เกาะเทรนด์ ‘นวัตกรรม’ ที่จะเข้ามามีอิทธิพลกับโลกธุรกิจในปี 2021

TEXT  : รุจรดา วัฒนาโกศัย





Main Idea

 
 
  • “นวัตกรรม” นับว่าเป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะปีนี้ที่โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจเกิดภาวะชะงักงัน ทำให้คนทำธุรกิจต่างต้องการความเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะปูทางธุรกิจให้เดินต่อในอนาคต
 
  • ก่อนที่จะลงมือลงแรงสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ นี่คือเทรนด์นวัตกรรมขับเคลื่อนโลกธุรกิจในปี 2021 ที่ผู้ประกอบการต้องรู้และจับตา
 


 
     ในตอนนี้นวัตกรรมนับว่าเป็นส่วนสำคัญในการทำธุรกิจ ทั้งในแง่การนำเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ หรือขยายขอบเขตการทำงานให้มากกว่าที่เคยเป็น โดยเฉพาะปีนี้ผลกระทบจากโรคระบาดทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน สถานการณ์ดังกล่าวทำให้คนทำธุรกิจต่างต้องการความเปลี่ยนแปลง และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ นี่ล่ะที่จะปูทางให้ธุรกิจเดินต่อไปได้นับจากนี้
               

     แต่ก่อนที่จะลงมือลงแรง คงจะดีกว่าถ้ารู้แนวโน้มของนวัตกรรมในปัจจุบันว่ากำลังขับเคลื่อนไปในทิศทางไหน และนี่คือเทรนด์นวัตกรรมที่จะขับเคลื่อนโลกธุรกิจในปี 2021จะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย!



 
 
  • นวัตกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภค
   
     จากการวิจัยของ American Express เผยว่า ผู้บริโภค 1 ใน 3 พร้อมเปลี่ยนใจจากแบรนด์ทันทีหากได้รับประสบการณ์แย่ๆ เพียงครั้งเดียว ดังนั้น แบรนด์จึงต้องทุ่มเทความสนใจและใช้ทรัพยากรเพื่อสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งไม่ใช่แค่สิ่งเห็น ได้ยินตรงหน้าตอนนี้เท่านั้น แต่ยังต้องมองข้ามช็อตว่าอะไรคือสิ่งที่จะ “เปลี่ยน” ความต้องการนั้นได้ ทัศนคติแบบนี้จะพาธุรกิจเข้าใกล้ผู้บริโภคได้อีกขั้น และสามารถเสนอสินค้าหรือบริการที่จะทำให้ลูกค้าไม่เปลี่ยนใจไปจากแบรนด์



 
 
  • นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน


      จากการสำรวจของ Futerra พบว่าผู้บริโภคกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกว่าพฤติกรรมของตัวเองอย่างการรีไซเคิลหรือการใช้จ่ายอย่างมีจริยธรรมจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ได้ พวกเขาจึงต้องการให้ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีคุณธรรม ซึ่งจะทำให้ลูกค้าเหล่านั้นเต็มใจจ่าย           


   แบรนด์ต่างๆ มีแนวทางการสร้างความยั่งยืนที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่าง เบอเกอร์คิง ที่พัฒนา Impossible Whopper เบอร์เกอร์ที่ทำจากพืชล้วนๆ ไม่มีเนื้อสัตว์หรือการทดลองนำตะไคร้มาเป็นอาหารวัว โดยคาดว่า จะสามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกได้เฉลี่ย 33 เปอร์เซ็นต์ต่อวัน เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่กิจกรรมหลักของธุรกิจ พวกเขาไม่จำเป็นต้องทำด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้บริโภคเห็นจุดยืนของแบรนด์และสามารถขยายฐานลูกค้าได้



 
 
  • นวัตกรรมที่ให้ความสำคัญกับ EQ


     นวัตกรรมไม่ได้หมายถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่เท่านั้น แต่อาจหมายถึงการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ นโยบายใหม่ สภาพแวดล้อมการทำงาน หรือกระทั่งการประกลยุทธ์การคัดสรรบุคลากรเข้าทำงาน


     Andrew Deen ที่ปรึกษาธุรกิจสตาร์ทอัพกล่าวว่า ผู้ประกอบการที่มี EQ สูง จะเก่งในเรื่อง “เอาตัวเองไปใส่รองเท้าของคนอื่น” หมายความว่าสามารถทำความเข้าใจคนอื่น และมองเห็นความท้าทายจากมุมที่แตกต่างทำให้สร้างสิ่งที่ยอดเยี่ยมออกมาได้



 
 
  • นวัตกรรมรับผิดชอบต่อสังคม


     ผู้บริโภคเบื่อหน่ายกับบริษัทที่ประกาศตัวว่า มีความรับผิดชอบต่อสังคมแต่ไม่ลงเงินกับเรื่องเหล่านี้เลย ยกตัวอย่างประเด็นการประท้วงต้าน Black Lives Matter กลางเมืองลอนดอนในช่วงกลางปีนี้ มีหลายร้อยบริษัทที่โพสต์อินสตาแกรมสนับสนุนแนวคิดนี้ แต่กลับมีเพียงไม่กี่บริษัทที่ปฏิบัติจริง หนึ่งในนั้นคือ Apple ที่ประกาศใช้งบประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐสนับสนุนผู้คนจากกลุ่มที่มีความหลากหลาย มุ่งเน้นไปที่ประเด็นความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและการปฏิรูปกระบวนการทางยุติธรรม รวมถึงเพิ่มงบประมาณในห่วงโซ่อุปทานกับพันธมิตรธุรกิจหรือตัวแทนจัดจำหน่ายที่เป็นคนผิวดำ


     ธุรกิจที่จะอยู่รอดได้ในอนาคตจึงต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงไม่ใช่แค่ลมปาก



 
 
  • นวัตกรรมการใช้ชีวิตเสมือนจริง


     ก่อนโควิด-19 ระบาด ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตใช้เวลาโดยเฉลี่ย 7 ชั่วโมงต่อวันบนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ใช้เพื่อผ่อนคลายตัวเอง สร้างความเพลิดเพลิน แต่เมื่ออินเตอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตด้านอื่นๆ ผู้คนจึงเริ่มมองหาวิธีใหม่ๆ ในการจำลองประสบการณ์ของตัวเองผ่านทางออนไลน์ เราได้เห็นคอนเสิร์ตเสมือนจริง ได้เห็นการประชุมและสัมมนาออนไลน์ ซึ่งได้กลายเป็นรูปแบบใหม่ของการใช้ชีวิตแม้จะผ่านพ้นโควิด-19 ไปแล้ว
 

     โลกธุรกิจกำลังเปลี่ยนไปทุกขณะ ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวรับมือให้ทัน ใช้นวัตกรรมมาตอบสนองตลาดให้ตรงจุดในเวลาที่พวกเขาต้องการด้วย

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน