ชีววิถี จากปฏิวัติสมุนไพรไทยด้วยนวัตกรรม สู่การทำ ESG โมเดลพาธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน 

TEXT : Ratchanee P.

PHOTO: สุนันท์ ล้อสมทรัพย์


     ไม่มีเส้นทางไหนโรยด้วยกลีบกุหลาบ กว่าจะเดินมาถึงวันนี้นับเป็นเวลากว่า 19 ปีแล้วของสมุนไพรไทย “ชีววิถี” ที่เริ่มต้นจากการมองเห็นของดีในท้องถิ่น จ.นครปฐม ของ อรประภา พรมรังฤทธิ์ จึงหยิบเอา“น้ำมันมะพร้าว” มาใช้เป็นส่วนผสมสำคัญของผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามมากมาย จากธุรกิจครัวเรือนเล็กๆ ที่ผลิตสินค้า OTOP 3 ดาว สู่การยกระดับเป็น OTOP  5 ดาว และส่งออกไปขายทั่วโลก

     เพราะภาพที่ติดลบของคำว่าสมุนไพรไทย จึงกลายเป็นความท้าทายของอรประภา ในการพัฒนาเพื่อสร้างมาตรฐาน ความเชื่อมั่น การยอมรับ และท้ายสุดคือเพื่อผลักดันภูมิปัญญาไทยไปสู่ตลาดสากลในระดับโลก


ของดีที่มีอยู่สู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม

     ก่อนจะเติบใหญ่มาเป็นบริษัท เซนต์ บิวตี้ คอสเมติก (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และความงามจากสมุนไพร ภายใต้แบรนด์ “ชีววิถี” และ “Sense”  ในวันเริ่มต้นพวกเขาก็ไม่ต่างจาก SME ตัวเล็กๆ ทั่วไป ที่มีความตั้งใจในการพัฒนาเครื่องสำอางสมุนไพรเป็นอาวุธ และไม่ได้ประสบความสำเร็จตั้งแต่วันแรก

     “เริ่มต้นจากการมองเห็นสิ่งที่ดีในท้องถิ่นอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นแหล่งมะพร้าวน้ำหอมชั้นดี ซึ่งไม่ใช่แค่เครื่องดื่ม แต่มีสรรพคุณคือมีวิตามินอีจากธรรมชาติ สามารถเป็นสารตั้งต้นในการทำเครื่องสำอางได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะทำเป็นสบู่ โลชั่น แชมพู หรือเซรั่ม เราก็เลยนำสารสกัดตรงนั้นมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ” 

     อรประภาอธิบายที่มาของชีววิถีให้เห็นภาพอย่างชัดเจน ก่อนที่จะเผยต่อไปว่าในตอนแรกก็เริ่มจากการเป็นสินค้า OTOP เล็กๆ จากนั้นก็พัฒนาเติบโตสู่สินค้า OTOP 5 ดาว โดยอาศัยที่ตัวเธอเองเป็นคนรักและชอบใช้สมุนไพร จึงขวนขวายเรียนทางด้านการแพทย์แผนไทยเภสัชกร ที่สถาบันการแพทย์แผนไทย เพื่อหวังจะได้นำความรู้ที่ได้มาต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์

     “เรามองเห็นถึงเทรนด์ที่คนใส่ใจเรื่องสุขภาพ หันมาหาธรรมชาติมากขึ้น สมุนไพรของเราไม่ใช่แค่ภูมิปัญญาในท้องถิ่นอีกต่อไป ถ้าได้รับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกระบวนการการผลิตที่ได้มาตรฐาน ก็จะสร้างการยอมรับ สามารถเอาภูมิปัญญาไทยเราไปสู่ตลาดสากลในระดับโลกได้”

ชูนวัตกรรมสมุนไพรไทย

     อีกสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือความท้าทายในธุรกิจสมุนไพร แน่นอนว่าเวลานี้หนีไม่พ้น ความเชื่อมั่น การยอมรับ อรประภา เคลียร์ใจกับประเด็นนี้ว่า ทั้งแบรนด์ชีววิถีและ Sense มีกระบวนการคัดสรรสมุนไพรตั้งแต่ฐานรากก็คือ ปลูก เก็บเกี่ยว จนนำเข้าสู่กระบวนการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อนำการวิจัยและนวัตกรรมเข้ามาช่วยยกระดับและเพิ่มมูลค่า ผ่านกระบวนการผลิตสู่โรงงาน GMP และได้มาตรฐาน ISO 9001 : 2015 มีคุณภาพได้มาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ

     “เราจะยกระดับคุณภาพสมุนไพรไทยไปสู่ระดับโลกได้อย่างไร ที่ผ่านมาเราได้พยายามพัฒนาสมุนไพรไทยด้วยกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน แต่ก็ยังไม่พอเราจะต้องยกระดับสมุนไพรไทยไปสู่กระบวนการวิจัยและพัฒนา เพื่อยกระดับให้เป็นนวัตกรรม เพื่อให้ต่างชาติยอมรับ ซึ่งสอดรับกับเทรนด์ที่คนสนใจหันมาใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความปลอดภัยจากสารเคมีมีมากขึ้นทั่วโลกด้วย”

     ความพยายามนี้ สะท้อนได้จากการนำผลิตภัณฑ์ไปสู่ตลาดโลก และคว้ารางวัลจากการประกวดด้านนวัตกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมาย เช่น รางวัลงานประกวดสินค้านวัตกรรมและจัดแสดงสินค้าระดับนานาชาติ ประเทศอังกฤษ ปี 2562 ( International Invention & Trade Expo London 2019 ) เหรียญทอง ครีมนวดส้นเท้าแตกสูตรกล้วยหอม, รางวัลงานประกวดสินค้านวัตกรรมโลก ประจำปี 2561 ประเทศโปแลนด์ ( International Grand Prix INTARD 2018 ) เหรียญทองเซรั่มรังไหม เป็นต้น 

     ทั้งหมดนี้  ทำให้บริษัทได้รับออร์เดอร์ต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากตลาดในอาเซียนก็ขยายตลาดไปสู่ประเทศจีน ญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป และล่าสุดตะวันออกกลาง

3 Key success

     ปัจจุบัน บริษัทมีสินค้าอยู่ถึง 364 รายการ และรางวัลการันตีอีกมากมาย   

     ถามว่าอะไรเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ก้าวสู่ความสำเร็จในวันนี้ได้ อรประภาบอกว่า ที่ผ่านมาเจอกับโจทย์ท้าทายมากมาย แต่ที่ธุรกิจอยู่รอดมาได้ และประสบความสำเร็จ เพราะ 3 สิ่งต่อไปนี้

     1. การพัฒนาคุณภาพสินค้าให้เข้าสู่ความเป็นนวัตกรรมอยู่ตลอดเวลา ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากล ใช้เทคโนโลยีการสกัดสมุนไพรที่ทันสมัยและมีการทดสอบคุณภาพทุกขั้นตอน

     2. Brand Positioning ที่ชัดเจน สะท้อนแนวความคิดสุขภาพและความงามแบบธรรมชาติที่แท้จริง มีจุดยืนที่แตกต่างจากตลาดเครื่องสำอางทั่วไป กล่าวคือจะไม่ใช้คำว่า 3 วัน 7 วันเห็นผล แต่จะใช้คำว่าสบายใจได้ว่าจะห่างไกลจากสารเคมีที่อันตรายและปลอดภัยในระยะยาว

     3. Sustainability และ ESG ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นการก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้สวนสมุนไพรชีววิถี ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ อบรม ศึกษาดูงานแก่ผู้สนใจได้เข้ามา ศึกษาต่อยอดด้านสมุนไพรและภูมิปัญญาไทย รวมทั้งมีการเปิดสอนอาชีพระยะสั้น ซึ่งสวนสมุนไพรแห่งนี้เปิดมา 7 ปี ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์อย่างมาก

    ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้วางเป้าหมายที่จะเติบโต 20% ในปีนี้ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือในการขยายสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบยุโรปและอเมริกาให้มากขึ้น นอกจากนี้ ในส่วนของการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ยังมุ่งใช้เทคโนโลยีสกัดสมุนไพรที่ทันสมัย มีการนำเครื่องจักรใหม่ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อสกัดสารสมุนไพรให้ได้คุณภาพ รวมถึงการได้นำองค์ความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดสู่เกษตรกรที่ปลูกสมุนไพรให้บริษัทฯ มากกว่า 30 จังหวัด  

มุ่งทำ ESG สร้างความยั่งยืน

      “ESG เป็นโอกาสไม่ใช่ต้นทุนเพราะว่าธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับ ESG จะได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าและเป็นโอกาสทางการตลาดมากขึ้นกว่าธุรกิจอื่นในเวลานี้”

     อรประภา เผยถึงแนวคิด ESG (แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งย่อมาจาก Environment, Social, และ Governance) โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ดำเนินธุรกิจตามแนวคิด ESG มาตั้งแต่แรก ยกตัวอย่างการก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้สวนสมุนไพรชีววิถี ท่าม่วง เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ทางด้านอาชีพ เช่น การทำแชมพูสมุนไพร การผลิตผ้ามัดย้อม การทำสบู่ งานหัตถกรรมจักสาน การทำขนมไทย เทคนิคการชงกาแฟ ฯลฯ ตลอดจนองค์ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และความรู้เรื่องสมุนไพรเพื่อดูแลสุขภาพตนเองในชีวิตประจำวัน โดยเปิดสอนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายทุกวันเสาร์-อาทิตย์  

     “ตรงนี้ทำให้เราสามารถส่งคืนกลับสู่สังคม ช่วยเหลือชุมชนสนับสนุนให้ปลูกพืชสวนครัวที่เขาปลูกอยู่แล้ว สร้างอาชีพ  ให้โอกาสทางพ่อแม่พี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียง หรือกลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนที่มีสินค้าของตนเองนำมาจำหน่ายที่ศูนย์ได้ฟรีอีกด้วย ซึ่งมีคณะต่างๆ เข้ามาดูงานปีละกว่า 100,000 คน”

     นอกจากนี้ เนื่องจากการปลูกสมุนไพรยังเชื่อมโยงถึงชุมชนเกษตรกรสมุนไพร บริษัทฯ จึงได้ร่วมมือกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มแม่บ้านในหลายๆ พื้นที่ เพื่อให้สามารถจัดการเรื่องวัตถุดิบที่ดีและเพียงพอต่อการผลิต และเป็นอีกหนึ่งช่องทางช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีรายได้ที่มั่นคง จึงมีการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรและรับซื้อผลผลิตโดยตรงจากชุมชนหลักๆ ของบริษัทซึ่งมี 3 ชุมชน

     1. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านน้ำเกี๋ยน จ.น่าน มีสมาชิกมากกว่า 600 คน

     2. กลุ่มเกษตรกรแม่บ้านตำบลรำมะสัก จ.อ่างทอง มีสมาชิกกว่า 300 ครัวเรือน

     3. กลุ่มเกษตรกรจังหวัดขอนแก่นและหนองบัวลำพูน มีสมาชิกมากกว่า 3,000 คน

     “จริงๆ แล้วมีมีชุมชนที่ส่งวัตถุดิบให้เรากว่า 30 จังหวัด และเราได้สร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนเหล่านี้มากมาย ยกตัวอย่าง กลุ่มเกษตรกรแม่บ้านตำบลรำมะสัก จ.อ่างทอง ซึ่งปลูกสมุนไพรพืชหัว หลังจากที่วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลทำโรงอบสมุนไพรเอง นอกจากจะขายสมุนไพรกับเราโดยตรงแล้ว ยังสามารถเอาสมุนไพรเหล่านั้นมาห่อลูกประคบได้ ปัจจุบันเราสามารถคืนรายได้กับชุมชนนี้ปีละกว่า 20 ล้านบาท นอกจากนี้ จากการที่เรามีโอกาสไปออกบูธต่างประเทศ ทำให้รู้ความต้องการของลูกค้า เราก็นำความรู้และสิ่งที่รู้เหล่านั้นมาแนะนำเพิ่มเติม เช่น แทนที่จะทำลูกประคบขนาดเดียว ก็ให้ทำลูกประคบหลายขนาด ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ตรงส่วนไหนของร่างกาย เช่น ขนาด 150 กรัมใช้บริเวณขาและแข้ง ขนาด 100 กรัมใช้บริเวณแขน ขณะเดียวกันผ้าดิบที่ใช้ห่อลูปประคบ ซึ่งต่างชาติมองว่าไม่สวย เราก็ปรับเปลี่ยนนำผ้าถุงผ้าขาวม้ามาห่อแทน ทำให้สามารถเพิ่มรายได้ให้กับอีกชุมชนหนึ่ง และยังสามารถพัฒนาต่อยอด ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ จนนำมาสู่รายได้ที่มากขึ้นด้วย”

     เช่นเดียวกับประเด็นการใส่ใจด้านสังคม ในด้านสิ่งแวดล้อมบริษัทฯ ได้ดำเนินการมากมายในส่วนของโรงงานและออฟฟิศใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด มีขบวนการผลิตที่ลดขยะในกระบวนการผลิตของเสีย การช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และล่าสุดได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพาในการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์   

     มากไปกว่านั้น ด้าน Circular Economy เช่น ผลิตภัณฑ์ครีมนวดส้นเท้าแตกสูตรกล้วยหอม และ ลิปบาล์มสครับมะพร้าว มีการใช้วัตถุดิบจากเปลือกกล้วยหอม และผงมะพร้าว ที่เป็นขยะเหลือทิ้งนำมา สร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นจุดเด่นให้แบรนด์ SENSE และชีววิถี ก้าวสู่ระดับสากล ภายใต้หลักการทำธุรกิจที่ให้ ความสำคัญเรื่องการลดขยะ Zero Waste และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

     ในตอนท้ายนี้ เมื่อถามถึง SME การทำ ESG  อรประภาแนะนำว่า ให้เริ่มต้นจากสิ่งที่มีแล้วก็เป็นไปได้เช่นการลดของเสียจากกระบวนการผลิต เลือกใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเพื่อสร้างความยั่งยืนและรายได้แก่คนในชุมชน ให้มองว่า ESG เป็นโอกาสไม่ใช่ต้นทุน เพราะว่าธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับ ESG จะได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าและเป็นโอกาสทางการตลาดมากขึ้นกว่าธุรกิจอื่นในเวลานี้ และควรสร้างความร่วมมือพันธมิตรที่มีแนวคิดเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนหรือซัพพลายเออร์ก็ตาม    

     “เรามุ่งเน้นที่จะเป็นมากกว่าผู้ผลิตเครื่องสำอางสมุนไพร เรายังเป็นแบรนด์ที่สะท้อนคุณค่าของธรรมชาติและความยั่งยืนเราหวังว่าเราเป็นแรงบันดาลใจให้กับ SME ในประเทศไทยเพื่อจะสร้างความก้าวหน้าสู่ด้วยความยั่งยืน”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน