บุกเบิกธุรกิจยุคใหม่ อธิบดี DBD แนะกลยุทธ์เอาชนะทุกเกม

Text: Neun Cch.

PHOTO : สุนันท์ ล้อสมทรัพย์


     หากนึกถึงหน่วยงานสักหน่วยงานหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจคงหนีไม่พ้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตลอดระยะเวลา 102 ปีที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้าถือเป็นเสาหลักสำคัญในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจของประเทศไทย โดยมีบทบาทในการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการตั้งแต่ขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจไปจนถึงการเลิกกิจการ นอกจากนี้ กรมฯ ยังทำหน้าที่เป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นภาพรวมของภาคธุรกิจไทย

     อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของกรมฯ พบว่ามีนิติบุคคลจำนวนมากที่จดทะเบียนไว้มากกว่า 1.9 ล้านราย แต่มีเพียงประมาณ 9 แสนรายที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่รุนแรงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความไม่แน่นอนสูง ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีแนวทางและเครื่องมือที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถปรับตัวและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

     ในโอกาสพิเศษเปิดศักราชปีใหม่ SME Thailand มีโอกาสัมภาษณ์ อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าถึงทิศทางของการทำธุรกิจและแนวทางในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

4 ปัจจัยทำให้ธุรกิจรอดยุคดิจิทัล 

     เมื่อพิจารณาสถิติการจดทะเบียนที่มีผู้ประกอบการมาจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลใหม่กว่า 85,000 รายในปี 2566  และตัวเลขการจดทะเบียนก็เพิ่มขึ้นเป็น 9 หมื่นรายในปี 2567 นั้น จากตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมานี้อธิบดีฯ ฉายภาพให้เห็นว่าส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการต้องการทำโปรเจ็กต์เพื่อรองรับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจก่อสร้างเมื่อจบโปรเจ็กต์ก็มีการยกเลิกธุรกิจ ในขณะที่ตัวเลขยังสะท้อนถึงการทำธุรกิจปัจจุบันเปลี่ยนไปธุรกิจไม่ปรับตัวตามยุคก็จะรอดยาก

     ยกตัวอย่างปัจจุบันมีค้าธุรกิจออนไลน์ ฉะนั้นธุรกิจบางประเภทที่ล้าสมัยก็ไม่อาจแข่งขันได้ต้องปิดตัว นอกจากนี้ปัจจุบันธุรกิจยังมีธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย หากผู้ประกอบการต้องการให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน อธิบดีฯ แนะนำว่าผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับ 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่

     ความสามารถในการปรับตัว: โลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการต้องพร้อมปรับตัวให้ทันต่อเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเสมอ การนำเอาเครื่องมือดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ไม่เพียงช่วยลดต้นทุน แต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อีกด้วย

     ความเข้าใจลูกค้า: การรู้จักลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจ การทำความเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า จะช่วยให้ผู้ประกอบการพัฒนาสินค้าและบริการที่ตรงใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น

     การใช้ข้อมูล: ในยุคดิจิทัล ข้อมูลเปรียบเสมือนทองคำ ผู้ประกอบการควรนำข้อมูลมาวิเคราะห์และใช้ในการตัดสินใจทางธุรกิจ การใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจคู่แข่งและวางแผนธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือว่าเป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลทางการฐานธุรกิจที่น่าจะใหญ่ที่สุดในประเทศ 

     ความยืดหยุ่น: ธุรกิจต้องพร้อมเผชิญกับความท้าทายและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจ จะช่วยให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน"

ธุรกิจไหนควรไปต่อหรือพอแค่นี้ในปี 2568

     จากการวิเคราะห์ข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจเชิงลึก เช่น จำนวนการจัดตั้งธุรกิจใหม่ ผลประกอบการ (กำไร-ขาดทุน) การเลิกประกอบกิจการพบว่าในปี 2568 ธุรกิจที่ถือว่าน่าจับตาและมีอนาคต 5 ประเภทได้แก่ 

      1. ธุรกิจฟิตแอนด์เฟิร์มมาแรง

          จากกระแสคนรักษ์สุขภาพยืนยันได้จากตัวเลขในปี 2566 ธุรกิจกีฬาและการออกกำลังกายสร้างรายได้รวมกว่า 93,397.82 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 อย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ปี 2567 ธุรกิจกีฬาและการออกกำลังกายเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีการเข้ามาจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 195 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะธุรกิจฟิตเนสและคลาสออกกำลังกายต่างๆ เช่น โยคะ พิลาทิส และการดำน้ำ ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น

     2. ธุรกิจท่องเที่ยวบันเทิงกลับมาคึกคัก 

          จากจำนวนผู้ประกอบการเข้ามาจดทะเบียนใหม่กว่า 1,976 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 477 ราย สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจการแสดงและกิจกรรมบันเทิงต่างๆ กำลังได้รับความนิยมอย่างมากจากทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

     3. ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 

          ความสนใจในธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต ส่งผลธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดกว่า 1,033 ราย เพิ่มขึ้นถึง 21.53% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

     4. ธุรกิจอีคอมเมิร์ซโตต่อเนื่อง

           นอกจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซแล้วธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซก็เติบโตตามไปด้วย โดยเฉพาะธุรกิจผลิตกล่องกระดาษ ซึ่งมีการเติบโตสูงถึง 77% และธุรกิจคลังสินค้าและขนส่งที่รองรับการค้าข้ามประเทศ (Cross-Border e-Commerce) ก็มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจและมีศักยภาพในการเติบโตสูง

     5. กลุ่มธุรกิจการผลิตภาพยนตร์

         กลุ่มธุรกิจการผลิตภาพยนตร์เป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจ มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 242 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 22 ราย 

5 ธุรกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอย

     จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าในปี 2567 มีธุรกิจหลายประเภทที่ประสบปัญหาการเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 5 ธุรกิจต่อไปนี้

     1. ธุรกิจการผลิตเหล็ก โลหะมีค่า และอัญมณี ดูเหมือนจะแผ่วลง เมื่อจำนวนการจดทะเบียนธุรกิจใหม่ลดลงถึง 18 รายในปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความผันผวนของตลาดโลกและการแข่งขันที่สูงขึ้น

     2. ธุรกิจร้านค้าส่งค้าปลีกแบบออฟไลน์ เผชิญหน้ากับคู่แข่งรายใหญ่จากอีคอมเมิร์ซ ทำให้จำนวนการจดทะเบียนใหม่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

     3. ธุรกิจสื่อและการประชาสัมพันธ์แบบออฟไลน์ "ยุคดิจิทัลเข้ามาดิสรัปต์วงการสื่ออย่างหนัก ทำให้ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์และโฆษณาแบบดั้งเดิมต้องเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัว

     4. ธุรกิจแปรรูปสินค้าทางการเกษตร: "แม้ว่าภาคการเกษตรจะเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ แต่ธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตรกลับเผชิญกับปัญหาการแข่งขันและมาตรฐานที่สูงขึ้น" 

     5. ธุรกิจตัวแทนและนายหน้า: "การเติบโตของเทคโนโลยีทำให้ธุรกิจตัวแทนและนายหน้าหลายประเภทค่อยๆ หายไป โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขายประกันและอสังหาริมทรัพย์"

3 พันธกิจ

     เสริมแกร่งผู้ประกอบการไทย

     อย่างไรก็ดีเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเข้มแข็งขึ้น  กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้มุ่งตอบสนองผู้ประกอบการธุรกิจใน 3 ด้านดังนี้

     1. เน้นการจดทะเบียนธุรกิจออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจดทะเบียนใหม่ แก้ไขข้อมูล หรือยกเลิกระบบบริษัท ได้อย่างสะดวกสบายผ่านระบบออนไลน์ 

     นอกจากนี้ กรมฯ ยังให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานราชการอื่นๆ เพื่อลดภาระของผู้ ประกอบการที่ต้องเดินทางไปขอเอกสารหลายแห่ง ตัวอย่างเช่น กรมฯ ได้เชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอย่าง อย. และกรมที่ดิน ทำให้ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องนำเอกสารจากกรมฯ ไปยื่นซ้ำอีกต่อไป

     ผลสำเร็จที่เห็นได้ชัดคือ ปัจจุบันมีหน่วยงานราชการกว่า 22 แห่ง จากทั้งหมด 74 แห่ง ที่ประกาศยกเลิกการเรียกรับเอกสารนิติบุคคลจากประชาชน ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการอย่างมาก

     2. ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ เร่งพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจไทยให้แข่งขันได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ใช้องค์ความรู้ที่เป็นเทรนด์การตลาดโลกมาส่งต่อให้กับผู้ประกอบการได้ใช้ปรับตัว อาทิ เช่น แนวคิด ESG และโมเดลเศรษฐกิจ BCG พร้อมต่อยอดโครงการพัฒนาธุรกิจให้เข้มแข็ง อาทิ e-Learning โดย DBD Academy, Digital Village, Smart โชห่วย Plus และ Local มีดี 

     3. สร้างธรรมาภิบาลธุรกิจ ให้ขับเคลื่อนด้วยธุรกิจสีขาวตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธรรมาภิบาลธุรกิจ ที่สำคัญคือการกำกับดูแลธุรกิจให้ดำเนินการภายใต้กฎหมายอย่างถูกต้อง และทำงานร่วมกับพันธมิตรอย่างใกล้ชิดเพื่อการป้องปรามพฤติกรรมนอมินิหรือธุรกิจอำพราง ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ได้มอบหมายให้กรมฯ เร่งแก้ไข

     “ปี 2568 กรมพัฒนาธุรกิจเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอการพยายามสรรหาโครงการดีๆ มาช่วยเหลือ SME  อาทิ เปิดสอนวิชาใหม่เกี่ยวกับการนำ  AI มาใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างไร น่าจะเปิดช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 หรือการสอน SME ให้เป็น อินฟลูเอ็นเซอร์ ขณะเดียวกันพยายามหาตลาดให้ SME พาออกงานแฟร์ จับคู่ธุรกิจเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเติบโตอย่างแข็งแรกร่ง” อรมน กล่าวทิ้งท้าย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน