เปลี่ยนของดีใกล้ตัวเป็นธุรกิจทำเงิน “กาแฟวิเชียรมาศ” อาราบิก้าพันธุ์ไทย ทำให้คอกาแฟกลับมาซื้อซ้ำ 90%

Text: Neung Cch.
 


               

        เมื่อเห็นของดีถูกทิ้งขว้างคุณรู้สึกประหลาดใจใช่ไหม?


         นั่นคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับ วิภู ชัยฤทธิ์ และ พัตราพร คำน้อย ตอนพบเจ้าเหมียวพันธุ์วิเชียรมาศ ถูกทิ้งอยู่ข้างถนน สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นทาสแมวอาจจะไม่เข้าใจว่านี่ไม่ใช่แมวธรรมดาแต่คือของดีระดับตำนานแห่งสยาม เคยได้รางวัลชนะเลิศจากการประกวดในเดอะ คริสตัลพาเลซ ในกรุงลอนดอนที่อังกฤษ ทำให้ทาสแมวทั่วโลกหลงใหลมาแล้ว


           เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นแมวถูกทิ้ง จึงนำไปสู่การปลุกปั้น “กาแฟวิเชียรมาศ” อาราบิก้า พันธุ์ไทย ของดีจากภูมิลำเนาในเชียงใหม่ที่ได้ทั้งเครื่องหมาย GI และมีรางวัลระดับประเทศการันตี เพื่อให้คอกาแฟทั่วโลกต้องรู้จักไม่ต่างจากแมววิเชียรมาศที่เคยประกาศศักดามาแล้ว





เทพเสด็จ ก็มีกาแฟเด็ด



        นอกจากเป็นที่ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงาม อากาศเย็นสบายแล้ว ทางภาคเหนือของไทยหลายๆ พื้นที่ก็ยังมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้าที่ชอบความเย็นและความสูง หนึ่งในทำเลที่ว่านั้นคือ ตำบลเทพเสด็จ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งมี กว่างซาง แมลงที่มีลักษณะพิเศษคือมีเขาห้าเขา ลักษณะสวยงามกว่าด้วงทั่วไปเป็นสัญลักษณ์ และเป็นแมลงหายากที่พบเฉพาะบริเวณป่าสมบูรณ์


         สิ่งเหล่านี้กลายเป็นต้นทุนทางธรรมชาติ ทำให้กาแฟเทพเสด็จได้รับ GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) ที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง บวกเข้ากับองค์ความรู้และความใส่ใจของเกษตรกร ผลผลิตกาแฟจากแหล่งเทพเสด็จจึงขึ้นไปยืนหนึ่งเป็นกาแฟชั้นเลิศของประเทศไทยโดยสามารถชนะการประกวดปี 2021 โดยผู้ชนะการประกวดยังได้ราคาประมูลกาแฟไปด้วยราคาสูงถึงกิโลกรัมละกว่า 10,000 บาท


          “ผมมาดูแผนที่กาแฟโลก ปรากฏว่าหลายๆ เอกสารยังระบุว่าไทยเราเป็นแหล่งปลูกกาแฟ โรบัสต้าอยู่เลย ทั้งๆ ที่บ้านเรามีกาแฟอาราบิก้าดีๆ เยอะมากไม่ใช่เฉพาะเทพเสด็จแม้แต่ กาแฟบ้านแม่จันใต้ก็มีรสชาติดีติด 1 ใน 10 ของโลก แต่การรับรู้ในระดับสากลยังน้อย”


 



จากแมวสู่กาแฟ ของดีจะต้องไม่ถูกทิ้ง

               

            ด้วยต้นทุนทางธรรมชาติที่เพียบพร้อมที่เป็นของดีอยู่ใกล้ตัว วิภู และ พัตราพร จึงอยากจะนำสิ่งนี้มาต่อยอดส่งเสริมกาแฟไทยให้ไปสู่ระดับโลกเหมือนเหมือนแมววิเชียรมาศ เมื่อเห็นสีของกาแฟมีสีดำเข้ม น้ำตาล คล้ายกับแมววิเชียรมาศที่เขาชื่นชอบ จึงเป็นที่มาของชื่อแบรนด์กาแฟวิเชียรมาศ
                 

       “ตลาดกาแฟมีมูลค่าสูงมาก เป็นรองแค่น้ำมัน มีความต้องการเยอะ จนทำให้ประหลาดใจมากคือ จากประสบการณ์ถ้าเป็นสินค้าอื่นต้องสร้างการรับรู้กับผู้บริโภคก่อนจึงจะมียอดขาย แต่กับตลาดกาแฟนี้แค่เราบอกว่ามีกาแฟจะขาย คนก็สนใจอยากลองกันแล้ว สั่งซื้อเยอะมาก จากลูกค้ากลุ่มแรกๆ ที่ซื้อก็ยังกลับมาซื้อซ้ำในปัจจุบันเกิน 90 เปอร์เซ็นต์”


       สำหรับสาเหตุที่ทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำกาแฟวิเชียรมาศนั้น พัตราพร วิเคราะห์ให้ฟังว่าน่าจะมาจากการที่กาแฟปลูกบนพื้นที่สูงที่มีอากาศเย็นจะทำให้เมล็ดสุกช้าสามารถซึมซับความหอมของดอกไม้ป่า เมล็ดกาแฟจะแข็งแรง จนสามารถคั่วได้ถึง 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับคั่วอ่อนไปถึงระดับคั่วเข้ม


        “ประการสำคัญช่วงนี้คนอยากดื่มกาแฟดีๆ แต่ด้วยสถานการณ์ไม่สามารถไปนั่งดื่มที่ร้านได้ เมื่อต้องดื่มกาแฟที่บ้านก็อยากได้ประสบการณ์พิเศษ ยิ่งต้องกักตัวอยู่กับบ้านทุกอย่างดูอึดอัด ผู้คนจึงอยากสร้างประสบการณ์การดื่มกาแฟดีๆ ที่บ้าน เพราะปัจจุบันอุปกรณ์ชงกาแฟอย่างโมก้าพอท (Moka Pot) ก็ราคาไม่แพงทุกคนสามารถซื้อมาทำที่บ้านได้ ขอเพียงแต่มีเมล็ดกาแฟที่ดี”





เล่าเรื่องให้เป็นเห็นยอดขาย

           

          ดังนั้นวิธีการที่จะทำให้ลูกค้าทราบถึงเมล็ดกาแฟที่ดี พัตราพร จึงใช้วิธีสื่อสารผ่านทางเฟซบุ๊กถึงเรื่องราวที่มาที่ไปของกาแฟ นอกจากจะทำให้ลูกค้าได้เข้าใจแล้ว ยังถือเป็นการทำการตลาดที่ได้ผลถึงสองประการ


       “หนึ่ง มันเหมือนเป็นการทำ SEO การเล่าเรื่องผ่านบทความทำมีคำที่เกี่ยวกับกาแฟซ้ำๆ จะทำให้คนค้นหาเจอเพจเราได้ง่ายขึ้น ประการที่สองคือผู้บริโภครู้สึกว่าเราตั้งใจ ใส่ใจ และได้ข้อมูลมากขึ้นในการตัดสินใจ ก็ซื้อง่ายขึ้น ส่วนวิธีการเล่าตัวเราก็ต้องเข้าใจในเรื่องที่เล่าให้ถ่องแท้ เล่าให้คนเข้าใจง่ายที่สุดด้วยความจริงใจ ผมแค่เชื่อว่าถ้าตั้งใจและพยายามเล่าเรื่องผลลัพธ์จะออกมาดี”


       ส่วนในอนาคตเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายเราก็คงได้เห็นกาแฟวิเชียรมาศจำหน่ายอยู่ใน Co-working Space เพื่อสร้างประสบการณ์ในการดื่มกาแฟให้กับคอกาแฟ
               

        “มองว่ากาแฟไทยยังไปได้ไกล คนในวงการก็ช่วยเหลือแนะนำกันดี เราเองอยากพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะกาแฟ single origin ตอนนี้เตรียมสถานที่เปิดเป็น co-working space ให้สร้างประสบการณ์การดื่มกาแฟแต่คงต้องรอให้สถานการณ์โควิดดีกว่านี้ ตอนนี้ก็เน้นขายออนไลน์ และก็ใช้เวลาอีกส่วนหนึ่งจ้างชาวบ้านให้ทำหูหิ้วกาแฟจากไม้ไผ่เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน”
 

        นี่คืออีกหนึ่งความพยายามของผู้ประกอบการไทยที่ใช้ของดีในท้องถิ่นให้เป็นประโยชน์ คงต้องมาดูกันต่อไปว่ากาแฟวิเชียรมาศจะทำให้คนทั่วโลกรู้จักได้เหมือนกับแมววิเชียรมาศหรือไม่
 
 





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน