ตีแผ่ “แผนฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย” รอดไม่รอด-ไปต่อยังไง? ธุรกิจท่องเที่ยว-โรงแรมหลังโควิด




Main Idea

 
 
     สรุปแผนฟื้นฟูท่องเที่ยวไทยฉบับททท.
 
 
  • ผ่อนคลายมาตรการควบคุมให้เริ่มทำกิจกรรมปกติได้
 
  • ใช้เครื่องหมาย SHA ยกระดับสินค้าและบริการ
 
  • จัดเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ
 
  • เลือกพื้นที่ในการเปิดให้เดินทางไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่
 
  • กระตุ้นให้คนไทยเที่ยวในประเทศ
 
  • เปิดประเทศภายใต้ New Normal
 
  • ใช้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนำ และขยายฐานไปยังกลุ่มอื่นๆ
 


 

     การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ประกาศแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวออกมาทั้งหมด 3 ระยะ ประกอบด้วย


ระยะที่ 1 เรียกว่า Lockdown Exit คือ

 
  • ผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ ให้เริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมตามปกติได้
 
  • ใช้เครื่องหมาย SHA ยกระดับสินค้าและบริการ
 
  • จัดเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ


ระยะที่ 2 เรียกว่า Selective Open

 
  • เลือกพื้นที่ในการเปิดให้เดินทางได้ไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ (คล้ายภูเก็ตและพัทยา Model)
 
  • กระตุ้นให้คนไทยเที่ยวในประเทศ
 
  • โปรโมตธุรกิจที่ได้รับเครื่องหมาย SHA เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว


ระยะที่ 3 เรียกว่า Extensive Open

 
  • เปิดประเทศภายใต้ New Normal
 
  • ใช้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism)
 
  • ขยายฐานนักท่องเที่ยวไปยังกลุ่ม นักท่องเที่ยวกลุ่มเดิมที่กลับมาเที่ยวซ้ำ (Revisit), การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentive Travel), การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism)



 

     ถ้าเราลองมองดูการวางแผนการฟื้นฟูการท่องเที่ยวของ ททท. สิ่งแรกเลยที่เห็นคือ “การวางระยะเวลาการฟื้นฟูที่ชัดเจน” จากระยะที่หนึ่งคือเริ่มต้นการคลาย Lockdown ไปจนถึงขั้น Exit ต่อมาเป็นระยะของการเลือกเปิดพื้นที่ซึ่งมองอีกมุมมันคือการ “ทดลอง” เปิดประเทศเพื่อรองรับการท่องเที่ยว แสดงถึงความพร้อมในการกลับมาเปิดประเทศของไทยที่มีแนวโน้มที่ดีกว่าหลายชาติในขณะนี้ และในขั้นสุดท้ายคือการเปิดประเทศเต็มตัวภายใต้มาตรฐาน New Normal ที่มีการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นตัวเอกในการขยายรูปแบบการท่องเที่ยวและสร้างฐานนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่นอกเหนือจาก Business กับ Leisure ที่ประเทศไทยเคยส่งเสริมมาก่อนหน้านี้


      ในระยะที่ 3 หากประเทศไทยสามารถปักธงประเทศที่เป็น First Target ของนักท่องเที่ยกลุ่ม Wellness Tourism ได้ Supply Chain ที่จะเติบโตเมื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขยับมูลค่ามาที่จุดสูงสุดเดิมเมื่อปี 2562 ที่เรามีรายได้ 3.3 ล้านล้านบาทกับจำนวนนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคน จะไม่ได้มีแค่ โรงแรม สายการบิน ผู้ประกอบการขนส่งเพื่อการท่องเที่ยว สปา ร้านอาหาร ฯลฯ แต่จะมีผู้เล่นใหม่เข้ามาคล้องในเชนนี้ ที่สำคัญคือ โรงพยาบาล สถานพยาบาล สถานเสริมความงาม ศูนย์สุขภาพ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และผู้ประกอบการสุขภาพรายย่อยอื่นๆ เช่น กลุ่ม OTOP ผู้ผลิตสมุนไพรเพื่อสุขภาพ สปาจากแหล่งธรรมชาติ กลุ่มผู้ผลิตอาหารแบบเกษตรอินทรีย์ ฯลฯ รายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวน่าจะเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัวส่งผลต่อรายได้ภาคการท่องเที่ยวต่อ GDP ของประเทศจากเดิมภาคการท่องเที่ยวมีรายได้คิดเป็น 21.6 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP (https://www.longtunman.com/20913) หากอ้างอิงจากตัวเลขเดิมจะกลายเป็น 32.4 เปอร์เซ็นต์ เรียกได้ว่าภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวน่าจะกลับมาเป็นรายได้หลักของประเทศอย่างเต็มตัว





     สำหรับแผนการฟื้นฟูการท่องเที่ยวของ ททท. มีจุดที่น่าสนใจคือ


     1. เครื่องหมาย SHA (Safety and Health Association) เราจะเห็นว่าในแผนการฟื้นฟูในระยะที่ 1 และระยที่ 2 ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการที่ได้รับเครื่องหมาย SHA จริงอยู่ว่า ททท. เองต้องการสร้างความมั่นใจให้กับแขกผู้เข้าพักด้วยการโปรโมตมาตรฐาน SHA ว่ามีความปลอดภัยและได้รับการตรวจตราอย่างเข้มงวดก่อนการอนุมัติ แต่ในความเป็นจริงก็ต้องยอมรับว่าด้วยจำนวนบุคลากรของ ททท. และ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รวมถึงหน่วยงานใน สธ. ที่มีหน้าที่ต้องไปตรวจสอบมาตรฐานและข้อปฎิบัติเพื่ออนุมัติ SHA ดำเนินการตรวจสอบทั่วถึงด้วยตนเองหรือไม่? เพราะจากผู้ประกอบการทั่วประเทศหากต้องรอทีมงานไปตรวจสอบน่าจะกินเวลานานกว่าจะออกเครื่องหมายได้ ซึ่งทำให้ “ไม่ทัน” ต่อมาตรการ บางแห่งก็มีการใช้ Check List แล้วให้ส่งประเมินซึ่งหากผิดข้อตกลงแน่นอนว่า ก็จะได้รับบทลงโทษและมีการเพิกถอนเครื่องหมาย


     จุดนี้ที่ให้ความสนใจเพราะ SHA เป็นสิ่งสำคัญที่อยู่ในแผนทั้ง 2 ระยะ หากเกิดกรณีที่ “หลุด” ขึ้นมาเหมือนกรณีหญิงชาวฝรั่งเศสที่ตรวจพบเชื้อวันที่ 17 และพบเชื้อในพื้นที่ฟิตเนสใน ASQ ยังเป็นคำถามตัวโตว่า “หลุดมาได้อย่างไร” เรื่องของเครื่องหมาย SHA อาจต้องกลับมาคิดทบทวนและหาทางเข้มงวดไม่ให้เกิดซ้ำอีกครั้ง แม้ปัจจุบันจะมีมาตรฐานการตรวจสอบอยู่แล้วก็ตาม เช่นเดียวกันกับ New Normal ในระยะที่ 3 ที่เราจะมีการควบคุมได้เข้มงวดแค่ไหน?





     2. คำถามต่อมาคือ “แล้วผู้ประกอบการที่ไม่ได้เข้าร่วม SHA” จะได้รับผลกระทบอย่างไร? และมีแนวทางการช่วยเหลือแบบใดให้พวกเขาเหล่านั้นบ้าง” เพราะบางแห่งไม่พร้อมที่จะขอเครื่องหมาย SHA แต่ก็มีแนวทางในการปฎิบัติของตนเองอยู่แล้วโดยได้รับคำปรึกษาจาก สธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เราจะช่วยเหลือและทำให้เขาเหล่านี้ที่ก็อยู่ในสถานการณ์ที่แย่เหมือนกันอย่างไร? คิดว่าน่าจะเป็นอีกมุมหนึ่งที่ผู้เกี่ยวข้องคงกำลังหาทางออกอยู่ เพราะหากปล่อยผู้ประกอบการเหล่านี้ไว้ข้างหลังก็จะกลายเป็นการ “ช่วยเฉพาะกลุ่ม” ไปอีก


     3. ประเด็นการเลือกพื้นที่ในระยะที่ 2 Selective Open แน่นอนว่าทุกพื้นที่มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กรณีนี้ถือว่าเหมาะสมที่วางไว้เป็นแผนในระยะที่ 2 เพราะเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนต้องอาศัยการกำหนดข้อปฎิบัติที่เข้มงวดทั้งแผนเชิงรุก เชิงรับ การจัดการ Risk Management, Crisis Management, จำเป็นที่จะต้องมีการอธิบายและให้ความเข้าใจทั้ง 2 ฝ่ายอย่างละเอียด





     4. การกระตุ้นให้คนไทยเที่ยวในประเทศตามแผนระยะที่ 2 จริงๆ กรณีนี้จะว่าไปหากจะด่วนสรุปเลยว่า โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ไม่ประสบความสำเร็จจากยอดผู้ใช้สิทธิอันนี้ก็คงจะไม่ถูกนัก เพราะจริงๆ แล้วมีข้อจำกัดมากมายที่ทั้งผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวมองว่า “ยุ่งยาก” แม้จะทำให้ได้พักที่พักดีๆ ในราคาถูกก็จริง แต่ปัญหาโรงแรมฉวยโอกาสขึ้นราคาบ้าง ปัญหาการลงทะเบียนของนักท่องเที่ยว ปัญหาการเชื่อมต่อระบบของโรงแรม ข้อจำกัดการใช้สิทธิต้องจองล่วงหน้า 3 วันและห้ามเที่ยวในพื้นที่ ยังถือเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้โครงการไม่สำเร็จ ซึ่งหากจะสรุปว่า “เราเที่ยวด้วยกัน” ไม่เวิร์ก อาจจำเป็นที่จะต้องขจัดปัญหาและข้อจำกัดนี้ไปให้หมดเสียก่อนจึงจะสรุปได้


     แต่ก็เข้าใจว่าด้วยระยะเวลาและความเดือดร้อนทำให้ต้องรีบนำมาตรการออกมาทดลองแบบ “ทำไปแก้ไปดูก่อน” จึงทำให้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร อันที่จริงแล้วปัญหาและข้อจำกัดเหล่านี้ถ้ามองกันตามเนื้อผ้าและตามมุมมองของผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว “มันไม่ควรจะมีตั้งแต่แรก” เพราะท้ายที่สุดทางโครงการก็มานั่งแก้ไขปัญหาเหล่านั้นอยู่ดี ซึ่งน่าจะทำตั้งแต่แรก เช่น เริ่มมีการเห็นชอบให้เที่ยวในพื้นที่ได้ มีการพูดถึงการไม่ต้องจองล่วงหน้าถึง 3 วันได้ หรือแม้แต่ส่วนลดตั๋วเครื่องบินที่ไม่ต้องจองโรงแรมก็ขอลดหย่อนได้ ก็เริ่มถูกนำมาแก้ไขซึ่งก็ถือว่าเป็นการปรับปรุงไปในทางที่ดี


     5. จัดเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ตรงนี้อันดับแรกคงมีคำถามว่า "แล้วปกติที่ผ่านมาเราไม่มีการจัดเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยวหรืออย่างไร" ตามความเข้าใจแล้วปกติการจัดเก็บข้อมูลก็จะถูกแบ่งระหว่างรัฐและเอกชนอยู่แล้ว กล่าวคือรัฐก็จะเก็บข้อมูลตั้งแต่ ตม. อยู่แล้ว ส่วนโรงแรมก็มีหน้าที่ส่งข้อมูลให้ราชการอยู่แล้วตาม พรบ.โรงแรม (รร 4, ตม,) และโรงแรมมีการเก็บข้อมูลส่วนตัวแขกใน PMS (Property Management System) ในส่วนนี้การจะต้องเสียงบประมาณในการวางแผนการจัดเก็บใหม่อาจมีอีกตัวเลือก คือการนำข้อมูลมาบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน น่าจะเป็นทางออกที่สะดวกและง่ายกว่า แต่หากมีการวางแผนการจัดทำ Big Data ก็จำเป็นที่จะต้องทำ Data Analytics ด้วยเช่นกัน เพราะถ้ามีข้อมูลมากแต่นำมาใช้ไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์





     ท้ายที่สุดแล้วก็ยังเชื่อว่า ด้วยธรรมชาติของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นอีกปัจจัยหลักที่มนุษย์ต้องการและความตั้งใจของ ททท. กระทรวงสาธารณสุข ผู้ประกอบการโรงแรมและการท่องเที่ยว และผู้เกี่ยวข้องทุกคน แผนฟื้นฟูทั้ง 3 ระยะนี้ย่อมส่งผลดีกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างแน่นอน ส่วนจะสำเร็จหรือไม่นั้นเราคงต้องมาติดตามดูกันอีกครั้ง เพราะสถานการณ์ที่ตัวแปรสำคัญคือการแพร่ระบาดของโควิด -19 ที่คาดเดาอะไรไม่ได้เลย เป็น Uncertainty ตามหลัก VUCA จะส่งผลกระทบต่อแผนนี้มากน้อยแค่ไหน


     แต่ถึงอย่างไรโดยส่วนตัวแล้วขอเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่าย และโดยส่วนตัวผู้เขียนยินดีช่วยเหลือทุกทางให้เราผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ครับ
 
               
     (หมายเหตุ* ความคิดเห็นทั้งหมดเป็นทรรศนะส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานหรือสถาบันใดทั้งสิ้น ผู้เขียนเสนอทรรศนะจากมุมมองส่วนตัวเท่านั้น)











 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน