RoastNiyom แบรนด์ช็อกโกแลตไม่ใช้สารเคมี ที่เริ่มจากศูนย์ แต่ไม่ศูนย์เปล่า

Text : Ratchanee P.


     จากคำถามง่ายๆ “เราจะปลูกอะไรที่ใช้เคมีน้อย ให้มูลค่าสูง และเป็นที่ต้องการของตลาดโลก?” จึงนำไปสู่คำตอบที่ว่าคือ “สวนโกโก้ไร้สารเคมี”

     แต่เพราะเป็นการเริ่มต้นที่ไม่มีความรู้ด้านการเกษตร และไม่เคยปลูกโกโก้มาก่อนเลย จึงทำให้ ออมสิน-สุโรตม์ วงศ์เบี้ยสัจจ์ ต้องใช้เวลานานถึง 7 ปี ลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วน จนกระทั่งสามารถพลิกพื้นที่รกร้างที่แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มาเป็น RoastNiyom Chocolate & Cacao Farm  

     และนี่คือเรื่องราวของ RoastNiyom Chocolate & Cacao Farm  เส้นทางที่เริ่มต้นจากศูนย์ ที่ไม่ได้มีเพียงแค่ช็อกโกแลตแก่งกระจานเป็นปลายทาง แต่ยังเป็นการพิสูจน์ถึงความสำเร็จจากความมุ่งมั่นพยายามอีกด้วย  

พลิกที่รกร้างสู่ช็อกโกแลตแก่งกระจาน  

     ย้อนกลับไปเมื่อ 30-40 ปีก่อน ที่ดินผืนหนึ่งในแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เป็นเพียงพื้นที่ทิ้งร้างที่คุณพ่อของออมสินซื้อเอาไว้ จนกระทั่งเมื่อมีถนนตัดผ่านและอ่างเก็บน้ำถูกสร้างขึ้น เขาจึงคิดว่าน่าจะหาพืชอะไรมาปลูก เป็นพืชที่ใช้เคมีน้อย ให้มูลค่าผลตอบแทนดี และเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ซึ่งคำตอบที่ได้คือ ‘โกโก้’

     “จริงๆ มาจากเพื่อนคนหนึ่งด้วย เขาแทบไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านเกษตรกรรม ปลูกอะไรไม่เป็นเลย แต่เขาบอกว่าอยากปลูกโกโก้ เราก็แนะนำว่าไปปลูกกระเพราให้รอดก่อน เอากระเพราไปให้เขาปลูก ปรากฏว่าตายใน 3 วัน แต่เขาก็ยังดันทุรังจะปลูกโกโก้ เลยบอกว่าอย่างนั้นเดี๋ยวปลูกด้วยก็เลยมาปลูกโกโก้ด้วยกัน”

     ออมสินเล่าว่า ก่อนหน้านี้เขามีอาชีพขายสารเคมีเกษตร เคมีปศุสัตว์ แต่เมื่อคิดจะทำสวนโกโก้เขากลับเลือกทางที่ปลอดสารเคมี เพราะรู้ดีว่าผลกระทบของเคมีนั้นอันตรายแค่ไหน ขณะเดียวกันก็ไม่เคยทำการเกษตร ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการปลูกโกโก้เลย เขาจึงต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองตั้งแต่คุณสมบัติของดิน ระบบนิเวศ โรคพืช รวมถึงตระเวนไปทั่วประเทศไทย เชียงใหม่ ระยอง จันทบุรี และภาคใต้ เพื่อไปหาความรู้ดูงานแล้วมาปรับใช้สร้างอัตลักษณ์ของตนเอง

     “มาถึงวันนี้เราใช้เวลาถึง 7 ปี  ปีแรกเป็นเรื่องจัดการสวนเพื่อให้มีระบบนิเวศที่ดี ปีที่ 2 เรียนรู้วิธีการทำช็อกโกแลตให้อร่อย ไม่ใช่แค่พอกินได้แต่ต้องอร่อยมาก รวมแล้วใช้เวลาใน 4 ปีแรกเพื่อทดลองปลูก ทดลองหมัก ทดลองทำช็อกโกแลต ทิ้งผลสดไปเป็น 10 ตันเพื่อสร้างรสชาติที่ดี แล้วปี 2565 เราส่งเมล็ดโกโก้แห้งเข้าประกวด TCCF และติดอันดับ Top 10 เมล็ดโกโก้ดีเด่นของประเทศไทยในปีนั้น นั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้มั่นใจว่าสิ่งที่ทำมาตลอดนั้นมีอนาคต หลังจากนั้นจึงเริ่มวางระบบและสร้างแบรนด์อย่างจริงจัง”

     อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มปลูกโกโก้ ออมสิน พบว่าการขายผลโกโก้สดทำเงินได้เพียง 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่พอเลี้ยงชีพ จึงเปลี่ยนมาขายเมล็ดแห้ง ซึ่งคำนวณแล้วจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 30,000 บาทต่อเดือน แต่ต้องทำงานทุกวัน ฉะนั้น เขาจึงเลือกเดินไปอีกขั้น ด้วยการแปรรูปเป็นช็อกโกแลต ที่แม้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นไปอีก แต่ก็ยังต้องทำงานหนักเหมือนเดิม เลยคิดว่าไหนๆ ก็เสียเวลาแล้ว ตัดสินใจเปิดสวนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยมีโกโก้มาเป็นตัวชูโรง ชื่อ “RoastNiyom Chocolate & Cacao Farm” และมีผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตแบรนด์ RoastNiyom  

     “สวนโกโก้นี้อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มีตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก เก็บเกี่ยว และกระบวนการแปรรูปจนเป็นช็อกโกแลตแท่งที่เรียกว่า Bean to Bar เพราะฉะนั้นคนที่สนใจหรืออยากหาประสบการณ์เกี่ยวกับช็อกโกแลตก็สามารถมาดูได้เลย ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของเราคืออยากให้ครอบครัวได้พาเด็กๆ มาวิ่งเล่นในสวน มาเดินดูโกโก้ ช็อกโกแลตที่กินมาจากอะไร ดึงเด็กๆ ให้ออกมาเจอเกษตร มาเจอแดดเจอลมบ้าง”

RoastNiyom คราฟท์ช็อกโกแลตที่ดีต่อผู้บริโภคและเกษตรกร

     ช็อกโกแลตแก่งกระจาน ชื่อนี้อาจจะยังไม่คุ้นหูเท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้ออมสิน จึงต้องไปใช้วิธีออกบูธบ่อยๆ เพื่อให้ผู้คนรู้ว่า เพชรบุรีไม่ได้มีดีแค่ขนมหม้อแกง แต่ยังเป็นแหล่งปลูกโกโก้และผลิตช็อกโกแลตคุณภาพอีกด้วย

     “ปีที่แล้วเราไปร่วมงาน Expo คิดว่าช็อกโกแลต 4 กิโลกรัม น่าจะเพียงพอสำหรับ 4 วัน แต่ผิดคาดต้องรีบโทรหาคุณแม่ให้ขนช็อกโกแลตที่มีอยู่ในตู้ทั้งหมดขึ้นมากรุงเทพฯ เพราะปรากฏว่าตลอดงาน เราขายไปได้ถึง 10-15 กิโลกรัม ทั้งแบบแท่งและแบบเครื่องดื่ม”

     นั่นจึงเป็นสัญญาณที่ดีของการเริ่มต้นบุกตลาดช็อกโกแลตภายใต้แบรนด์ RoastNiyom

     อย่างไรก็ตาม ออมสิน บอกว่าช็อกโกแลต RoastNiyom มีราคาสูงกว่าท้องตลาดทั่วไปเพราะเป็นคราฟท์ช็อกโกแลตที่ไม่ผ่านการเติมแต่งสารเคมี ขณะที่ช็อกโกแลตทั่วไปราคาเริ่มต้นที่ 70 บาท แต่ RoastNiyom ขายที่ 120 บาท  คำถามคือ ทำไมต้อง 120 บาท?

     “ความแตกต่างของคราฟท์ช็อกโกแลตคือกระบวนการผลิตที่พิถีพิถัน เราไม่เติมสารปรุงแต่ง ไม่ใช้กระบวนการปรับรสชาติ ไม่ใส่สีหรือกลิ่นสังเคราะห์เหมือนช็อกโกแลตอุตสาหกรรม นอกจากนี้ เรายังเก็บโกโก้บัตเตอร์ (Cocoa Butter) เอาไว้ครบถ้วน ซึ่งเป็นไขมันดีที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ในขณะที่ช็อกโกแลตอุตสาหกรรมมักสกัดเอาโกโก้บัตเตอร์ออก เราใช้เพียงน้ำตาลเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสชาติ ไม่ดึงไขมันดีออกไป จึงทำให้ช็อกโกแลตของเราทั้งอร่อยและดีต่อสุขภาพ”

     มากไปกว่านั้น ออมสินยังบอกว่า ตั้งแต่เริ่มต้นทำช็อกโกแลตเขาได้รับซื้อผลโกโก้จากเกษตรกรที่ปลูกแบบไร้เคมีในราคาที่เป็นธรรม ในขณะที่ตลาดรับซื้อโกโก้กันที่ 5 บาทต่อกิโลกรัม แต่เขาซื้อที่ราคา 8 บาทต่อกิโลกรัม และแม้ว่าราคาตลาดจะผันผวน ก็พยายามคงราคานี้ไว้เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้และมีแรงใจในการเพาะปลูกต่อไป

     นี่คือแนวคิดเบื้องหลังของช็อกโกแลตแก่งกระจาน ผลิตภัณฑ์ที่ดี มีคุณภาพ เป็นธรรมทั้งต่อผู้บริโภคและเกษตรกร  

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน