อย่าหาทำ! ถ้าไม่อยากให้ธุรกิจเฟล เรื่องเล่าจาก 3 แบรนด์ที่เคยพลาด หากย้อนเวลาไปได้จะไม่ทำเด็ดขาด

TEXT : Sir.nim

PHOTO : Sunun

     ทำธุรกิจมาจนถึงทุกวันนี้ เคยถามตัวเองกันไหมว่า หากให้ย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้ มีอะไรบ้างในวันนั้นที่คุณจะไม่คิดทำอย่างแน่นอน เชื่อว่าทุกธุรกิจย่อมเคยผ่านเรื่องราวเฟลๆ กันมาบ้าง เพื่อถ่ายทอดให้เป็นประสบการณ์ วันนี้เรามี 3 บทเรียนที่ (หากเลือกได้) อย่าหาทำ จาก 3 แบรนด์ มอลคาม, Nimnim Noodle และทายาทผัดหมี่ไท-ยวน ตรา ป้าแวม มาเล่าให้ฟังกัน

ไม่อยากขายดี จนเจ๊ง บัญชี การเงินต้องแม่น

นพเก้า อยู่ภักดี

เจ้าของน้ำมะขามเปียกสำเร็จรูป แบรนด์ มอลคาม

     เรื่องที่หนึ่ง : เป็นเรื่องใกล้ตัวที่หลายคนมองข้ามและมักกลายเป็นเรื่องใหญ่ จนทำให้เกิดคำที่ได้ยินในวงการค้าขายบ่อยๆ คือ “ขายดี จนเจ๊ง”

     “สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการธุรกิจส่วนใหญ่มักมุ่งไปหาก่อนเลย ก็คือ การทำยอดขายให้ได้เยอะๆ แต่จริงๆ แล้วอีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันและจำเป็นอย่างยิ่งก่อนไปทำอย่างอื่น คือ การเงินและการบัญชี ไม่ถึงขนาดต้องมีความรู้ทางบัญชีมาก แต่ผู้ประกอบการควรรู้ให้ได้ว่า จริงๆ แล้วสินค้าที่เรากำลังทำอยู่นี้ ต้นทุนที่ต้องจ่ายจริงๆ คือ เท่าไหร่ มีอะไรบ้าง กระแสเงินสดของธุรกิจเป็นยังไง กำไรที่ได้จริงๆ มีเท่าไหร่ คุ้มกับที่ลงทุนไปหรือเปล่า เราเห็นมาหลายบริษัทแล้ว กับคำว่า “ขายดี จนเจ๊ง” เพราะคำนวณค่าใช้จ่ายไม่ดีพอ

     “ซึ่งผู้ประกอบการควรประเมินศักยภาพตัวเองให้ดี ก่อนคิดจะทำอะไรก็ตาม อย่ามองแต่ยอดขายที่จะเข้ามา บางทีอาจทำให้เราหลงกลได้ เหมือนกับธุรกิจของเราเองก่อนหน้าโควิด-19 เวลาทำอะไร เราก็คิดการณ์ใหญ่เหมือนกัน เวลาอยากทำโปรเจกต์อะไร ก็คิดแบบใหญ่ๆ ไว้ก่อน เติมเข้าไปให้สุด ให้ดีที่สุดไว้ก่อน ช่องทางไหนจะหาเงินมาลงทุนได้ เราลองดูหมด จนเจอกับวิกฤต ในวันที่ทุกอย่างหยุดชะงัก เงินใหม่ไม่มีเข้า เงินเก่าก็ต้องเอาออกมาใช้ เหมือนเรานั่งเผารถเบนซ์ทิ้งไปทุกเดือนๆ หลังจากนั้นมาเลยเป็นบทเรียนว่า จริงๆ ลองเริ่มจากเล็กๆ ไปก่อนก็ได้ มันก็ทำได้เหมือนกัน และถ้าดีก็ค่อยไปต่อ ถ้าไม่ดี ก็หยุด ไม่ต้องสูญเงินไปมาก นี่คือ สิ่งที่อยากบอกทุกคน”

     อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/9461.html

ชื่อแบรนด์มีผลต่อการโกอินเตอร์

อุมาพร บูรณสุขสมบัติ

เจ้าโปรตีนเส้นไข่ขาว แบรนด์ Nimnim Noodle

     เรื่องที่สอง : ที่อยากให้ระวัง คือ ทรัพย์สินทางปัญญา ยิ่งถ้าเป็นสินค้านวัตกรรม ควรมีการจดลิขสิทธิ์ตั้งแต่เริ่มต้น ไปจนถึงการสร้างแบรนด์ ควรคิดเผื่อไว้เลยว่า ธุรกิจของเราอาจไม่ได้อยู่แค่ในประเทศก็ได้

     “อันนี้อยากแชร์ให้ฟัง จากแบรนด์ของเราเอง Nimnim Noodle (นิ่มนิ่ม) จริงๆ ตอนแรกที่คิด ด้วยความที่ทำงานมาสายนักวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เก่งแบรนด์ดิ้ง เราก็แค่อยากได้ชื่อที่จำง่าย เหมือนชื่อแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อดัง เขาก็ใช้เป็นคำซ้ำ 2 พยางค์ ด้วยความที่ตอนทดลองเราจะพูดติดปากบ่อยๆ ว่า “เออ มันนิ่มๆ ดีเนอะ” ก็เลยเอาชื่อนี้มาใช้ แต่พอวันนี้ที่จะไปตลาดต่างประเทศ ต่างชาติเขาไม่เก็ท อีกอย่างเขาไม่ให้ใช้ชื่อที่บอกถึงเทคเจอร์ หรือคุณสมบัติของสินค้า จริงๆ เราสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ เพราะเราไม่ได้ต้องการสื่อว่ากินแล้วดียังไง ไม่ได้จะโฆษณา แต่ก็ต้องตามทำทุกประเทศ มันเหนื่อย และมีค่าใช้จ่ายเยอะด้วย ก็เลยอาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างสำหรับแบรนด์ เพื่อให้สามารถทำตลาดได้กว้างกว่านี้ ให้ธุรกิจไปต่อได้ จริงๆ แอบกังวลเหมือนกัน แต่ก็เชื่อมั่นว่าในเมื่อเราตั้งใจทำสินค้าออกมาให้ดีที่สุดแล้ว คิดไว้รอบด้าน ทั้งมีประโยชน์ และอร่อย ยังไงสินค้าก็ขายตัวเองได้ ไปต่อได้แน่นอน”

     อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/7465.html

อย่ารีบเปิดบริษัท ถ้าคิดว่ายังไม่พร้อม

วีรวัฒน์ วรนิวัฒน์

ทายาท ผัดหมี่ไท-ยวน ตรา ป้าแวม

     เรื่องที่สาม : มาจากทายาทผัดหมี่ไท-ยวน ตรา ป้าแวม ที่แม้จะล้มลุกคลุกคลานกับการปั้นธุรกิจมาหลายครั้งแต่ วีรวัฒน์ หาได้หยุดความฝันของการเป็นนักธุรกิจลง ตรงกันข้ามฝันของเขากลับยิ่งใหญ่กว่าเดิม หลังจากเก็บหอมรอบริบกับชีวิตออฟฟิศได้ 4 ปี ก็ตัดสินใจลาออกมาทำธุรกิจอีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นการลาออกเพื่อมาเปิดบริษัทของตัวเอง สร้างโรงงาน เตรียมทุกอย่างให้พร้อมสำหรับการทำธุรกิจอย่างจริงจัง

     “เป็นความผิดพลาด บทเรียนราคาแพง ย้อนเวลาไปได้จะไม่ทำเลย เปิดบริษัทรับคนมา 5 คนทั้งๆ ที่ยังไม่รู้จะให้เขาทำหน้าที่อะไร สิ่งที่จะบอกกับ SME คือ คุณพยายามเริ่มต้นบางสิ่งบางอย่างที่น้อยที่สุดได้ไหม คือบางทีเราฝันใหญ่ แต่บนโลกของการทำธุรกิจจริงๆ การมีพนักงานเยอะแยะ มีออฟฟิศสวยๆ แต่ว่าเราขายไม่ได้เลยก็ไม่ได้ช่วยอะไร ทำให้หมดเงินไปเยอะมาก ในมุมผมคิดว่าควรเริ่มต้นจากไอเดียให้มากสุด ใช้เงินให้น้อยสุด ใช้ทรัพยากรที่มีทำอย่างไรก็ให้ขายของให้ได้”

     อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/9087.html

     จากทั้ง 3 เคสผู้ประกอบการตัวอย่าง คงพอเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่านอื่นๆ ได้บ้าง ไม่มากก็น้อย ว่าหากเลือกได้ อย่าหาทำ เพราะธุรกิจอาจเฟล ต้องสะดุด เหมือนกับบทเรียนที่พวกเขามาแชร์ให้ฟังก็ได้

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน