เมื่อทายาทโรงขนมกุยช่ายตลาดพลู พลิกโฉมธุรกิจ สร้างแบรนด์ Sooo Guichai จนขายได้วันละ 1,000 ลูก

TEXT : Ratchanee P.

PHOTO: สุนันท์ ล้อสมทรัพย์


     ถ้าพูดถึงขนมกุยช่าย ก็ต้องเป็นกุยช่ายตลาดพลู ที่ว่าแป้งนุ่มอร่อย แต่ถ้าถามคนรักสุขภาพ หรือคนรุ่นใหม่ๆ อาจจะส่ายหน้าหนี เพราะแป้งหนา น้ำมันเยิ้ม นี่จึงเป็นโอกาสของ ที-กิตติคุณ กชกรจารุพงศ์  ทายาทรุ่นที่ 3 ของโรงขนมกุยช่ายตลาดพลู ที่จะต่อยอดธุรกิจกุยช่าย ด้วยการหาตลาดใหม่ จนเป็นที่มาของ Sooo Guichai (โซกุยช่าย) กุยช่ายแป้งเปลือย เน้นไส้ แป้งน้อย ที่ขายได้วันละ1,000 ลูก

ทำไมกุยช่ายต้องสร้างแบรนด์

     “ขนมกุยช่ายแบบดั้งเดิมเราขายได้อยู่แล้ว ไม่ได้หายไปไหน แต่มันคงไม่โตไปกว่านี้แล้ว เพราะเด็กยุคใหม่ เขาจะไม่กินกัน บางคนไม่รู้จักด้วยซ้ำ แล้วยิ่งมีแป้งเยอะๆ มันๆ ก็ยิ่งไม่เอา คนรักสุขภาพก็ไม่อยากกิน จากประสบการณ์ที่ทำอาหารมาก็คิดว่าน่าจะมีการพัฒนาสูตรใหม่เพื่อเข้าไปหาตลาดใหม่ๆ”

     ที-กิตติคุณ กชกรจารุพงศ์ เล่าถึงที่มาของ Sooo Guichai ก่อนที่จะบอกต่อว่า ครอบครัวของเขาทำขนมกุยช่ายขายมาตั้งแต่รุ่นอาม่า โดยในตอนนี้ทำในลักษณะโรงงานผลิตเพื่อขายส่ง และตัวเขาเองก็ไม่เคยคิดที่จะสืบทอดธุรกิจ เพราะสนุกกับการเป็นเชฟร้านอาหารที่ออสเตรเลีย และมีเป้าหมายของตัวเองแล้ว แต่สุดท้ายเมื่อทนความรบเร้าของผู้เป็นพ่อไม่ไหว ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นเกิดวิกฤตโควิดทำให้ร้านอาหารหลายแห่งปิดตัวลง เลยทำให้ตัดสินใจกลับมารับไม้ต่อธุรกิจ

     “พอคิดว่าคงจะต้องกลับมาทำธุรกิจนี้ ก็เริ่มหาข้อมูลว่ามีตลาดไหนบ้างที่กุยช่ายยังไม่ได้เข้าไป ก็เจอตลาดคนรักสุขภาพที่ไม่ชอบแป้ง แล้วก็กลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างเจน Z เลยมีไอเดียว่าเราจะทำกุยช่ายแป้งเปลือย คือมีแป้งให้น้อยที่สุด โดยผมพัฒนาสูตรอยู่ที่ออสเตรเลีย ขณะเดียวกันพ่อก็พัฒนาสูตรในแบบของพ่อที่ไทย แล้วเราก็คุยกันตลอดเวลา จนผมกลับมาก็เอาสูตรมาปรับอีกรอบ เพราะวัตถุดิบที่ออสเตรเลียไม่เหมือนไทย

     “พอเป็นสินค้าใหม่ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ เลยคิดว่าต้องสร้างแบรนด์ ทำแพ็คเก็จจิ้ง มีโลโก้ แล้วกุยช่ายแป้งเปลือยนี้ ต้นทุนค่อนข้างสูง ราคาก็จะสูงนิดนึง เราขายลูกละ 16 บาท จะไปขายที่ตลาดแบบเดิมๆ คงไม่ได้ เลยตัดสินใจขึ้นห้าง เปิดบูธขายในห้างสรรพสินค้า”

ขายดีเกินคาด

     ความตั้งใจของกิตติคุณนั้น Sooo Guichai ไม่ได้จะมาเปลี่ยนหรือแทนกุยช่ายแบบดั้งเดิม แต่จะเป็นทางเลือกมากกว่า ซึ่งในช่วงแรกของการเปิดตัวออกบูธขายตามห้างสรรพสินค้าจะได้รับฟีดแบค 2 แบบ คือ ชอบกับไม่ชอบไปเลย

     “ช่วงแรกๆ เราก็ต้องพยายามอธิบายให้คนเข้าใจว่านี่คือขนมกุยช่าย เราพัฒนามาจากกุยช่ายแล้วทำเพื่ออะไร เขาก็จะคิดว่ากุยช่ายแบบเก่ามันก็ดีอยู่แล้วจะมาเปลี่ยนทำไม เราก็ต้องอธิบายต่อว่า Sooo Guichai ไม่ได้จะมาแทนกุยช่ายแบบดั้งเดิม แต่เหมือนเราขยายเส้นทาง ให้มีตัวเลือกมากขึ้น บางคนที่เขายังชอบแบบเก่าก็ยังชอบแบบเก่า แต่คนที่ไม่เคยกินแบบเก่าเลยแล้วมาลองแบบใหม่เขาก็จะชอบ”  

     กิตติคุณ บอกว่าในช่วงแรกของการขาย สัดส่วนจำนวนการขายระหว่างกุยช่ายแบบเดิมกับกุยช่ายแป้งเปลือย อยู่ที่ 50: 50 จากนั้นสัดส่วนของกุยช่ายแป้งเปลือยก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนกระทั่งแต่เมื่อเดือนที่ผ่านสัดส่วนพุ่งขึ้นมาประมาณ 20: 80 ซึ่งแสดงว่าคนยอมรับ Sooo Guichai มากขึ้นเรื่อยๆ 

ถึงเวลาพลิกโฉม

     ความพิเศษของ Sooo Guichai คือแป้งน้อย กล่าวคือ จากกุยช่ายแบบเดิมขนาด 65 กรัม จะใช้แป้งประมาณ 20 กรัม แต่ Sooo Guichai กุยช่ายแป้งเปลือยนี้ ขนาด 60 กรัม มีแป้งเป็นส่วนผสมเพียง 3 กรัมเท่านั้น เท่ากับว่าแป้งหายไปถึง 90% ทีเดียว โดยมีให้เลือกถึง 7 ไส้ ได้แก่ ผักกุยช่าย มันแกวกุ้งแห้ง หน่อไม้กุ้งแห้ง เผือก ผักกะหล่ำเห็ดหอม รวมถึงไส้เห็ดรวม และมันม่วง ที่เป็นไส้ใหม่ไม่มีในกุยช่ายแบบเดิมๆ

     นอกจากกุยช่ายแป้งเปลือยแล้ว กิตติคุณยังพัฒนาสู่กุยช่ายแช่แข็ง ที่สามารถเก็บได้นาน และเพียงฉีกซองเข้าไมโครเวฟก็สามารถรับประทานได้อีกด้วย

     “พยายามทำอะไรใหม่ๆ กับกุยช่าย อย่างเช่นทำเป็น Seasonal Menu ตอนที่เปิดตัวก็ทำกุยช่ายทอดเทมปุระ แล้วตอนนี้ก็เปลี่ยนมาทำเป็นเกี๊ยวกรอบไส้กุยช่าย ก็คือกุยช่ายที่เราทำแต่เอามาทำในลักษณะเกี๊ยวกรอบ

     “เราทำ Sooo Guichai มาปีกว่าแล้ว แต่ไม่ได้รีบร้อนว่าจะต้องโตเร็วๆ เลยยังไม่ได้ทำการตลาดอะไร พยายามทำโปรดักต์ขึ้นมาให้ได้ก่อน อยากดูฟีดแบคก่อนด้วยว่าเป็นอย่างไร ให้สินค้ามันสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง จากนั้นจึงค่อยทำการตลาด ตามมาทีหลังอันนี้ นี่เป็นแนวคิดของเรา”

     สำหรับแผนต่อไป กิตติคุณบอกว่าวางแผนที่จะเอา Sooo Guichai เข้าไปวางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น

     ในตอนท้ายเขายังฝากคำแนะนำสำหรับทายาทที่จะเข้ามารับช่วงธุรกิจต่อด้วยว่า “ทำธุรกิจของครอบครัวต้องใช้ความเข้าใจ โดยเฉพาะจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่าง Gen เพราะว่าผมก็เจอเหมือนกัน ต้องปรับความคิดเข้าหากันให้ได้ ส่วนถ้าคนรุ่นเก่าเขาไม่ยอมรับในความเปลี่ยนแปลงหรือสิ่งที่เราทำ เราก็ต้องพิสูจน์ตัวเองให้เขาเห็นว่า ทำด้วยวิธีการของเรามันก็ใช้ได้เหมือนกัน ดีกว่าที่จะมีแค่วิธีการเดียว เหมือนการที่จะเดินไปให้ถึงเส้นชัย จริงๆ แล้วมันสามารถเดินได้หลายทาง ไม่จำเป็นต้องเดินทางเดียวเสมอไป”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน