“ตราไก่” ไม่ไก่กา ชามเซรามิกที่มีดีตั้งแต่ Story จนถึงสินค้าไลฟ์สไตล์ที่คนยุคนี้กดไลค์

Text : nimsri





Main Idea
 
  • ลำปาง จังหวัดที่ได้ชื่อว่ามีการผลิตเครื่องเซรามิกขึ้นชื่อของเมืองไทย หนึ่งในนั้น คือ “ชามตราไก่” เครื่องเซรามิกที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน
 
  • ไม่ใช่เพียงลักษณะรูปร่าง ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ แต่ยังแฝงไว้ด้วยประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ และเป็นจุดเริ่มต้นที่มาของธุรกิจและงานศิลปะที่น่าสนใจอีกหลายอย่างด้วยกัน



               
     เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมชามเซรามิกสีขาวใบย่อมๆ จากจังหวัดลำปางถึงต้องเป็นรูปไก่? จนกลายเป็นคำเรียกกันติดคุ้นหูว่า “ชามไก่” หรือ “ชามตราไก่” เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดที่ใครผ่านไปมาก็ต้องจดจำได้
               




     ไม่ใช่แต่เพียงเอกลักษณ์โดดเด่นไม่ซ้ำใครเท่านั้น เรื่องราวความเป็นมาของชามตราไก่ดังกล่าว ยังมีอะไรสนุกๆ ให้น่าค้นหา และน่าสนใจอีกด้วย
               

     เริ่มกันที่ประวัติความเป็นก่อน เล่าสืบต่อกันมาว่าการผลิตชามตราไก่ในจังหวัดลำปางนั้นเริ่มต้นอย่างจริงจังขึ้นเมื่อปี 2500 โดยชาวจีน 2 คนที่อพยพหนีสงครามมา คือ นายซิวกิม แซ่กว็อก และนายซิมหยู แซ่ฉิน ชาวจีนแคะ จากตำบลกอปี อำเภอไท้ปู มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นวิชาความรู้ที่ได้นำติดตัวมาตั้งแต่อาศัยอยู่ที่เมืองจีน เมื่อได้มีโอกาสย้ายมาอยู่ที่จังหวัดลำปาง ได้เห็นว่ามีแหล่งวัตถุดิบดินสีขาวที่อำเภอแจ้ห่ม ลักษณะคล้ายดินขาวที่เคยทำตอนอยู่เมืองจีน จึงได้ทดลองนำมาผลิตถ้วยชาม และก่อตั้งโรงงานแห่งแรกขึ้นมาในชื่อ “โรงงานร่วมสามัคคี”
               




     โดยการผลิตชามตราไก่ในยุคแรกนั้น ไม่ได้มีลวดลายอย่างที่เราเห็นเป็นเพียงชามสีขาวธรรมดา แต่เพื่อสร้างจุดขายดึงดูดลูกค้า จึงมีการวาดลวดลายเพิ่มเติมเข้าไป ซึ่งบังเอิญจังหวัดลำปางมีสัญลักษณ์เป็นรูปไก่ อย่างชื่อในตำนานพื้นเมืองบางฉบับก็เรียกลำปางว่า “กุกกุฎนคร” แปลว่า เมืองไก่ จนกลายเป็นที่มาของชามตราไก่นั่นเอง
               

     ซึ่งในยุคแรกเป็นการเผาแบบครั้งเดียว ชามตราไก่ที่ได้ในช่วงนี้ ตัวไก่ที่ได้ออกมาจึงเป็นสีเขียว หางน้ำเงิน ดอกไม้ชมพู ภายหลังเมื่อมีการผลิตชามแบบญี่ปุ่นเข้ามาแทนที่ชามตราไก่ก็เริ่มลดความนิยมลง อีกทั้งสีที่ใช้วาดมีราคาแพง ลายไก่ในยุคหลังที่วาดจึงเปลี่ยนมาเป็นตัวสีชมพู หางน้ำเงิน แซมใบไม้เขียวเข้มแทน
               

     นอกจากลวดลาย ซึ่งมีที่มาเป็นเอกลักษณ์แล้ว รูปร่างลักษณะของชามตราไก่เอง ก็มีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจเช่นกัน โดยรูปทรงของชามตราไก่ดังกล่าวในภาษาจีนแต้จิ๋วนั้นเรียกว่า “โกยอั้ว” เป็นชามที่ออกแบบมาให้ถือได้พอดีมือ เหมาะสำหรับการใช้ตะเกียบพุ้ยข้าวขึ้นมารับประทาน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวจีนที่เรามักเห็นในหนังหรือละครย้อนยุคทั่วไป โดยในยุคแรกชามจะมีลักษณะรูปทรงแปดเหลี่ยมเกือบกลม ปากบาน ด้านนอกมีรอยยุบเล็กน้อยเพื่อให้จับได้ถนัดมือนั่นเอง ภายหลังได้เปลี่ยนจากการผลิตมือที่ใช้บล็อกพิมพ์มาเป็นเครื่องจักรเข้ามาช่วยผลิต จึงมีรูปกลมไม่เหลี่ยม กลายเป็นรูปแบบชามตราไก่อย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้





     โดยปัจจุบันธุรกิจที่มีการนำเอกลักษณ์ของชามตราไก่มาสร้างเป็นธุรกิจโด่งดัง และสานต่อเรื่องราวของชามตราไก่สืบไปก็คือ “ธนบดีเซรามิก” ลูกหลานของซิมหยู แซ่ฉิน ผู้ให้กำเนิดชามตราไก่ในจังหวัดลำปางนั่นเอง ซึ่งนอกจากเป็นเครื่องใช้ธรรมดาในครัวเรือน ยังกลายเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ใช้ตกแต่งบ้านไปพร้อมๆ กันด้วย
               

     นอกจากในพื้นที่จังหวัดลำปางแล้ว ความจริงจุดเริ่มต้นผลิตชามตราไก่ในเมืองไทย ยังมาจากพื้นที่อื่นด้วย เช่นย่านฝั่งธนบุรี แถววงเวียนใหญ่ และในพื้นที่ปริมณฑลจังหวัดสมุทรสาครเองก็มีการผลิตชามตราไก่เช่นกันที่โรงงานเสถียรภาพ อำเภออ้อมน้อย ในภายหลังประสบปัญหาเศรษฐกิจจึงได้ปิดตัวลง จากนั้นพนักงานเก่าแก่ ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญดีอยู่แล้วจึงได้รวมตัวกัน และเปลี่ยนจากวาดลวดลายไก่มาเขียนเป็นถ้วยชามลายครามและเครื่องเบญจรงค์ กลายเป็นที่มาของหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี จังหวัดสมุทรสาคร ที่เรารู้จักกันดีในทุกวันนี้
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​