เปิดใจทายาท ไอติมกะทิสดโกเกี๊ยะ จากผู้ที่หนีธุรกิจนี้ทั้งชีวิต สู่ผู้สืบตำนานไอติมต้นตำรับเจ้าแรกในเกาะสมุย

TEXT : Neung Cch.

PHOTO :  อธิวัฒน์ ไชยรัตน์ 

Main Idea

  • แม้จะเป็นไอติมรถเข็น แต่ความอร่อยระดับตำนานขนาดสายการบินบางกอกแอร์เวย์ต้องไปเขียนเชียร์ลงเพจ

 

  • เสน่ห์อยู่ที่การใช้กะทิที่คั้นจากมะพร้าวสองน้ำจากสมุยบวกกับสูตรโบราณจากชาวจีนไหหลำ ทำให้ไอติมกะทิสดโกเกี๊ยะขึ้นชื่อขนาดมีคนขอซื้อแฟรนไชส์

 

  • แต่ไอติมโกเกี๊ยะ เกือบเหลือแค่ตำนาน เมื่อผู้สืบทอดตำนานวันนี้ คือ ผู้ที่วิ่งหนีธุรกิจนี้ตลอดชีวิต

 

ตำนานบทที่ 1

จากนักกล้ามสู่พ่อค้าไอติม

     ถ้าบอกว่าไอติมกะทิสดโกเกี๊ยะ มาจากโกเกี๋ยะก็คงจะถูกแต่ไมใช่ทั้งหมด เนื่องจากไอติมนี้มีหลักฐานบันทึกไว้ว่าในปี พ.ศ. 2480 มีชาวไทยเชื้อสายจีน 3 คนคือ นายจิ้ว ไวทูรน์เกียรติ นายเชาว์ สถิตกุล และนายี เหลี่ยน ได้ทำสูตรและเทคนิคการทำไอศครีมซึ่งได้เรียนรู้มาจากสิงคโปร์มาประยุกต์เข้ากับวัตถุดิบพื้นบ้านชั้นดีคือมะพร้าวของเกาะสมุยจนกลายเป็นไอติมกะทิรสดี

     ด้วยความที่การทำไอติมแบบโบราณในยุคนั้นต้องใช้มือหมุนซึ่งต้องใช้พละกำลังค่อนข้างมากทั้งสามคนจึงออกกุศโลบายให้ ชัยสิทธิ์ เค้าสุวรรณ (โกเกี๊ยะ) ชื่นชอบในการเล่นกล้ามให้ไปช่วยหมุนไอติมเพื่อจะได้ทำให้กล้ามสวยขึ้น

     “จริงๆ พ่อผมไม่ได้ทำไอติม ชอบเล่นกล้าม เป็นคนยิงปืนแม่นมาก รับจ้างยิงกระรอกในสวนมะพร้าว เผอิญว่าคนจีนทั้งสามคนเริ่มอายุมากจะเลิกทำ ก็หลอกพ่อไปช่วยหมุนไอติมพร้อมกับสอนพ่อผมทำไอติม พ่อจึงได้วิชาติดตัวมาแล้วก็มาเริ่มทำขายตั้งแต่ปีพ.ศ. 2513 จน่สามารถส่งลูกทั้ง 3 คนเรียนจบ” โกเหมี่ยน-ธนสาร เค้าสุวรรณ ทายาทผู้สืบทอดกิจการจากโกเกี๊ยะ เล่าถึงที่มา

ตำนานบทที่ 2

จากคนที่หนีธุรกิจไอติมมาตลอดชีวิต

      โกเหมี่ยนสารภาพว่าตัวเขาเองหนีอาชีพนี้มาตลอดชีวิต ด้วยภาพจำในวัยเด็กที่เขารับรู้ได้ว่าอาชีพนี้ต้องลำบากขนาดไหนทั้งต้องตื่นแต่เช้า งานก็หนัก ต้องใช้ขวานเฉาะน้ำแข็งให้ละเอียด ปอกมะพร้าวคั้นกะทิ ปั่นมอเตอร์ไซด์พ่วงไปขาย ฯลฯ ประกอบกับเขาเป็นเด็กเรียนดีจึงออกจากเกาะสมุยไปศึกษาจนจบปริญญาตรีและได้ไปทำงานรับเหมากับแฟนที่ภาคอีสาน

     “ผมไม่อยากทำอาชีพนี้ผมหนีมาทั้งชีวิต แต่สุดท้ายก็ล้มกับธุรกิจรับเหมา หมดทุนไป  4-5 ล้าน ก็หอบเงินก้อนสุดท้ายประมาณสองแสนบาทกลับมาบ้าน  นั่งมึนกับชีวิตจนเหลือบไปเห็นเครื่องทำไอติมของพ่อแอบคิดในใจว่า “หรือว่าชีวิตเราแม่งจะหนีไม่พ้นวะ”

ตำนานบทที่ 3

หันมาเผชิญหน้า

     อาจเพราะฟ้าลิขิตหรือโชคชะตำกำหนดก็แล้วแต่เมื่อหนีไม่พ้นโกเหมี่ยนก็ตัดสินใจหันหน้าสู้ ปรึกษากับพ่อว่าเขาอยากทำไอติมขายแต่มีเงื่อนไขคือ ขอขายในแบบฉบับของเขา ซึ่งด้วยวัยของพ่อที่เริ่มแก่เริ่มอยากวางมือจึงไม่ขัดขวางแต่มีเพียงข้อแม้เดียว คือ “ห้ามเปลี่ยนสูตรไอติม”

     สัญญาลูกผู้ชายตกลงกันได้ โกเหมี่ยนก็เริ่มต่อยอดและพัฒนาไอติม ตั้งแต่ปรับแต่งรถให้ทันสมัยขึ้น ติดโลโก้ และเพิ่มรถมอเตอร์ไซด์จากหนึ่งคันเป็นสามคันพร้อมจ้างพนักงานขาย และรับทำไอติมตามงานเลี้ยง จัดส่งตามร้านอาหาร และสร้างเพจไอติมโก๊เกี๋ย

     “เรามีเพิ่มรสชาติไอติมอีก 3 รสคือ ไอติมกะทิทุเรียน ไอติมกะทิรวมมิตร ล่าสุดคิดสูตรกับคุณหมอ ไอติมกะทิใส่ใบกัญชาที่ได้มีโอกาสนำไอติมรสนี้ไปเปิดตัวที่งานอาหารเป็นยา มีหมอหลายท่านได้กินแล้วก็ชอบ มีถามว่าขายแฟรนไชส์ไหม ก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้เพราะมีหลายรายที่อยากจะร่วมทุนกับเรา”

ตำนานบทที่ 4

ผู้สืบตำนานและยกระดับไอติมรถเข็น

     นอกจากเพิ่มรสชาติแล้วโกเหมี่ยนยังได้เลือกใช้วัตถุดิบอย่างดี อาทิ โคนที่ใช้ใส่ไอติมก็ใช้เกรดเดียวกับของสเวนเซ่นส์ ทั้งนี้โกเหมี่ยนให้เหตุผลว่า “อยากให้คนกินได้กินของที่ดี ให้รู้ว่าไอติมรถเข็นไม่กระจอก อยากเปลี่ยนภาพลักษณ์สร้างภาพจำว่าเป็นไอติมคุณภาพ”

     ทั้งนี้โกเหมี่ยนยังวาดวาดฝันอนาคตไว้ว่าอยากพัฒนารถเข็นให้หลังคาเป็นโซลาเซลล์แล้ววางตู้เย็นในรถเข็นได้ และอยากจะพัฒนาธุรกิจนี้ไว้ส่งต่อให้กับลูกสาวเหมือนที่พ่อเขาทำธุรกิจนี้มาไว้ให้กับเขา

     “เคยคิดเหมือนกันว่าทำไมพ่อไม่เปิดร้านขายไอติม ตอนนี้ได้คำตอบแล้วเพราะมีค่าเช่าที่ แต่ขายรถเข็นแบบนี้ไม่มีค่าเช่าที่ แถมป็นธุรกิจเชิงรุก หากจุดนี้ลูกค้าหมดก็ไปจุดอื่นได้”

     “อยากทำให้เป็นโรงงานไอติมครบวงจร ตอนนี้ใช้วิธีซื้อกะทิ แต่ผมก็ต้องกำหนดสเปกทางร้านว่าต้องใช้มะพร้าวที่สอยมาเป็นลูกสีเขียว ไม่ใช่มะพร้าวหล่น กะทิมาผมดมก่อนเลย ผมแคร์กับพวกวัตถุดิบมาก ไอติมจะอร่อยไม่อร่อยอยู่กับพวกนี้มันเป็นสารตั้งต้น ซึ่งผมต้องคงคุณภาพไว้ขนาดมีโรงแรมมาติตต่อให้ตักไอติมใส่ลูกมะพร้าวทำเป็น welcome drink แต่ก็พลาดเพราะเรายังไม่มี อย. ตอนนี้ผมอายุ 48 ปีขอเวลาอีกประมาณ 5 ปี ทำทุกอย่างให้เป็นมาตรฐานขึ้น เพื่อเตรียมมอบให้ลูกสาวทำต่อ รอเขากลับมา เหมือนกลับที่พ่อรอผมกลับมา”

     เมื่อได้มาคลุกคลีกับธุรกิจไอติมกว่า 5 ปี โกเหมี่ยนก็ยอมรับว่าธุรกิจนี้ยังไปได้อีกไกล

     “สินค้ามีอายุเกือบร้อยปีถ้าไม่แน่จริงอยู่ไม่ได้ ถ้าคนไม่ยอมรับ ไม่มีคุณภาพ ไม่อร่อย จะส่งลูกเรียนจบมาได้ไงทั้งสามคน” โกเหมี่ยนกล่าวทิ้งท้าย

ไอติมโกเกี๊ยะ

https://web.facebook.com/profile.php?id=100069521911228&ref=page_internal

โทร. 095 419 8908

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน