที่มีพลาสติกห่อไว้ก็จะนำเอามาล้างตาก จนตอนนี้เก็บไว้เต็มห้องประมาณ 6 กิโลกรัม พยายามผลักดันให้ทางคอนโดมิเนียมเป็นที่รับถุงพลาสติกพวกนี้” เธอเล่า


     จากงานหลักที่ปลุกจิตสำนึกให้สาวครีเอทีฟตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมส่งผลไปถึงงานอดิเรกที่เธออยากออกแบบสินค้าแฟชั่นจึงได้ตั้งคอนเซปต์ไว้ว่าต้องใช้วัสดุที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมในการผลิต ทำให้ได้กระเป๋ากระดาษคราฟต์ แบรนด์ ARTWORK ขึ้นในปี พ.ศ. 2555 ผลงานชิ้นนี้ยังได้รับรางวัล Demark หรือ Design Excellence Award ของไทยและรางวัล G Mark จากประเทศญี่ปุ่นในปี 2556 อีกด้วย





     จุดเริ่มต้นของนักออกแบบทำท่าจะไปได้สวย แต่ด้วยภาระงานประจำที่รัดตัวทำให้เธอต้องเว้นวรรคไปช่วงหนึ่ง จนเมื่อตัดสินใจมาเป็นฟรีแลนซ์จึงได้กลับมาจริงจังกับการพัฒนากระเป๋าของตัวเองอีกครั้ง พร้อมกับคงคอนเซปต์เลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กระเป๋าที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลอย่างขวดน้ำดื่มพลาสติกแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงถูกผลิตขึ้นด้วยความพิเศษของกระเป๋าใบนี้เมื่อใช้งานไปนานๆ สามารถนำกระเป๋ากลับมารีไซเคิลใหม่ให้เป็นเส้นใยจากขวดน้ำพลาสติกผืนใหม่ได้เช่นเดียวกัน เรียกได้ว่าเป็นกระเป๋าที่รักษ์โลก ทำให้ผลงานไปเข้าตากรรมการและได้รับในรางวัล DEmark Award อีกครั้งในปี 2561 รวมทั้งรางวัลชนะเลิศ Thailand Green Design Awards:TGDA ในด้านการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ปี 2562
               

     ถึงผลงานจะถูกใจกรรมการแต่อาจไม่โดนใจผู้บริโภคเนื่องจากกระบวนการเย็บกระเป๋าจากเส้นใยขวดพลาสติก ทำได้ยากเพราะมันจะลื่นและยืดหยุ่นกว่าการเย็บจากผ้า ส่งผลให้ราคาของกระเป๋าค่อนข้างสูง เมื่อราคาสูงทำให้เข้าถึงกลุ่มคนจำนวนน้อย อาจไม่ใช่เป้าหมายของแบรนด์ Artwork ที่ต้องการจะมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม เธอจึงนำบทเรียนที่ได้มาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ล่าสุด คือการทำผ้าที่ทำจากขวดพลาสติกรีไซเคิลเพื่อใช้ห่อของที่ญี่ปุ่นเรียกว่า Furoshiki ทดแทนการใช้ถุงพลาสติกหรือถุงผ้าฝ้าย


     ทั้งนี้แม้ปัจจุบันองค์กรต่างๆ มีการผลิตถุงผ้าออกมาแจกจ่ายให้ประชาชน แต่สิริวรรณย้ำว่า ต้องใช้ถุงผ้าฝ้ายถึง 7,000 ครั้งจึงจะคุ้มกับการใช้ทรัพยากรทั้งน้ำ ยาฆ่าแมลง ฯลฯ ในการปลูกฝ้ายจนกลายมาเป็นถุง ส่วนการผลิตผ้าจากเส้นใยขวดพลาสติกใช้พลังงานน้อยกว่าการผลิตถุงผ้าทั่วไป และน้อยกว่าหลายเท่าเมื่อเทียบกับถุงผ้าฝ้าย และดีกว่าถุงผ้าสปันบอนด์ที่ผลิตด้วยเม็ดพลาสติกใหม่ เป็นการช่วยกันลดขยะขวดพลาสติก รวมถึงปัญหากระดาษจากการห่อของขวัญได้อีกด้วย





     “ด้วยข้อจำกัดด้านขนาดทำให้ถุงผ้าใส่ของได้จำกัด แต่ถ้าเราออกแบบให้เป็นผืนผ้าสี่เหลี่ยมจัตุรัส นำมาผูกหรือห่อของที่ญี่ปุ่นเรียกว่า Furoshiki มันก็จะปรับการใช้งานได้หลายรูปแบบ ด้วยขนาดผ้าหนักเพียง 60 กรัม สามารถพกง่าย ใช้คลุมกันหนาว หรือนำไปแต่งห้อง ทำเป็นผ้าปูโต๊ะก็ได้ ผ้ามีคุณสมบัติสะท้อนน้ำด้วยมันก็เลอะยาก ครั้งนี้เราได้นำบทเรียนครั้งก่อนมาปรับทั้งเรื่องกระบวนการเย็บทำให้ง่ายขึ้นเพื่อให้ราคาไม่สูงเกินไป สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น”


     นอกจากช่องทางออนไลน์แล้วเจ้าของแบรนด์ ARTWORK ยังได้ทำการตลาดโดยติดต่อกับออร์แกไนเซอร์เพื่อนำผ้าไปแจกเป็นของชำร่วย นอกจากนี้เธอยังได้มีโอกาสร่วมมือกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และมูลนิธิ ECOALF ประเทศสเปน ในโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand ที่จะคืนชีวิตพลาสติกที่ถูกทิ้งแล้วให้กลายเป็นกระเป๋าคาดอกแนวสตรีทแฟชั่น




     “อยากให้ ARTWORK เป็นแบรนด์แฟชั่นที่กลืนกับชีวิตประจำวันคน อยากให้คนเลิกใช้ถุงพลาสติกแล้วมาใช้ของเราแทน เพื่อช่วยกันทำให้โลกเราน่าอยู่ขึ้น”
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน