เทรนด์ควบรวมกิจการ กลับมาโตหลังโควิด ธุรกิจไหนเนื้อหอมสุด?




 Main Idea
 
  • การควบรวมกิจการ หรือที่เรียกกันว่า M&A (Mergers & Acquisitions) คือ การซื้อหุ้น สินทรัพย์ หรืออื่นๆ เพื่อให้ได้อำนาจควบคุม ครอบครองกิจการ ซึ่งปัจจุบันหลายบริษัททั่วโลกเดินหน้าขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านการควบรวมกิจการกันมากขึ้น M&A ทวีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง
 
  • M&A มีแนวโน้มกลับมาเติบโตหลังโควิด -19 คลี่คลาย โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีและธุรกิจการแพทย์ที่สอดรับกับเทรนด์ธุรกิจใหม่ (New Normal) โดยขณะนี้หลายบริษัทอยู่ระหว่างชะลอการลงทุนเพื่อปรับกลยุทธ์ M&A ให้สอดรับกับภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป รวมถึงมองหาบริษัทใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในระยะยาว
 
  • M&A เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่บริษัทไทยใช้ขยายการลงทุนในต่างประเทศ สอดรับกับแนวโน้มการออกไปแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในต่างประเทศ แก้ปัญหาข้อจำกัดการขยายธุรกิจภายในประเทศได้อีกด้วย
 

 

     ในโลกของการทำธุรกิจ มีเครื่องมือในการขยายธุรกิจที่เรียกการควบรวมกิจการ (Mergers & Acquisitions :M&A)  คือ การซื้อหุ้น สินทรัพย์ หรืออื่นๆ เพื่อให้ได้อำนาจควบคุม/ครอบครองกิจการนั้นๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางที่ช่วยให้สามารถต่อยอดธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มูลค่า M&A ของโลก ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และทวีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้น





     สะท้อนจากสัดส่วนมูลค่าธุรกรรม M&A ต่อ GDP โลกเพิ่มขึ้นเป็น 4.1 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปี 2558-2562 จาก 2.8 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปี 2553-2557 อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 มูลค่าธุรกรรม M&A ชะลอลงอย่างมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้หลายบริษัทชะลอการลงทุนและรอดูทิศทางของธุรกิจหลังสถานการณ์คลี่คลาย ทั้งนี้ ภาพรวม M&A ของโลกทั้งในมิติของภูมิภาคและอุตสาหกรรม แนวโน้ม M&A ในระยะถัดไป ตลอดจนทิศทาง M&A ของไทยที่กำลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
 
  • การควบรวมกิจการระหว่างประเทศ เผชิญความท้าทาย

     การควบรวมกิจการหรือ M&A ของโลก สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ M&A ภายในประเทศ มีสัดส่วนราว 70 เปอร์เซ็นต์  และ M&A ระหว่างประเทศ (Cross Border M&A) มีสัดส่วนราว 30 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นสัญญาณที่ Cross Border M&A ชะลอตัวลง ล่าสุดในปี 2562 มีสัดส่วนเหลือ 26 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี สาเหตุสำคัญมาจากความไม่แน่นอนของปัจจัยแวดล้อมในการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น สงครามการค้า การแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจาก EU (BREXIT) ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ นโยบายปกป้องการค้าภายในประเทศ (Protectionism) เป็นต้น
        


      
 
  • ประเทศพัฒนาแล้วคือตลาดหลักของโลก

     มูลค่าธุรกรรม M&A เพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรปที่มีสัดส่วนรวมกันเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่า M&A โลก โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจใน 2 ภูมิภาคนี้ชะลอตัวอย่างมาก จึงเป็นโอกาสให้บริษัทต่างๆ ทั่วโลก ทยอยเข้าไปทำธุรกรรม M&A เป็นจำนวนมาก ทำให้เห็นภาพที่มูลค่า M&A ใน 2 ภูมิภาคนี้โตสวนทางกับทิศทางเศรษฐกิจ
 
  • ธุรกิจไหนเนื้อหอมสุดในตลาด M&A

     ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มการเงิน อาหาร/เกษตร และเทคโนโลยี/สื่อสาร การผลิต และพลังงาน เป็น 5 กลุ่มธุรกิจที่ได้รับความนิยมสูงสุดสำหรับการทำ M&A ของโลก อย่างไรก็ตาม กระแส Tech-Disruption นับเป็นปัจจัยเร่งให้กลุ่มเทคโนโลยีกลายเป็นธุรกิจดาวรุ่งสำหรับการทำ M&A ในระยะถัดไป สะท้อนจากอัตราการขยายตัวของ M&A ในกลุ่มเทคโนโลยีในช่วงปี 2558-2562 ขยายตัวสูงถึง 27 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่กลุ่มพลังงานที่เคยเป็นกลุ่มที่เติบโตสูงกลับขยายตัวเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ จากผลกระทบของปัญหาราคาน้ำมันโลกซบเซาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
 



 
  • จับตาแนวโน้ม M&A หลังโควิด-19

     ผลกระทบจากโควิด -19 และความไม่แน่นอนของปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ เช่น เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ราคาน้ำมันผันผวน เป็นปัจจัยบั่นทอนให้ M&A ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 หดตัวถึง 38 เปอร์เซ็นต์ โดยหลายบริษัทรอดูสถานการณ์หลังโควิด -19 คลี่คลาย เพื่อกำหนดกลยุทธ์ M&A รอบใหม่ หรือมองหาบริษัทที่มีศักยภาพในระยะถัดไป ทำให้คาดว่า M&A จะกลับมาเติบโตอีกครั้งหลังสถานการณ์คลี่คลาย โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยีและธุรกิจการแพทย์ สอดรับกับกระแส Tech-Disruption และเทรนด์ธุรกิจยุคใหม่ หลังโควิด -19 ขณะที่ M&A ในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังจาก M&A ระหว่างประเทศเผชิญความท้าทายจากหลายปัจจัย เช่น Trade War & Protectionism, Supply Chain Shock (โควิด-19), Geopolitics, Reshoring (การถอนทุนและย้ายฐานกลับประเทศเจ้าของทุน)





     แม้ M&A ระหว่างประเทศของโลกเริ่มเผชิญความท้าทาย แต่บริษัทไทยมีแนวโน้มขยายการลงทุนในต่างประเทศด้วย M&A อย่างต่อเนื่อง เพื่อปลดล็อกจากข้อจำกัดภายในประเทศ เช่น ตลาดขนาดเล็ก ขาดแคลนแรงงาน และเทคโนโลยีไม่ทันสมัย เป็นต้น สะท้อนจากสัดส่วนการทำ M&A ระหว่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นแตะระดับ 33 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2562 จาก 17 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2558 ขณะเดียวกันมูลค่า Deal ก็มีขนาดใหญ่ขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อ Deal ในปี 2562 จาก 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 หรือเพิ่มขึ้นถึง 2.3 เท่าภายใน 5 ปี ซึ่งเป็นที่คาดว่าการทำ M&A ของไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในระยะถัดไป สอดคล้องกับเทรนด์การออกไปแสวงหาโอกาสธุรกิจใหม่ๆ ในต่างประเทศของบริษัทไทยนั่นเอง
 
 
ที่มา :  EXIM BANK


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน