รู้จักของดี 4 ภาค เบื้องหลังเรื่องราวที่ซ่อนอยู่แต่ละท้องถิ่น

TEXT : กองบรรณาธิการ

Main Idea

  • นอกจากการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนและหาประสบการณ์ใหม่ๆ เพิ่มเติมให้กับชีวิตแล้ว อีกสิ่งที่นักเดินทางหลายคนมักทำเสมอ คือ หาของฝากดีๆ ติดไม้ติดมือกลับไปฝากผู้ที่รักและห่วงใยด้วย

 

  • โดยในแต่ละภูมิภาคของไทย ล้วนมีของดีมากมาย นอกจากสินค้าน่าสนใจแล้ว ยังมีเรื่องราวเบื้องหลังดีๆ ที่ซ่อนอยู่ของแต่ละท้องถิ่นให้เราได้ไปทำความรู้จักกันด้วย

        

    

     ใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่เข้ามาทุกที นอกจากวางแผนไปท่องเที่ยวแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนมักทำหลังจากเดินทางกลับแล้ว ก็คือ การหาซื้อของฝากให้กับครอบครัว ญาติมิตรสหาย ซึ่งใน 77 จังหวัดของไทยนั้นล้วนมีของดีมากมาย ทั้งที่ผลิตจากกลุ่มชุมชนชาวบ้าน ไปจนถึงผู้ประกอบการในจังหวัดต่างๆ วันนี้เลยอยากมาแนะนำตัวอย่างของฝากขึ้นชื่อใน 4 ภูมิภาค เหนือ กลาง อีสาน ใต้ มาฝากกัน เผื่อใครสนใจอยากซื้อติดไม้ติดมือกลับไปบ้าง

ภาคกลาง

     ขนมสาลี่ – สุพรรณบุรี บ้างก็เรียกว่า “ขนมปุยนุ่น” เพราะเวลากินแล้วนุ่มนิ่มเหมือนชื่อ เป็นของฝากและขนมอีกชนิดที่โด่งดังของจังหวัดสุพรรณบุรี โดยประวัติของเจ้าขนมสาลี่นั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีต้นกำเนิดมาจากอำเภอบางปลาม้า เป็นขนมที่มักใช้กินคู่กับน้ำแข็งไสหรือไอศกรีมกะทิ ซึ่งรสแรกๆ ที่ทำกันมา ก็คือ กลิ่นนมแมว อย่างเดียว แต่ต่อมาได้ตัดแปลงเป็นรสชาติต่างๆ เอาใจผู้บริโภค เช่น ใบเตย, กาแฟ, มะลิ, ส้ม, ลิ้นจี่ เจ้าดังขึ้นชื่อ ก็ ร้านสาลี่เอกชัย นั่นเอง

     โมจิ – นครสวรรค์ ชื่อญี่ปุ่น แต่ตัวอยู่ไทย ซึ่งถึงแม้ชื่อจะเหมือนกัน แต่ขนมโมจิ นครสวรรค์กับที่ญี่ปุ่นก็แตกต่างกัน โดยขนมโมจิของนครสวรรค์นั้น เรียกอีกชื่อ คือ “ขนมเปี๊ยะนมข้น” ซึ่งจริงๆ ก็มีลักษณะคล้ายกับขนมเปี๊ยะทั่วไป แต่ต่างกันที่จะใช้แป้งสาลีและมีนมข้นหวาน นมสด เนยเป็นส่วนผสม จึงทำให้มีรสสัมผัสที่นุ่มกว่านั่นเอง ส่วนขนมโมจิของญี่ปุ่นนั้นทำมาจากข้าวเหนียวที่นึ่งสุก มักนิยมนำไปตำด้วยครกไม้ ให้ได้เป็นแป้งที่เหนียวและจึงนำมาปั้นเป็นก้อนกลม

     วุ้นคุณอุ๊ – นครปฐม เป็นร้านขายวุ้นที่เราอาจเคยได้เห็นสาขาตามที่ต่างๆ มากมาย แต่จริงๆ แล้ววุ้นคุณอุ๊ร้านแรกต้นตำรับดั้งเดิมนั้นเริ่มต้นมาจากที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งเริ่มต้นมาจากร้านเล็กๆ โดยมีสูตรมาจากต้นตำรับ คุณอุ๊ (วิลาวรรณ วัชรารัตน์) ซึ่งเป็นรุ่นแม่ ต่อมาจึงได้ลูกสาวมาช่วยปรับปรุงรูปแบบให้หลากหลายมากขึ้น จนเป็นที่รู้จักโด่งดังในที่สุด โดยวุ้นที่ขึ้นชื่อขายดี ก็คือ วุ้นเป็ด

     โรตีสายไหม – อยุธยา เคยคิดสงสัยไหมว่าเหตุใดโรตีสายไหมจึงกลายมาเป็นของฝากชื่อดังของจังหวัดอยุธยาไปได้ถึงขั้นมีร้านได้รับรางวัลมิชลินสตาร์ โดยว่ากันว่าจุดเริ่มต้นของโรตีสายไหมในอยุธยานั้นแท้จริงแล้วเริ่มต้นมาจากพี่น้องชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในอยุธยา ซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้วโรตีสายไหม คือ ขนมของคนแขกในกลุ่มเปอร์เซียร์ อินเดีย และชาวมุสลิมนั่นเอง

ภาคเหนือ

     ขนมเกลียว และ ถั่วทอด – สุโขทัย ใครมีโอกาสได้แวะผ่านไปยังจังหวัดสุโขทัย อย่าลืมซื้อขนมท้องถิ่นขึ้นชื่ออย่าง “ขนมเกลียว” และ “ขนมถั่วทอด” ติดมือกลับมาด้วย เริ่มจากอย่างแรก คือ ขนมเกลียว เป็นขนมของชาวสุโขทัย โดยทำมาจากแป้งหมี่ผสมกับไข่ จากนั้นปรุงรสด้วยพริกไทย เกลือ และจึงนำมาปั้นเป็นเกลียว เพื่อทอดให้กรอบ แล้วจึงนำมาบรรจุถุงขายเป็นของกินเล่น สามารถซื้อได้ตามร้านของฝากทั่วไปในสุโขทัย หรือที่แหล่งผลิตที่ร้านครูแอ๊ว ก็ได้ มาถึงอย่างที่สอง คือ ถั่วทอด กันบ้าง เป็นของฝากขึ้นชื่อของอำเภอศรีสำโรง โดยว่ากันว่าถั่วทอดของสุโขทัยนั้นอร่อยล้ำ เพราะสืบทอดวิธีการทำมาจากบรรพบุรุษเมื่อร้อยกว่าปีก่อน จนมีการขนานนามว่า ถั่วทอดสองร้อยปีบ้าง โดยตัวถั่วทอดนั้นจะใช้เป็นแป้งข้าวเจ้าผสมแป้งหมี่ จากนั้นใส่กะทิ เกลือ ที่สำคัญมีกลอยหั่นผสมลงไปด้วย เจ้าดังที่เป็นแหล่งผลิตเลยก็คือ ร้านลอนศิลป

     น้ำพริกน้ำย้อย - แพร่ น้ำพริกชื่อดังที่เมื่อ 2-3 ปีก่อนเป็นที่พูดถึงกันมาก โดยมีต้นกำเนิดจาก อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ตัวน้ำพริกจะทำมาจากพริกป่น หอมแดง และกระเทียมหั่นบางๆ เสร็จแล้วจึงนำมาทอดกรอบและปรุงรส ซึ่งจริงๆ แล้วน้ำพริกน้ำย้อยมักเป็นน้ำพริกที่ชาวแพร่นำมากินคู่กับขนมจีน หรือเรียกว่า ขนมเส้น เพื่อเพิ่มรสชาติให้อร่อยขึ้น กินคู่กับผักแนมด้วยนั่นเอง

     ถั่วแปยี แปหล่อ - แม่ฮ่องสอน เป็นถั่วที่ว่ากันว่าได้สายพันธุ์มาจากพม่า โดยลักษณะคล้ายกับเมล็ดถั่วเหลือง แต่จะมีขนาดใหญ่และแข็งกว่า มีโปรตีนสูง โดยการทำถั่วแปยีจะนำเฉพาะเมล็ดด้านในมาทอดน้ำมันจนเหลืองกรอบ ส่วนถั่วแปหล่อนั้น คือ การนำเมล็ดไปคั่วทั้งเปลือก โดยมักจะนำมาเป็นของขบเคี้ยวกินเล่น เป็นของขึ้นชื่อของอำเภอแม่สอด จังหวัดแม่ฮ่องสอนนั่นเอง

     กล้วยตาก – พิษณุโลก ถ้าพูดถึงกล้วยตากขึ้นชื่อ ก็ต้องนึกถึงจังหวัดพิษณุโลก โดยแหล่งผลิตกล้วยตากชื่อดังนั้นอยู่ที่อำเภอบางกระทุ่ม พันธุ์กล้วยที่นำมาทำกล้วยตาก ก็คือ กล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่อง ซึ่งว่ากันว่าจริงๆ แล้วนำมาจากจังหวัดฉะเชิงเทรา ด้วยดินที่ดีเหมาะแก่การปลูกกล้วยน้ำหวาน และยังมีแสงแดดที่เพียงพอ จึงทำให้กล้วยตากของบางกระทุ่มเนื้อนุ่ม รสชาติดีนั่นเอง

ภาคอีสาน

     หมูยอ – อุบลราชธานี ถ้าพูดถึงหมูยอขึ้นชื่อแล้วละก็ ต้องหมูยออุบล ซึ่งมีเอกลักษณ์และรสชาติเป็นของตัวเอง โดยเป็นสูตรที่ทำออกมาได้ใกล้เคียงกับต้นตำรับจากหมูยอของชาวเวียดนามมากที่สุดนั่นเอง เนื่องจากที่อุบลราชธานีในอดีตมีชาวเวียดนามอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยหมูยอของที่นี่จะมีให้เลือก 2 แบบ คือ หมูยอเนื้อ จะใช้เนื้อหมูล้วน และหมูยอหนัง จะมีการใส่หนังหมูเข้าไปด้วยเพื่อให้เวลาเคี้ยวจะมีความหนึบมากกว่า โดยมีให้เลือกหลายเจ้าเช่นกัน อาทิ ตองหนึ่ง, แม่ทองใบ, ดาวทอง, แม่ฮาย, วลัยทิพย์ เป็นต้น

     หม่ำ – ชัยภูมิ เป็นอาหารชนิดหนึ่งของชาวอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นวิธีการถนอมอาหารคล้ายกับการทำไส้กรอก เพียงแต่หม่ำจะใส่ตับและม้ามเข้าไปด้วย จึงทำให้มีสีเข้มกว่า โดยมีเรื่องเล่าว่ามีต้นกำเนิดจากนายพรานที่ไปล่าสัตว์หาของป่า ก่อนที่จะนำเนื้อสัตว์กลับมาบ้านให้ภรรยา เพื่อไม่ให้เน่าเสีย จึงต้องมีการนำมาถนอมอาหาร โดยสับให้ละเอียดและใส่เกลือ กระเทียม พอภรรยาได้ชิมแล้วติดใจ จึงมีการนำมาลองกินเองที่บ้านและเป็นที่แพร่หลายขึ้นมา จนกลายเป็นของดีประจำจังหวัดและสินค้า OTOP ในที่สุด ซึ่งหากใครมาแล้วไม่ได้ชิม ก็เหมือนมาไม่ถึงชัยภูมิ เหมือนที่ไปทางเหนือแล้วไม่ได้กินแคปหมู น้ำพริกหนุ่มนั่นเอง

     มะพร้าวแก้ว – เลย ถ้าพูดถึงมะพร้าวแก้วชื่อดังที่มีความนุ่มหวานอร่อย แทบจะละลายในปากแล้วละก็ เป็นที่อื่นไปไม่ได้เลย นอกจาก “มะพร้าวแก้ว แก่งคุดคู้” อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย โดยมะพร้าวของที่นี่นั้นจะคัดเกรดเฉพาะมะพร้าวอ่อน โดยจะแบ่งเป็นเกรด A คือ ชิ้นบางและนุ่มมาก กิโลกรัมละ 260-300 บาท และเกรด B ชิ้นจะหนาขึ้นมาหน่อย แต่ก็ยังคงความนุ่มไว้ แตกต่างจากมะพร้าวแก้วส่วนใหญ่ที่มักจะแข็งๆ ที่เราเคยกินมา เนื่องจากมีการทำเป็นอาชีพเสริมกันมากจึงกลายเป็นสินค้า OTOP ของจังหวัดไปในที่สุด เมื่อได้รับความนิยมมากขึ้น วัตถุดิบไม่เพียงพอ จึงนำเข้ามาเพิ่มจากจังหวัดเพชรบูรณ์และหนองคายด้วย ใครได้ไปอย่าลืมแวะซื้อเป็นของฝากกลับมาด้วย

     หมี่โคราช – นครราชสีมา มาโคราช ก็ต้องกินหมี่โคราช นอกจากเป็นอาหารยอดนิยมของคนที่นี่แล้ว ยังเป็นของฝากประจำจังหวัดด้วย โดยที่มาของหมี่โคราชนั้นว่ากันว่าเป็นวิธีการถนอมอาหารรูปแบบหนึ่ง ซึ่งแต่เดิมนั้นชาวนครราชสีมามีการปลูกข้าวเจ้ากันมาก นอกจากสีข้าวไว้กินเอง และจำหน่ายแล้ว จึงนำมาทำเป็นเส้นหมี่แห้งเก็บไว้รับประทานด้วย โดยเอกลักษณ์ของหมี่โคราช คือ เส้นแบน สีขาว มีความเหนียว นุ่ม คล้ายกับเส้นเล็ก โดยหมี่โคราชของแท้นั้นจะไม่ใส่ไข่ กุ้งแห้ง ถั่วลิสง และเต้าหู้เหมือนกับผัดไทยและผัดหมี่ทั่วไป แต่จะผัดปรุงกับน้ำซอสสูตรเด็ด และผัดกับถั่วงอก ใบกุยช่าย

ภาคใต้

     เครื่องแกงบ้านลำพาย - พัทลุง นอกจากเป็นจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลไม้และผลผลิตจากท้องทะเลแล้ว พัทลุงยังถือเป็นแหล่งผลิตเครื่องแกงราชาติดี จัดจ้าน อีกด้วย โดยเฉพาะของแบรนด์ “บ้านลำพาย” ซึ่งเอกลักษณ์ของที่นี่จะใช้พริกขี้นก ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นบ้านของพัทลุงมาใช้ตำเป็นเครื่องแกง โดยไม่มีการใส่สารเจือสีหรือกันบูดทำให้ปลอดภัยต่อผู้รับประทาน มีให้เลือกทั้งแกงส้ม แกงเผ็ด และแกงกะทิ บ้านไหนที่ชื่นชอบแกงใต้ หรืออาหารรสจัด ไม่ควรพลาดที่จะซื้อติดมือไว้มาเป็นของฝาก หรือไว้ใช้ปรุงอาหารที่บ้านด้วย

     ข้าวเกรียบกือโป๊ะ - ปัตตานี, นราธิวาส เป็นอีกของดีของภาคใต้ จะเรียกว่า กือโป๊ะ, กรือโป๊ะ หรือ กะโป๊ะ ก็ได้ เป็นภาษายาวี (มลายู) แปลว่า “ข้าวเกรียบ” โดยทำมาจากเนื้อปลาทูสด ผลผลิตจากท้องทะเล เป็นของกินเล่นรสชาติอร่อยที่นิยมกินกันมากในจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส โดยมักกินกับน้ำจิ้มรสหวานเผ็ด ซึ่งนอกจากการผลิตรสธรรมชาติแบบดั้งเดิมแล้ว ปัจจุบันมีการนำมาพัฒนาบรรจุหีบห่อทันสมัย และเพิ่มรสชาติให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ด้วย เช่น ข้าวเกรียบกือโป๊ะ รสสไปซี่ เป็นต้น

     เค้กเมืองตรัง ตรัง มีต้นกำเนิดจากบ้านลำภูรา อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง เป็นเค้กที่ถูกพัฒนามาจากขนมไข่ของคนจีนไหหลำ ซึ่งมักทำไว้เพื่อรับประทานกับชาและกาแฟในตอนเช้า โดยเอกลักษณ์ คือ ตัวเค้กจะมีรูตรงกลาง เป็นเค้กที่ไม่ได้ใส่ผงฟู และสารกันบูด รสชาตินุ่ม หวานละมุน จนกลายเป็นของดีประจำจังหวัดถึงขึ้นมีการจัดงานเป็นงานเทศกาลเค้กเมืองตรัง และชมรมขนมเค้กจังหวัดตรัง ขึ้นมากันเลยทีเดียว เพื่อรักษาคุณภาพมาตรฐานและวัฒนธรรมสืบต่อไป

     เต้าส้อ ภูเก็ต, พังงา เป็นขนมของชาวจีนฮกเกี้ยนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดพังงาและภูเก็ต โดยว่ากันว่าเป็นขนมที่มักทำขึ้นมาเพื่อรับประทานเป็นของว่างยามบ่ายกับน้ำชา กาแฟ ซึ่งหากมองดูภายนอกผิวเผินแล้วเต้าส้อนั้นจะมีลักษณะคล้ายกับขนมเปี๊ยะ แต่จริงๆ แล้วจะต่างกันที่ขนาดและไส้ โดยเต้าส้อจะมีขนาดเล็กกว่าไส้จะทำจากถั่วเขียว มีทั้งไส้เค็ม และไส้หวาน ส่วนขนมเปี๊ยะไส้จะทำจากฟักทอง หรือถั่วเหลือง โดยปัจจุบันเต้าส้อมีการพัฒนาไส้ให้มากขึ้น โดยนำผลไม้ต่างๆ มาเป็นส่วนผสมด้วย เช่น ไส้ทุเรียน ซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน