Pay it forward โมเดลธุรกิจสุดน่ารัก ที่อยากชวนคนมาส่งต่อความอิ่มให้กัน

TEXT : ยุวดี ศรีภุมมา





Main Idea
 
 
  • ในช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้ เราได้เห็นหลายคนออกมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งโต๊ะแจกอาหาร การบริจาคเงิน แต่มีอีกหนึ่งโมเดลที่น่าสนใจนั่นคือ Pay it forward
 
  • โดย Pay it forwrad เป็นโมเดลน่ารักๆ ที่อยากชวนคนมาส่งต่อความอิ่มและความสุข ต่างประเทศจะมีโมเดลแบบนี้ในร้านกาแฟที่ลูกค้าสามารถจ่ายเงินซื้อกาแฟล่วงหน้าให้คนยากไร้ได้ เช่น ร้านกาแฟ Cafe on the cop ในประเทศอังกฤษ 




       ย้อนกลับไปในสมัยก่อน มีภาพยนตร์น้ำดีชื่อ Pay it forward เป็นเรื่องราวของเด็กชายที่คิดทฤษฎีดังกล่าวขึ้นเพื่ออยากสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคม เขาส่งต่อความสุขให้ผู้อื่นด้วยหลักคิดง่ายๆ นั่นคือการช่วยเหลือใครบางคนในสิ่งที่เขาไม่สามารถทำด้วยตัวเองได้ แล้วคนที่ได้รับก็ส่งต่อความสุขออกไปเรื่อยๆ นี่แหละคือการ Pay it forward
               

     ซึ่งในโลกแห่งความจริง  Pay it forward ได้ถูกนำมาใช้เพื่อแบ่งกันความสุขในสังคม อย่างเช่น สิ่งที่เรียกว่าSuspended Coffee หรือ Caffè Sospeso ของชาวอิตาเลียนที่แปลว่าซื้อเอาไว้ก่อน ต่างประเทศจะมีโมเดลดังกล่าวในร้านกาแฟที่ลูกค้าสามารถจ่ายเงินซื้อกาแฟล่วงหน้าให้คนยากไร้ได้ เช่น ร้านกาแฟ Cafe on the cop ในประเทศอังกฤษก็มีการนำโมเดลนี้ไปใช้ โดยเปิดให้ลูกค้าที่มีกำลังซื้อและอยากแบ่งปันความสุขให้แก่ผู้อื่นสามารถจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นค่ากาแฟ แล้วติดคูปองเอาไว้บนกระดาน หากใครที่อยากดื่มกาแฟแต่ไม่มีกำลังซื้อก็สามารถดึงคูปองนี้แล้วมารับกาแฟได้เลยโดยไม่ต้องจ่ายเงิน

               



     โมเดล Pay it forward นี้กลายเป็นโมเดลธุรกิจที่น่ารักและเหมาะกับช่วงเวลาวิกฤตอย่างในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะคนที่กำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก ตกงาน โดนลดเงินเดือน บางครั้งการขอรับบริจาคก็เป็นเรื่องน่าหนักใจเกินไป แต่การได้กินอิ่มท้อง ได้ดื่มกาแฟ ได้กินขนมปังอุ่นๆ สักก้อน อาจเป็นความสุขที่มากกว่า
               

     ในประเทศไทยก็มีการทำขึ้นมาเป็นโครงการต่างๆ หรือแม้แต่ร้านอาหารเองที่หยิบเอา Pay it forward มาเป็นหัวใจในการดำเนินธุรกิจ เช่น โครงการปันกันอิ่ม เริ่มต้นขึ้นโดยเครือข่ายพุทธิกา ความคิดดังกล่าวมาจากคนที่อยากจะแบ่งปันหรือคนที่อยากทำบุญ ซึ่งร้านอาหารต่างๆ ก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแบ่งปันได้





      โดยทางร้านอาหารจะมีหน้าที่เป็นผู้รับฝากอาหารและลูกค้าที่มาใช้บริการที่ต้องการแบ่งปันก็จ่ายเงินล่วงหน้าให้ผู้อื่น จากนั้นเมื่อผู้รับ กินอิ่ม ก็เขียนคำขอบคุณใส่ลงไปในกระดาษแปะเอาไว้ที่ร้าน ผู้ให้ก็อิ่มใจ ผู้รับก็อิ่มท้อง ร้านอาหารต่างๆ ที่สนใจเข้าร่วม อาทิ ข้าวมันไก่ตอน แม่สำเนียง ในย่านพระราม 2, ร้าน 999 กาแฟโบราณ, ร้าน Coffee jar, ร้าน ปัง ปัน บุญ เป็นต้น
               

     และล่าสุดที่จังหวัดระยองก็มีการเริ่มต้นแคมเปญแบ่งปันความอิ่ม – Pay it forward Thailand เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ให้ทั้งตัวกลางอย่างร้านอาหาร คนที่อยากให้และคนที่ขาดรายได้มาเจอกัน กลายเป็นแคมเปญดังกล่าวขึ้น โดยผู้ที่ริเริ่มคือ “วีรพงศ์ สุวรรณกรสกุล” คุณหมอที่จังหวัดระยองและมีร้านอาหาร ร้านกาแฟต่างๆ ทยอยเข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ร้านข้าวแกงแสนตุ้ง ปากซอยเรือนจำเก่า, ร้านน้ำเต้าหู้ ตลาดหมอสาโรจน์, ร้านเป็ดย่างจิวแปะธง, ร้านโจ้กนายจั๊ว เป็นต้น
               




     สำหรับร้านอาหารที่หยิบโมเดลดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ นั่นคือร้าน Ramenga ราเมงอะ ที่เสิร์ฟราเมงคุณภาพดี ราคาเข้าถึงง่าย เจ้าของร้านได้สร้างโครงการปั่นอิ่ม ที่เปิดโอกาสให้คนที่อยากกินราเมงแต่มีกำลังทรัพย์ไม่พอสามารถหยิบป้ายรูปชามราเมงที่ติดอยู่บนกระดานมาแลกรับราเมงได้ฟรีหรือร้าน Coffee tree ในย่านนนทบุรีก็ได้มีการทำ Pay it forward ในช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้เช่นเดียวกัน โดยคุณสามารถฉีกคูปองที่ติดอยู่หน้าร้านแล้วไปแลกรับอาหารและเครื่องดื่มได้ฟรี 1 ชุด




               
     ข้อดีของการทำ Pay it forward สำหรับธุรกิจต่างๆ ในช่วงเวลายากลำบากเช่นนี้นั่นคือการได้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งต่อสิ่งดีๆ ให้แก่สังคม ลูกค้าเองที่มีกำลังทรัพย์มากพอและอยากหาช่องทางในการแบ่งปัน เขาก็จะคิดถึงคุณเป็นอันดับแรก เพราะผู้บริโภคยุคใหม่ ไม่ได้เลือกร้านที่อร่อย ดูดี ถ่ายรูปสวยเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขาเลือกร้านที่จะช่วยเติมเต็มทางด้านจิตใจได้ด้วย
 
               

     เพียงแค่การแบ่งปันเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่เราสามารถทำได้ก็ช่วยส่งต่อความสุขให้ผู้อื่นและสร้างสังคมที่น่าอยู่ไปด้วยกันได้แล้ว  SME ที่สนใจก็สามารถนำแนวคิดดีๆ แบบนี้ไปทำให้ธุรกิจของตนเอง “น่ารัก” ขึ้นได้นะ
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน