Wanchai Ferry wontons แบรนด์ติ่มซำในตำนาน ผู้สร้างตนจากยาจกจนกลายเป็นมหาเศรษฐี

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

Main Idea

  • พลังของความเป็นแม่นั้นยิ่งใหญ่เสมอ โดยเฉพาะคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้นทุนชีวิตไม่ได้สูงมากและต้องปากกัดตีนถีบเพื่อนำพาครอบครัวให้อยู่รอด เช่นเดียวกับเรื่องราวของ “ซาง เจี้ยนเหอ” หญิงชาวจีนที่ผู้เป็นต้นกำเนิดเกี๊ยวกึ่งสำเร็จรูป “ท่าเรือหวั่นไจ๋” (Wanchai Ferry wontons)

 

  • จากรถเข็นเล็กๆ ขายเกี๊ยวที่ท่าเรือหวั่นไจ๋ในฮ่องกงจนกลายเป็นแบรนด์ดังระดับโลกที่ครองส่วนแบ่งกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของตลาดอาหารกึ่งสำเร็จรูปประเภทติ่มซำทั่วโลก ไปดูเส้นทางความสำเร็จของซาง เจี้ยนเหอ หรือมาดามชอง เจ้าของฉายา “ราชินีเกี๊ยว” กัน

 

     ซาง เจี้ยนเหอ หรือที่คนฮ่องกงรู้จักในชื่อ มาดามชอง พื้นเพเป็นชาวมณฑลชานตงทางเหนือของจีน เกิดในครอบครัวยากจนที่มีแม่คนเดียวเลี้ยงดูเธอกับน้องสาว เธอช่วยแม่ทำงานตั้งแต่เด็กและหยุดเรียนตั้งแต่อายุ 15 เพื่อทำงานหาเงินเสียสละให้น้องสาวเรียนหนังสือ เจี้ยนเหอได้งานเป็นผู้ช่วยพยาบาลและหารายได้พิเศษทุกทาง จนกระทั่งครอบครัวเริ่มเงยหน้าอ้าปาก มีบ้านเป็นของตัวเอง และน้องสาวเรียนจบมีงานทำ

     ในวัย 22 ปี เจี้ยนเหอพบรักและแต่งงานกับชายชาวไทยเชื้อสายจีนที่ไปทำงานที่โรงพยาบาลเดียวกัน ทั้งคู่มีลูกสาวด้วยกัน 2 คน และภายหลังได้ย้ายครอบครัวกลับไปอยู่ที่ไทย แต่ด้วยปัญหาบางประการทำให้เจี้ยนเหออยู่กับครอบครัวสามีไม่ได้ เธอตัดสินใจเลิกรากับสามีชาวไทยและหอบลูก 2 คนไปปักหลักที่ฮ่องกงโดยไม่กล้ากลับไปพบครอบครัวที่เมืองชิงเต่าในจีน

    จุดเริ่มต้นของการปากกัดตีนถีบเริ่มขึ้นที่ฮ่องกง ในฐานะแม่เลี้ยงเดี่ยว เจี้ยนเหอซึ่งยังพูดภาษากวางตุ้งไม่ได้ต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการงานใช้แรงงานเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นรับจ้างทำความสะอาด ล้างจานในร้านอาหารที่ทำตอนกลางวัน ส่วนกลางคืนไปรับจ้างเฝ้าไข้ตามโรงพยาบาล เธอทำงานหนักมากจนแทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน กระทั่งวันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุทำให้บาดเจ็บที่หลัง ต้องพักฟื้นอยู่นาน เมื่อเพื่อนคนหนึ่งมาเยี่ยมที่ห้องเช่า เจี้ยนเหอได้ทำเกี๊ยวเลี้ยงเพื่อนเพื่อแสดงความขอบคุณแล้วได้รับคำชมว่าเกี๊ยวอร่อยมาก สามารถทำขายได้เลย 

     เจี้ยนเหอซึ่งกำลังตกงานและไม่มีรายได้นำคำพูดของเพื่อนไปคิดและตัดสินใจว่าเริ่มอาชีพใหม่ด้วยการขายเกี๊ยว เธอต่อรถเข็นขึ้นมาและทำเกี๊ยวสูตรจากจีนอย่างสุดความสามารถแล้วเข็นไปขายครั้งแรกบริเวณท่าเรือหวั่นไจ๋เมื่อปี 1978 ผลตอบรับดีมาก คุณภาพของเกี๊ยวที่ลูกใหญ่ไส้แน่นทำให้ลูกค้าบอกต่อกันปากต่อปาก ทำให้เกี๊ยวขายดีมากลูกค้าต่อแถวยาวเพื่ออุดหนุน

     ชื่อเสียงของเกี๊ยวรถเข็นริมถนนขจรไกลกระทั่งปี 1982 ห้างสรรพสินค้าไดมารูของญี่ปุ่นที่มีสาขาในฮ่องกงติดต่อมาเพื่อขอทำธุรกิจด้วยโดยเป็นฝ่ายออกทุนสร้างโรงงานผลิตให้ในฮ่องกง นั่นจึงเป็นจุดกำเนิดของเกี๊ยวแช่แข็งแบรนด์ “ท่าเรือหวั่นไจ๋” (Wanchai Ferry wontons) ที่ส่งขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ โรงงานท่าเรือหวั๋นไจ๋เติบโตอย่างรวดเร็วพร้อมกับความนิยมในผลิตภัณฑ์ และฉายา “ราชินีเกี๊ยว” ที่สื่อมวลชนฮ่องกงมอบให้ซาง เจี้ยนเหอ หรือมาดามชอง

     เจี้ยนเหอกล่าวว่าที่ธุรกิจประสบความสำเร็จเธอต้องขอบคุณลูกค้าชาวฮ่องกงที่อุดหนุนและติชม โดยเธอได้นำคำแนะนำต่าง ๆ มาปรับปรุงจนได้รสชาติที่ถูกใจมหาชน “ฉันถือว่าคนที่วิพากษ์วิจารณ์เกี๊ยวของฉันเป็นมิตรสหายเพราะพวกขามีส่วนช่วยฉันในการพัฒนาสินค้าทั้งด้านรสชาติและคุณภาพให้ลงตัวจนถึงทุกวันนี้”

     ปี 1997 ที่ฮ่องกงถูกส่งกลับคืนให้จีน ในเวลานั้น โรงงานท่าเรือหวั่นไจ๋ก็ขยายไป 5 แห่งและครองส่วนแบ่งตลาดเกี๊ยวแช่แข็งในฮ่องกงมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ และเตรียมขยายตลาดไปยังจีนแผ่นดินใหญ่โดยมีบริษัทพิลส์เบอรี่ ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตอาหารตั้งแต่อาหารเช้าไปจนถึงขนมหวานหลังมื้อค่ำของสหรัฐฯ เข้ามาถือหุ้น 70 เปอร์เซนต์ในโรงงานท่าเรือหวั่นไจ๋และอัดฉีดเงินลงทุนสร้างโรงงานในจีนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นโดยมีเป้าหมายเจาะตลาดจีน

     จนในที่สุดผลิตภัณฑ์เกี๊ยวแช่แข็งภายใต้แบรนด์ท่าเรือหวั่นไจ๋ก็วางจำหน่ายครั้งแรกในนครกวางโจว เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง จากเกี๊ยวแช่แข็งก็มีการเพิ่มไลน์อาหารไปยังเมนูติ่มซำต่าง ๆ จนได้รับความนิยมอย่างมากตามเมืองใหญ่ ๆ ของจีน และเริ่มมีการเล็งไปยังตลาดสหรัฐฯ หลังจากที่บริษัทเจเนอรัล มิลล์ ผู้แปรรูปอาหารรายใหญ่ของสหรัฐฯ เข้ามาซื้อกิจการพิลส์เบอรี ช่วงเวลาที่อาหารจีนกำลังบูมในสหรัฐฯ แต่กลับไม่มีอาหารจีนพร้อมรับประทานหรือแช่แข็งจำหน่าย ภายใต้การกุมบังเหียนของเจเนอรัล มิลล์ ผลิตภัณฑ์อาหารจีนพร้อมรับประทานแบรนด์ท่าเรือหวั่นไจ๋ก็ถูกแนะนำเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯในปี 2007 โดยปีแรกก็โกยรายได้ไปเหนาะ ๆ 50 ล้านดอลลาร์  

     นับจากนั้น สินค้าแบรนด์ท่าเรือหวั่นไจ๋ก็ขยายไปยังตลาดประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมีผลิตภัณฑ์หลากหลายให้เลือกตั้งแต่ติ่มซำ และอาหารจีนต่าง ๆ โดยเฉพาะเกี๊ยวต้นตำรับจากมาดามชองยังคงเป็นสินค้าขายดีของแบรนด์ เรียกว่าเกือบทุกบ้านต้องมีติดตู้เย็น และเป็นแบรนด์ที่สามารถครองส่วนแบ่งกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของตลาดอาหารกึ่งสำเร็จรูปประเภทติ่มซำทั่วโลก แม้ซาง เจี้ยนเหอ หรือมาดามชองจะเสียชีวิตไปแล้วด้วยวัย 73 ปีเมื่อปี 2019 แต่ชาวฮ่องกงก็ยังจดจำเธอในฐานะราชินีเกี๊ยวผู้สร้างตนจากยาจกจนกลายเป็นมหาเศรษฐี และยังรำลึกถึงเธอในฐานะผู้ให้กำเนิดแบรนด์ท่าเรือหวั่นไจ๋ และเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ชาวเกาะฮ่องกง

ที่มา : https://www.scmp.com/news/hong-kong/society/article/2185766/hong-kongs-dumpling-queen-chong-kin-wo-dies-aged-73

https://www.weekinchina.com/2019/02/frozen-assets/

https://www.generalmills.com/news/stories/how-wanchai-ferry-got-its-start

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน