“Deeco” รองเท้ายางพาราสำหรับโค ไอเดียหนุ่มวิศวะมอ.สงขลา เปิดตลาดใหม่เพิ่มมูลค่ายางได้หลายเท่า

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : Deeco





     อะไรนะ! โคก็ต้องใส่รองเท้ากับเขาด้วย แถมข้างละตั้งหลายร้อยอีกด้วยนะ
               

     นี่คือแบรนด์ Deeco (ดีโค่) รองเท้ายางพาราสำหรับโค นวัตกรรมเกษตรคูลๆ ของ “ณัฐวี บัวแก้ว” ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท จีฟินน์ รับเบอร์เทค จำกัด หนุ่มวิศวะจาก มอ.สงขลานครินทร์ ที่เคยฝากผลงาน “ถุงเพาะชำจากยางพารา” ย่อยสลายได้เจ้าแรกของโลก แบรนด์ Greensery ซึ่งเคยคว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันนวัตกรรมทางการเกษตร ในเวที PSU Startup Challenge มาแล้วเมื่อเกือบ 3 ปีก่อน  


      วันนี้เขานำยางพารากลับมาสร้างความว้าวในตลาดอีกครั้ง ด้วยนวัตกรรมรองเท้าสำหรับโคที่ทำมาจากยางพารา โดยออกแบบแม่พิมพ์ให้สอดคล้องตามหลักสรีระของกีบเท้าโค และสูตรยางรองเท้าอีกด้วย
               

       ว่าแต่ทำไมโคต้องใส่รองเท้า แล้วตลาดนี้จะน่าสนใจแค่ไหน ไปติดตามกันเลย!




 
นวัตกรรมจากความบังเอิญกับโอกาสที่ซ่อนอยู่
               

     ใครจะคิดว่า ระหว่างนั่งอยู่หน้าบ้านแล้วเห็นวัวชนเดินผ่าน บทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่าง ณัฐวี และเจ้าของวัวชน ในวันนั้นจะกลายเป็นโอกาสธุรกิจใหม่มาซะได้
               

     “ตอนนั้นมันเริ่มจากแค่ผมอยากได้โปรดักต์เกี่ยวกับยางอีกสักตัวหนึ่งที่มูลค่าสูงขึ้นและเพิ่มราคายางได้มากๆ นอกจากถุงเพาะชำที่เราทำอยู่แล้ว วันหนึ่งผมนั่งอยู่หน้าบ้าน แล้วเห็นวัวชนเดินผ่าน ผมถามเจ้าของวัวชนว่าเขาชนกันที่เท่าไร เขาบอก 10 ล้านบาท แต่ละตัวแพงมากเลยนะ แล้วผมสังเกตว่าเท้าของวัวจะใส่รองเท้าแตะช้างดาว ซึ่งเขาใส่เพื่อป้องกันเท้าบาดเจ็บ เพราะสมมติเขาชนกันที่ 10 ล้านบาท เขาต้องมีเงินเดิมพัน 10 เปอร์เซ็นต์ ที่จะต้องนัดมาเจอกันในเวลาที่กำหนด ซึ่งถ้าใครมาไม่ทันเงิน 10 เปอร์เซ็นต์นั้นหรือ 1 ล้านบาทจะตกเป็นของอีกฝั่งหนึ่งทันที ฉะนั้นสิ่งที่เขาควบคุมไม่ได้คือเวลาวัววิ่งริมถนนอาจจะเจอเศษกระจก ตะปู กระเบื้อง หรืออะไรก็ตาม ซึ่งถ้าวัวมันเหยียบก็คือหายไปเลยนะเงิน 10 เปอร์เซ็นต์นั้น แล้วเขาไม่ยอมแลกกับ 90 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือแน่นอน เขาเลยเอารองเท้าช้างดาวมาใส่ แต่ผมกลับมองว่าวัวชนตั้ง 10 ล้านบาท แต่ทำไมไม่ใส่ Adidas ไม่ใส่ Nike ถ้าเรามีเงินเยอะขนาดนั้นเราคงใส่ Nike ไปแล้ว เลยจุดประกายว่าถ้าอย่างนั้นผมจะเอายางมาทำรองเท้าให้วัวใส่ดีกว่า เพื่อให้เหมาะกับราคาวัวที่มีมูลค่าสูงขนาดนี้” เขาเล่า
               

     แต่ตลาดวัวชนเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม แถมแต่ละคนก็รักและทนุถนอมวัวชนยิ่งกว่าลูก ฉะนั้นการจะให้ลองเอารองเท้าจากงานวิจัยไปใส่ก็คงไม่มีใครกล้าเสี่ยงแน่ เขาเลยมามองใหม่ว่านอกจากตลาดวัวชนแล้วยังมีสัตว์อะไรอีกบ้างที่ใส่รองเท้า ซึ่งคำตอบที่ได้ก็คือ “โคนม” พลเมืองสัตว์ขนาดใหญ่ของโลก ซึ่งทั่วโลกมีโคนมอยู่ถึง 143 ล้านตัว ขณะที่ในไทยก็มีอยู่ประมาณ 6.7 แสนตัว แถมยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปีอีกด้วย ส่วนเหตุผลที่โคนมต้องใส่รองเท้า ก็เพราะป้องกันอาการเจ็บที่กีบเท้านั่นเอง



 
           
ไอเดียเกิดจากวัวชน ต่อยอดสู่ตลาดโคนม
               

     ปัญหาโคนมเจ็บกีบเท้า นับเป็นปัญหาคลาสสิกที่เกิดขึ้นกับโคนมทั่วโลก เขาบอกว่า ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ของโคนมที่เลี้ยงในแต่ละฟาร์ม เกิดปัญหาเจ็บกีบเท้า ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะส่งผลต่อปริมาณน้ำนมและคุณภาพของน้ำนมที่จะลดลง รวมถึงก่อให้เกิดปัญหาการผสมพันธุ์ยากและปัญหาเต้านมอักเสบได้อีกด้วย
               

     “ปัญหาการเจ็บกีบเท้าของโคนมเกิดขึ้นกับโคทั่วโลกและยังคงแก้ไม่ได้ เพราะ 1.มันมาจากกายวิภาคของกีบทั้ง 2 ข้างที่รับน้ำหนักไม่เท่ากัน  2.ทั่วโลกให้อาหารข้นกับวัวซึ่งส่งผลให้วัวแข็งแรงและมีน้ำนมเยอะ แต่อาหารข้นถ้าถูกปรับนิดหนึ่งหรือว่าเป็นกรดมันจะดูดซึมเข้ากระเพาะแล้วซึมเข้ากล้ามเนื้อและทำให้กีบแตกได้ และ3.ถ้าเราเลี้ยงวัวอย่างดีวัวจะมีน้ำหนักโตเต็มวัยคือ 500-700 กิโลกรัม ซึ่งส่งผลให้กีบแตกอีกเพราะว่าน้ำหนักมันเยอะ แล้วถ้าเราเลี้ยงบนพื้นซีเมนต์ก็ส่งผลให้กีบแตกอยู่แล้วเพราะการกระจายแรงไม่ดี ถ้าเราเลี้ยงบนพื้นดิน อย่างที่มวกเหล็กแต่ละปีจะเกิดน้ำท่วม เขาก็จะเอาดินเอากรวดมาถม ซึ่งเวลามีหินหรืออะไรตกลงไปเสียบมันก็จะอัดกลับเข้าไปกีบก็จะแตกได้เหมือนกัน ซึ่งปัญหาเหล่านี้มันแก้ยากมาก เพราะว่ามันเกิดจากตัวโคเองและสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงด้วย”


      เมื่อเจ็บกีบเท้าโคจะนอนมากกว่ายืน แต่การนอนจะทำให้เต้านมติดเชื้อได้ ขณะที่เวลาเจ็บกีบเท้าโคจะทานอาหารน้อยลง ซึ่งทำให้ผสมพันธุ์ไม่ได้ ส่งผลให้ไม่มีน้ำนมให้รีด เลยก่อปัญหาเป็นลูกโซ่ ทำให้ผู้เลี้ยงโคนมต้องเอารองเท้ามาใส่ตรงข้างที่เจ็บ เพื่อพยุงกีบให้ลอยขึ้น ซึ่งจากการวิจับพบว่า ถ้าไม่ใส่รองเท้าให้โคกีบจะหายอยู่ประมาณ 3 เดือน แต่ถ้าใส่รองเท้าไม้หรือรองเท้าชนิดอื่น แผลจะหายประมาณ 3 สัปดาห์


     “ผมไปสัมภาษณ์เกษตรกรพบว่า วัวที่เกิดอาการเจ็บกีบเท้า น้ำนมมันจะลดจากเดิมประมาณ 50-60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปกติเขาจะใช้รองเท้าไม้ ราคาอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 200 บาทรวมค่ากาว แต่มันใช้งานได้แค่ครั้งเดียวแล้วก็ต้องทิ้ง สำหรับฟาร์มที่มีกำลังหน่อย เขาจะนำเข้ารองเท้ามาจากนิวซีแลนด์ เป็นรองเท้าสำหรับโคโดยเฉพาะ อันนี้ขายกันอยู่ที่ประมาณ 1,500-2,000 บาท ใช้ได้ 4-5 ครั้ง ผมเลยมองว่าเราเองมีองค์ความรู้ด้านยางอยู่แล้ว เรามีทีมวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญ จึงได้พัฒนารองเท้าโคจากยางพาราขึ้นมา”



 
               
พัฒนารองเท้าตอบโจทย์โคนม ตอบโจทย์ตลาด


     รองเท้ายางพาราสำหรับโคนมแบรนด์ Deeco ถูกออกแบบแม่พิมพ์ให้สอดรับตามหลักสรีระของกีบเท้าโคและสูตรยางรองเท้า สามารถรับน้ำหนักโคได้โดยไม่เกิดการแตกหักและมีความแข็งแรงมากพอไม่ทำให้เกิดการยุบตัวเมื่อรับน้ำหนักของโค ในกระบวนการขึ้นรูปรองเท้าใช้แม่พิมพ์แบบกึ่งฉีด ซึ่งช่วยให้ตัวรองเท้ารับแรงและกระจายแรงได้ดีขึ้น มีช่องระบายอากาศและสวมใส่ได้ง่ายขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับรองเท้าไม้ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่มีความแข็งกระด้างไม่ยืดหยุ่นและยังต้องใช้กาวในการติดกับกีบเท้าซึ่งมีความยุ่งยาก และยังไม่สามารถนำกลับมาใช้งานซ้ำได้ด้วย


     นอกจากนี้พวกเขายังพัฒนารองเท้าโคนมให้มีความแข็ง 2 ระดับ ซึ่งช่วยให้โคสวมใส่ได้สบายมากขึ้น ที่สำคัญยังได้พัฒนารองเท้าที่สามารถฆ่าเชื้อได้ด้วยการเคลือบผิวรองเท้าด้วยนาโนซิลเวอร์ ที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อเพิ่มเติม และรองเท้าสำหรับโคนมยังเป็นวัสดุทางการแพทย์ที่ใช้สวมใส่เมื่อเกิดอาการบาดเจ็บที่กีบเท้า เพื่อให้อาการบาดเจ็บนั้นหายเร็วขึ้นได้


     “ราคาขายที่เราทำได้อยู่ที่ 350-500 บาท และยังใช้งานได้ถึง 5 ครั้ง เท่ากับของนำเข้า แต่ของเราทำราคาได้ถูกกว่า ซึ่งหลังจากนำไปให้ผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศประมาณ 20 ฟาร์ม ได้ทดลองใช้ก็พบว่าได้ผลที่ค่อนข้างดี แต่ยังติดปัญหาเรื่องไซส์เนื่องจากเบื้องต้นเราทำไซส์ M ซึ่งเป็นไซส์มาตรฐานของโคส่วนใหญ่ที่เลี้ยงในประเทศไทย แต่มีปัญหาว่าบางฟาร์มเขามีโคนำเข้าที่ตัวจะค่อนข้างใหญ่ ทำให้ใส่รองเท้าไซส์ M ไม่ได้ แต่กลุ่มนี้ยังมีจำนวนน้อยอยู่ ซึ่งถ้ามีความต้องการเพิ่มขึ้นในอนาคต เราก็สามารถทำแม่พิมพ์เพื่อเพิ่มไซส์รองเท้าได้”
 

     สำหรับผลยุทธ์การตลาด เขาบอกว่า เนื่องจาก Deeco เป็นสินค้าใหม่ จึงเจาะตลาดโดยการนำเสนอผ่านสัตวแพทย์ ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องดูแลสัตว์ในแต่ละฟาร์มอยู่แล้ว และยังเป็นกลุ่มที่มีความน่าเชื่อถือ จึงสามารถช่วยกระจายสินค้าของพวกเขาไปสู่ฟาร์มต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ส่วนโมเดลที่ 2 คือการพัฒนาสินค้าที่มีราคาขายถูกลง ไม่แตกต่างจากรองเท้าไม้ เพื่อจับตลาดกลุ่มที่ใช้รองเท้าไม้อยู่เดิม โดยจะทำราคาขายไม่เกิน 150 บาท



 

การเป็นผู้ประกอบการคือการประกอบกัน


     ณัฐวี เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่นำพาตัวเองไปแสวงหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ อย่างตัวแม่พิมพ์ที่ทำยาก พวกเขาก็ได้ บริษัท อินเตอร์แนชชั่นแนลรับเบอร์พาทส์ จำกัด ที่ทำชิ้นส่วนรถยนต์ให้โตโยต้ากับฮอนด้า มาช่วยผลิตให้ โดยเซ็นสัญญากันหลังจากไปเข้าโครงการ SME D Scale Up ของ SME D Bank เลยมีโอกาสได้ใช้โนว์ฮาวของมืออาชีพมาช่วยทำแม่พิมพ์ให้


     “จริงๆ แล้วแม่พิมพ์รองเท้าโคจะแพงมาก ต้องใช้เงินเป็นหลักล้านบาทต่อ 1 ชุด แต่เราคุยกันได้ในราคาที่โอเค แล้วเขาก็เป็นมืออาชีพด้วย  ทำให้เรามีไลน์ผลิตที่เก่งทางด้านการผลิต ผมเองก็มีทีมวิจัยจากมอ.สงขลานครินทร์ ที่เก่งทางด้านยางเช่นกัน จึงเป็นการทำงานร่วมกันของหลายๆ ฝ่าย”


     นอกจากนี้เขายังชอบเวทีประกวดเพราะเชื่อว่าถ้าชนะ นอกจากจะได้เงินรางวัล ยังได้พื้นที่สื่อในการประชาสัมพันธ์ตัวเองแบบฟรีๆ อีกด้วย และเขาไม่เชื่อเรื่องการทำงานคนเดียว เพราะเชื่อว่า การเป็นผู้ประกอบการคือการประกอบกัน


     “ผมจำคำพูดของคนๆ หนึ่งได้ เขาบอกว่า การเป็นผู้ประกอบการเกิดจากการประกอบกันของหลายๆ ส่วน มันไม่มีใครเก่งไปทุกด้าน แต่ถ้าเราเอาด้านที่เก่งแล้วไปหาคนที่เก่งในด้านที่เราด้อยแล้วมาสนับสนุนเรา มันก็จะออกมาเป็นผู้ประกอบการได้ ที่สำคัญถ้าจะทำให้อยู่รอดได้เราต้องใช้นวัตกรรม เพราะถ้าเราทำธุรกิจที่ไม่มีนวัตกรรม เราอาจมีรายได้เยอะก็จริง แต่จะอยู่รอดได้แค่ในช่วงสั้นๆ เท่านั้น เพราะวันหนึ่งก็จะมีคนทำตาม แต่ถ้าใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย เราก็จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน” เขาบอก
 

     และนี่คือเรื่องราวของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ อดีตเด็กหนุ่มที่ทำงานส่งตัวเองเรียนมาตั้งแต่ปี 1 หลังผู้เป็นพ่อมาเสียชีวิตลงกระทันหัน เขาคือลูกชายคนเดียวในบ้านที่ต้องนำพาครอบครัวให้ไปต่อ เคยถูกหลอก ถูกโกง ต้องต่อสู้ดิ้นรนมาสารพัด แต่สุดท้ายก็คว้าปริญญาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิชาวิศวกรรมการผลิต ที่มอ.สงขลานครินทร์ มาได้สำเร็จ และมีธุรกิจของตัวเองตั้งแต่อายุ 23 ปี วันนี้เขาอายุ 26 ปี ธุรกิจกำลังไปได้ดี และไม่มีปัญหาใดใหญ่เกินไปอีกแล้ว เพราะปัญหาที่หนักหน่วงเขาเคยผ่านมันมาหมดแล้วก่อนหน้านี้




               
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน