อีคอมเมิร์ซช่องทางไหนทำเงินได้ดีมีโอกาสมากสุด ฟังผู้บริหาร Priceza เปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ

 

     เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว การค้าขายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซของจีนเติบโตอยู่ที่ราว 5 เปอร์เซ็นต์จากการค้าปลีกทั้งประเทศ

    แต่ในปี 2020 หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลาดอีคอมเมิร์ซจีนกลับเติบโตเพิ่มเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ และในปี 2021 ที่ผ่านมากลับเติบโตเพิ่มสูงขึ้นเป็น 35 เปอร์เซ็นต์

     จากข้อมูลดังกล่าวของประเทศมหาอำนาจอย่างจีนแสดงให้เห็นว่าแนวโน้มการค้าขายในตลาดออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซโลกเติบโตเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ดังนั้นจึงเป็นโอกาสสำคัญทางธุรกิจหากผู้ประกอบการจะหันมาใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซอย่างจริงจัง ลองฟัง ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด “Priceza” เว็บไซต์เปรียบเทียบราคาสินค้าแนะข้อมูลแนวโน้ม 3 ช่องทางอีคอมเมิร์ซอนาคตไกลน่าสนใจไว้ดังนี้

Marketplace Commerce

 Marketplace คือ ช่องทางอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในไทย มีสัดส่วนมากถึง 32 เปอร์เซ็นต์

     อาทิ Shopee, Lazada โดยเมื่อเจาะลึกลงไปพบว่าเป็นสินค้าในประเทศเพียง 37 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลืออีก 63 เปอร์เซ็นต์ คือ สินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเบอร์ 1 คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากจีน

     โดยสิ่งที่น่าสนใจสำหรับช่องทางมาร์เก็ตเพลสในอนาคต ก็คือ การซื้อขายแบบไร้พรมแดนข้ามประเทศได้อย่างเสรีมากขึ้น หรือเรียกว่า Crossbody E-commerce ต่อไปแค่มีร้านค้าอยู่บนมาร์เก็ตเพลสเราอาจจะไม่ได้ขายของให้กับลูกค้าแค่ในเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังกระจายไปประเทศอื่นๆ ได้ด้วย

     ยกตัวอย่างล่าสุดที่ Shopee ได้ทดลองชักชวนผู้ประกอบการในสิงคโปร์และมาเลเซียนำสินค้ามาขายไปประเทศเพื่อนบ้าน  โดยผ่านช่องทางของช้อปปี้เพื่อไปยังไทย เวียดนาม ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียได้เลย แถมในปี 2022 นี้ไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศ RCEP เขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลกด้วย ซึ่งมีประเทศมหาอำนาจ อย่างจีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลียอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย จึงยิ่งเป็นโอกาสให้ขยายธุรกิจไปต่างประเทศที่ไม่ใช่แค่ประเทศเพื่อนบ้านหรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

     การซื้อขายข้ามพรมแดนในยุคใหม่นั้นจะไม่ใช่รูปแบบที่ต้องสั่งนำเข้ามาทีละตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งทางเรือเหมือนเก่าและใช้เวลารอนาน แต่ลูกค้าสามารถสั่งออร์เดอร์ทีละชิ้นได้เลย รอแค่ไม่กี่วัน เพราะขนส่งทางอากาศ จึงนับเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่น่าสนใจต่อผู้ประกอบการอย่างมาก หากใครยังไม่ทำตลาดช่องทางนี้ ก็ควรทำได้แล้ว ซึ่งการที่แบรนด์จะสามารถทำการแข่งขันได้ในยุคที่คู่แข่งล้นทะลักเข้ามาจากทุกช่องทาง ก็คือ การสร้างเอกลักษณ์ให้แตกต่าง เน้นคุณภาพสินค้า ที่สำคัญ คือ สร้างการบริการที่ประทับใจ จนลูกค้าไม่อยากเปลี่ยนใจไปซื้อเจ้าอื่น

Social Commerce

Social Media เป็นช่องทางอีคอมเมิร์ซที่คนไทยนิยมใช้งานมากเป็นอันดับ 2 มีสัดส่วนอยู่ที่  21 เปอร์เซ็นต์

     โดยหากลองเทียบกับผู้บริโภคในประเทศอื่นๆ แล้ว ผู้บริโภคชาวไทยมีการซื้อสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียมากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยมีค่าเฉลี่ยสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ รองลงมา คือ เวียดนาม 36 เปอร์เซ็นต์ และอินโดนีเซีย 29 เปอร์เซ็นต์

     รูปแบบโมเดลโซเชียลมีเดียคอมเมิร์ซที่ไทยและประเทศในเอเชียใต้นิยมทำ คือ

  • ปิดการขายจบบนโซเชียลมีเดียเลย โดยใช้แอดมิน
  • พูดคุย ให้ข้อมูลกับลูกค้า เพื่อให้กลับไปสั่งซื้อบน Lazada กับ Shopee
  • การขายของผ่านแอพบางอย่าง เช่น TikTok ซึ่งในต่างประเทศเริ่มมีการพัฒนาให้สามารถกดปุ่มเลือกซื้อสินค้า และทำการชำระเงินครบจบในแอพได้เลย สร้างประสบการณ์ไร้รอยต่อให้กับลูกค้า โดยหากสนใจซื้อ ก็สามารถกดส่งได้เลย

 

      โดยหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของโซเชียลคอมเมิร์ซ คือ การใช้อินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งคนไทยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์มีการติดตามอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า ไม่ว่าจะเป็นดารา นักร้อง บุคคลมีชื่อเสียง ยูทูบเปอร์ แต่สำหรับในบ้านเรานั้น ณ ปัจจุบันการใช้อินฟลูเอนเซอร์กระตุ้นยอดขายจะทำแค่เพียงการบอกเล่าสื่อสาร ต่างจากในจีนหรือประเทศอื่นๆ ที่จะมีการไลฟ์ผ่านแพลตฟอร์มหากสนใจก็สามารถกดสั่งซื้อและชำระเงินได้เลยทันทีแบบไลฟ์รอยต่อ ทำกันเป็นอาชีพจริงจัง ไลฟ์ขายกันในมูลค่าสูงๆ ปริมาณเยอะๆ โดยไม่แน่ใจอนาคตบ้านเราอาจก้าวไปถึงจุดนั้นก็ได้

     สรุปจุดเด่นของโซเชียลคอมเมิร์ซ ก็คือ การได้รู้สึกสัมผัสกับคนจริงๆ ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ อุ่นใจ ไม่ว่าจะเป็นการตอบข้อสงสัย การให้คำปรึกษา หรือการรีวิวแนะนำก็ตาม ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรอัพเดตเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าและช่วยกระตุ้นยอดขายได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็อย่าละทิ้งหัวใจบริการด้วย จริงใจแค่ไหนผู้บริโภคสัมผัสได้

Quick Commerce

เป็นช่องทางอีคอมเมิร์ซที่มีการใช้งานมากเป็นอันดับ 3 ในไทย มีสัดส่วนอยู่ที่ 13 เปอร์เซ็นต์

     ซึ่งความจริงแล้ว Quick Commerce คือ การต่อยอดจากฟู้ดเดลิเวอรีที่เติบโตขึ้นมากในช่วงสองปีที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัลโควิด-19 ผู้คนเว้นระยะห่างใช้ชีวิตอยู่บ้านมากขึ้น การสั่งซื้ออาหารผ่านแอปฯ ต่างๆ ในช่องทางออนไลน์จึงเพิ่มมากขึ้น โดยหลังเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ยอดการเติบโตของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีในไทยปี 2020 เติบโตขึ้นมากกว่า 183 เปอร์เซ็นต์ โดยแอปพลิเคชั่นที่มีการเติบโตมากที่สุด คือ Grab = 50 เปอร์เซ็นต์ และ foodpanda = 23 เปอร์เซ็นต์

     แม้ปัจจุบันหลายคนจะเริ่มกลับมาทำงานและใช้ชีวิตภายนอกมากขึ้น แต่ความคุ้นชินดังกล่าวก็ยังคงอยู่ ฟู้ดเดลิเวอรีได้ทำให้พฤติกรรมผู้คนผูกติดกับซูเปอร์แอปเหล่านี้มากขึ้น จึงเป็นเหมือนตัวจุดระเบิดให้เกิดการเติบโตเพิ่มสูงขึ้น มีทราฟฟิกเยอะมากอยู่ในซูเปอร์แอป ดังนั้นอนาคตการต่อยอดธุรกิจของแอปฯ เหล่านี้จึงอาจไม่ใช่เพียงแค่การส่งอาหารเพียงอย่างเดียวต่อไป แต่อาจเป็นการจัดส่งสินค้าหรืออื่นๆ ที่เข้ามาตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการความรวดเร็วในรูปแบบโมเดลที่เรียกว่า “Quick Commerce” ก็ได้ จึงเป็นอีกช่องทางในอนาคตที่น่าสนใจให้ผู้ประกอบการขบคิดว่าจะสามารถใช้ประโยชน์จาก Quick Commerce ที่จะเกิดขึ้นนี้ได้ยังไง กลุ่มลูกค้าของเรามีพฤติกรรมความต้องการเพื่อใช้สินค้าหรือบริการเร่งด่วนอะไรไหม ถ้าหาเจอคุณก็จะได้เพิ่มยอดขายจากจุดนี้ได้มากทีเดียว

TEXT : เรียบเรียงจากงานสัมมนา “10 Ways  to improve your business”

ตอน : "สร้างจุดแข็งให้เหนือคู่แข่งบนโลกอีคอมเมิร์ช"

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน

SME ไทยจะอยู่รอดได้อย่างไรท่ามกลางสงครามการค้า

การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 125% โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้จุดชนวนสงครามการค้ารอบใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ดังนั้น SME ไทยจึงกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง ...แล้วเราจะอยู่รอดได้อย่างไร