Text: Wipawan In.
เพียงแค่ปรับมุมมอง “ขยะ” ที่หลายคนมองว่าเป็นสิ่งไร้ค่า ไม่มีประโยชน์ ก็สามารถกลายเป็นไอเดียทางธุรกิจ ที่นอกจากจะสร้างรายได้แล้วยังช่วยรักษาโลกอีกด้วย
ความสวยงามของทะเลใครๆ ก็สามารถมองเห็นได้ แต่ จินต์ สถาพรสถิตย์สุข กลับมองเห็นปริมาณของขยะที่ถูกซัดขึ้นมาอยู่ที่ชายฝั่งมากขึ้นในทุกๆ ปี ทำให้ภาพวิวทิวทัศน์ของทะเลที่เปรียบเสมือนที่ฮิลใจไม่สวยงามอย่างที่เคยเป็น เขาจึงเกิดไอเดียจัดการขยะด้วยการรีไซเคิลเป็นน้อง “Grom” อาร์ตทอยจากขยะพลาสติก
นี่คือเรื่องราวของ Grom อาร์ตทอยตัวแทนแห่งท้องทะเล ที่ไม่ได้มีเพียงความน่ารัก แต่ยังแฝงไปด้วยความหวังที่อยากเห็นทะเลกลับมาสวยงามดังเดิม
ปรับมุมมอง เปลี่ยนขยะเป็นวัสดุล้ำค่า
ย้อนกลับไปในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาทำให้ “จินต์ สถาพรสถิตสุข” ได้ตัดสินใจย้ายจากกรุงเทพฯ มาอยู่ที่เขาหลัก ตำบลตะกั่วปลา จังหวัดพังงา โดยประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจออกแบบเครื่องประดับส่งออกไปญี่ปุ่น มีโรงงานผลิตอยู่ใกล้บริเวณชายหาด และต่อยอดธุรกิจเปิดเป็นคาเฟ่ริมหาด
“การย้ายมาอยู่ที่พังงาทำให้ได้ใกล้ชิดกับทะเลมากยิ่งขึ้น นอกจากจะเป็นแหล่งที่ตั้งในการประกอบอาชีพแล้ว ยังกลายเป็นที่ทำกิจกรรมการเล่นเซิร์ฟ ที่เราเริ่มต้นเข้าวงการนี้มาได้ 3 ปี เรียกได้ว่าเกิน 50% ของชีวิตประจำวันใช้อยู่ที่ทะเลเลยก็ว่าได้”
แต่การใช้ชีวิตใกล้ชิดกับทะเลแทบจะทั้งหมดสิ่งที่จินต์เห็นมากกว่าความสวยงามคือปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นในทุกปี จากข้อมูลปี 2564 ประเทศไทยติดอันดับ 6 ใน 10 ประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก จำนวนกว่า 22.8 ล้านกิโลกรัม โดยกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่าขยะในทะเล 20% เกิดในทะเล และอีก 80% เกิดจากบนบก ประเภทขยะที่พบมากที่สุดได้แก่ ขวดน้ำพลาสติก
“จากข้อมูลดังกล่าวและสิ่งที่เราเห็นในทุกวันจนเกิดเป็นความคิดที่ว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างกับขยะพวกนี้ เพราะแค่ช่วยกันเก็บอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องทำให้ขยะพวกนี้เป็นได้มากกว่าของไร้ประโยชน์ จึงเริ่มต้นจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกับเพื่อนๆ ในกลุ่มเล่นเซิร์ฟ จากประสบการณ์ส่งสินค้าไปญี่ปุ่นทำให้เราเห็นว่าตลาดญี่ปุ่นมีการนำคาแรคเตอร์มาผลิตเป็นสินค้าแล้วทำเป็นสินค้าลิขสิทธิ์หรือ licensing โดยสามารถใส่เรื่องราวเล่าผ่านคาแรคเตอร์ต่างๆ ได้ ซึ่งประจวบเหมาะกับเพื่อนในกลุ่มของเรามีความชำนาญเกี่ยวกับการรีไซเคิลพลาสติก ทำให้รวมไอเดียเกิดเป็น Art Toy จากขยะพลาสติก”
ส่งผ่านเรื่องราวลงในคาแรคเตอร์ Art Toy
หลังจากได้ไอเดียสร้างอาร์ตทอย จินต์และกลุ่มเพื่อน จึงเริ่มต้นสร้าง Reborn Studio ขึ้นมาให้เป็นจุดรวมความคิดสร้างสรรค์ สถานที่เกิดใหม่ของเหล่าขยะชายทะเล และเปรียบเสมือนบ้านหลังแรกของคาแรคเตอร์ต่างๆ สำหรับเหตุผลที่เลือกผลิตอาร์ตทอย จินต์กล่าวว่าเพราะเป็นสินค้าที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน สามารถเล่าเรื่องผ่านตัวสินค้าได้ และน่าจะเป็นแรงจูงใจที่ดีให้กับผู้บริโภค
“เราใช้เวลาสะสมประสบการณ์การออกแบบคาแรคเตอร์ จนได้เข้าร่วมการประกวดแข่งขันมาสคอตภูเก็ตเมื่อปี 2562 และได้รับรางวัลชนะเลิศ ทำให้มั่นใจกับการออกแบบคาแรคเตอร์ จึงได้คลอดผลงานอาร์ตทอยในชื่อ “Grom” เด็กที่มีเส้นผมเป็นปลาหมึกที่มาในท่าทางการเล่นเซิร์ฟ ที่เลือกใช้เส้นผมเป็นหนวดปลาหมึกเพราะหาดเขาหลักเป็นแหล่งที่อยู่ของปลาหมึกจำนวนมาก และท่าทางการเล่นเซิร์ฟมาจากกิจกรรมสุดโปรดของพวกเรา”
จินต์เล่าว่า ชื่อ Grom มาจากคำแสลงของออสเตรเลียที่เอาไว้ใช้เรียกเด็กเล่นเซิร์ฟเก่งๆ และเป็นชื่อเรียกการแข่งขนเซิร์ฟรุ่นเยาวน ส่วนเรื่องราวของ Grom เด็กน้อยผู้เติบโตมาพร้อมกับชาวมอแกน ชนเผ่าเร่ร่อนที่อาศัยอยู่บนทะเลมาหลายร้อยปี Grom เป็นเด็กร่าเริง ชอบแสงแดด ชอบกิจกรรมทางทะเล โดยเฉพาะการโต้คลื่นกับเพื่อนๆ สัตว์ทะเล
แต่ทว่ามลภาวะทางทะเล ขยะพลาสติกที่ลอยเกลื่อนเต็มท้องทะเล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลอย่างมาก Grom รู้สึกรักและห่วงใยท้องทะเล จึงตัดสินใจออกเดินทางเพื่อต่อสู้กับมลพิษและปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งมั่นหาทางหยุดยั้ง รณรงค์ หาคำตอบของปัญหาที่เกิดขึ้น เดินทางไปยังหมู่เกาะต่างๆ ของทะเลอันดามัน เกาะต่างๆ ในอาเซียน... นี่คือเรื่องราวของ Grom
เพราะทะเลเป็นมากกว่าสถานที่ท่องเที่ยว
ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา จินต์ได้ร่วมทำแคมเปญกับทางร้านค้า โรงแรมในบริเวณใกล้เคียง ช่วยกันเก็บขยะพลาสติกและส่งมาให้เราเพื่อนำไปรีไซเคิล โดยผ่านขั้นตอนการบดและหลอม ผลิตบล็อกผ่านเครื่อง 3D Printing และนำพลาสติกที่หลอมไว้มาพิมพ์ลงบล็อก ลงสีและรายละเอียดด้วยงาน Hand made ทั้งหมด
“ตลอดเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ด้วยจำนวนการผลิตที่จำกัดทำให้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงเทคโนโลยีที่ยังมีไม่มากพอ ทำให้ยังไม่สามารถใช้ขยะรีไซเคิลผลิตได้แบบ 100% เราเคยได้พูดคุยกับโรงงานในประเทศจีน ที่สามารถผลิตในจำนวนมาก ราคาถูก ใช้พลาสติกรีไซเคิลตามที่เราต้องการได้ ซึ่งผลที่ได้คือเราจะขายได้จำนวนมากขึ้น กลายเป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศ แต่ปริมาณขยะในท้องทะเลของเราก็จะคงอยู่เหมือนเดิม เราจึงตัดสินใจใช้วิธีเดิมเพื่อทำเป้าหมายการลดขยะในท้องทะเลให้สำเร็จก่อน”
เมื่อเดือนสิงหาปีที่ผ่านมา Grom ได้ไปออกบูธที่สยามพารากอนในงาน Wonder Festival Bangkok 2024 มีผู้สนใจน้องเป็นจำนวนมาก sold out ภายในงาน ลูกค้าส่วนใหญ่ชอบในความน่ารัก และเห็นถึงคุณค่าของเรื่องราวที่ส่งผ่านคาเรคเตอร์
ปัจจุบัน Grom คอลเลกชันแรกมีชื่อว่า Guardian of The Ocean หรือผู้พิทักษ์ท้องทะเล ถูกผลิตออกมา 2 ไซต์ได้แก่ 100% และ 200% ประกอบด้วยท่าทาง 3 เซต แต่ละเซตใช้ปริมาณพลาสติกรีไซเคิลที่แตกต่างกันออกไป
1. Relaxation Station ใส่พลาสติกรีไซเคิล 30%
2. Ocean Protector ใส่พลาสติกรีไซเคิล 40%
3. Aerial Surfing ใส่พลาสติกรีไซเคิล 60%
จินต์เล่าปิดท้ายว่า แผนในอนาคตอยากพาน้อง Grom คอลแลปกับแบรนด์ต่างๆ เพื่อให้เรื่องราวการรณรงค์ลดปริมาณขยะในทะเลถูกถ่ายทอดออกไปได้มากยิ่งขึ้น พัฒนาการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ ใช้พลาสติกรีไซเคิล 100% ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ รวมจึงขยายสินค้าทำเครื่องประดับ ต่างหู ยางมัดผม เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายขึ้น เพราะเมื่อมีการรับรู้เพิ่มขึ้นเท่ากับปริมาณขยะทะเลกำลังลดลง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี