อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

Text: VaViz

Photo: MAMAD


     “Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

    “สินค้าทุกชิ้นที่คุณเลือกจากเรา คือศิลปะที่คุณสวมใส่ได้

     เป็นพลัง เป็นเรื่องเล่า และเป็นตัวตนของคุณเอง”

     คำพูดสั้นๆ ที่บ่งบอกถึง Passion ของ อรุณโรจน์ บุญฉลอง ผู้ก่อตั้งแบรนด์ร่วมกับเพื่อนสนิทอย่าง อารีนา ปิ่นมุข ซึ่งทั้งสองมีความฝันที่อยากเปลี่ยนของใช้ธรรมดาให้กลายเป็น “ผลงานศิลปะที่มีชีวิต” ที่แม้ก้าวแรกจะเริ่มจากการวาดเล่นๆ เป็นงานแฮนด์เมด แต่ด้วยไฟแห่งความสร้างสรรค์ที่มี จึงเกิดเป็น MAMAD ที่โลดแล่นในเวทีธุรกิจมาแล้วกว่า 12 ปี โดยครองใจลูกค้าได้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

จาก “ลายเส้น” สู่ “ลายเซ็น” ธุรกิจ

“วันหนึ่งเส้นที่เราวาด จะกลายเป็นเส้นที่พูดแทนตัวเราได้ดีที่สุด

และมันจะกลายเป็นลายเซ็นที่ไม่มีใครลอกได้

เพราะเส้นที่มาจากหัวใจ จะมีชีวิตของมันเองเสมอ”

     เพราะเชื่อว่าลายเส้นไม่ใช่แค่เทคนิคหรือสไตล์การวาด แต่เป็นเอกลักษณ์และตัวตนของแบรนด์ การหาจุดกึ่งกลางของความชอบสร้างสรรค์งานศิลปะกับสินค้าที่ตลาดต้องการ จึงเป็นความท้าท้ายที่สองสาวเลือดวิจิตรศิลป์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังต้องพบเจอ

     “แม้ว่าเราจะชินกับการวาดตอนที่เรียน แต่พอมาเป็นแบรนด์ก็ต้องคำนึงถึงคนที่ซื้อด้วย ต้องคิดด้วยว่าลูกค้าจะโอเคกับลายนี้ไหม หรือเอาไปใช้จริงได้ไหม ดังนั้น จึงต้องมีการ Sketch งาน ลองวาดซ้ำๆ ออกแบบไปเรื่อยๆ และคิดคอนเซปต์ที่น่าสนใจ ที่สำคัญต้องเป็นการเจอกันครึ่งทาง เพื่อให้เป็นผลงานที่ขายได้ และเราก็ชอบด้วย”

    โดยสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์เตะตาผู้คนให้ต้องหยุดมองสินค้าของแบรนด์นั้นอยู่ที่การวาดลวดลายแบบ Semi Abstract หรือศิลปะกึ่งนามธรรม ซึ่งเป็นการใช้รูปทรงและเส้นที่ไม่จำเป็นต้องสมจริง แต่ยังคงมีองค์ประกอบที่เชื่อมโยงกับความจริงหรือความเข้าใจได้ในระดับหนึ่ง

     “เราอยากนำเสนอสิ่งใหม่ให้ลูกค้าไม่รู้สึกเบื่อ ด้วยการใช้ลายเส้นที่ดูสนุกและสีสันที่สะดุดตา รวมถึงสัญลักษณ์และรูปทรงที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้ทุกชิ้นงานของเรามีสตอรี่ และเปิดพื้นที่ให้ลูกค้าได้จินตนาการ พร้อมเห็นคุณค่าของงานเราว่าเป็นอะไรที่มากกว่าแค่ลายพิมพ์”

ถึงคราววัดใจ ชอบมาก vs. ไม่เอาเลย

“ลายไหนถ้ารู้สึกว่าขายไม่ดี เดี๋ยวมันก็จะเจอลูกค้าของเขาเอง

สุดท้ายมันก็จะมีคนชอบความแปลกนี้

มันอยู่ที่ปัจเจกบุคคลจริงๆ ว่าเขาชอบหรือไม่ชอบ เลยต้องรอเพื่อที่จะเจอคนที่เป็นเจ้าของเขาจริงๆ”

     ด้วยลวดลายที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนหรือใช้สีสันสุดจึ้ง แถมลายยังไม่ได้เป็นแนวน่ารักๆ ถึงขั้นมีบางครั้งที่ อรุณโรจน์ เอ่ยทักเพื่อนซี้ว่า “ลายมันน่ากลัวไปไหมเธอ!” ทำให้ MAMAD ต้องลองตลาด ปรับตัว และทดลองผิดทดลองถูกตลอดเส้นการเดินทาง

     “เราอาจจะมีการทักกันบ้าง แต่สุดท้ายก็ต้องเคารพในไอเดียของแต่ละคนด้วย และต้องอาศัยการได้ขายจริงด้วยว่าผลตอบรับจะเป็นอย่างไร ซึ่งบ่อยครั้งที่ลูกค้าอาจจะรู้สึกว่าลายของกระเป๋านั้นใช้ยากเกินไปหรือสีสดเกินไป ในขณะที่บางคนกลับบอกว่าสวยมาก มันเลยเป็นงานอาร์ตที่บางคนชอบลายนี้มาก แต่อีกคนอาจกลัว หรือบางลายเรามั่นใจว่าคนต้องชอบแน่ๆ เพราะวาดนานและตั้งใจวาด ปรากฏลูกค้ากลับซื้อน้อย ดังนั้น ถ้าเป็นคอลเลกชั่นใหม่ๆ เราจะแก้ปัญหาด้วยการทำไม่เยอะ ทดลองตลาดก่อน และใส่สตอรี่ในการขาย เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจงานของเรามากขึ้น” 

     ดังนั้น เพื่อบาลานซ์ระหว่างความเป็นศิลปะกับความเป็นสินค้า เราจึงต้องถามตัวเองเสมอว่า “จะทำอย่างไรให้สินค้ายังคงคุณค่าศิลปะ แต่คนทั่วไปก็อยากใช้ในชีวิตประจำวัน”

ไอเดียแจ่ม ขายแยก “สายกระเป๋า” ตามวิถีคนติสท์

“สายกระเป๋าเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของกระเป๋าใหญ่ เป็นอุปกรณ์ที่ไม่สามารถขาดได้

เราต้องใช้การตลาดแบบเทียบเคียงคุณค่าแบบนี้

ทำให้ลูกค้าเห็นว่าที่ราคาสูงขึ้น เพราะความคุ้มค่าในระยะยาว”

     ไม่หยุดที่ผ้าพันหูกระเป๋าแบรนด์เนม เมื่อ MAMAD มองต่อว่ายังมีอะไรอีกบ้างที่สามารถเป็น Accessory ให้กับกระเป๋าได้ กลายเป็นที่มาของไอเทมเด็ดอย่างสายกระเป๋า ที่ขายในราคาเท่ากันกับกระเป๋าหนึ่งใบ หรืออยู่ที่ 690 บาท เพื่อเพิ่มความเป็นตัวตนหรือปรับลวดลายของสายที่จะเอามาใช้สะพายให้ไม่ซ้ำใครได้

     “ไม่ใช่แค่เป็นงานไอเดีย แต่การที่จะแยกขายเฉพาะสายกระเป๋าได้ต้องเน้นที่คุณภาพ ความพรีเมียมของวัสดุหรืออะไหล่ที่ดี เช่น หัวที่เป็นหนังแท้ รองรับน้ำหนักได้ดี และมีต้นทุนเท่าๆ กับกระเป๋า ซึ่งถ้าลูกค้าชอบลายนั้นจริงๆ เขาจะตัดสินใจซื้อ แต่อาจมีบางคนที่มีคำถามว่าทำไมต้องขายแยก ซึ่งพอเราอธิบายลูกค้าจะเข้าใจได้ ถ้าไม่อยากได้จริงๆ เราก็มีสายปกติให้อยู่แล้ว”

    นอกจากนี้ หากสายกระเป๋าออกแบบมาให้สามารถเปลี่ยนลุคหรือทำให้กระเป๋าดูพิเศษมากขึ้น มีความหลากหลาย ใช้ได้กับหลายรุ่น หรือปรับความสั้น-ยาวได้ จะทำให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่าที่จะซื้อและตัดสินใจควักกระเป๋าจ่ายได้ง่ายขึ้น

ตอบโจทย์คนมีสไตล์ ไม่เกี่ยงวัย ไม่จำกัดอายุ

“การรักษาเอกลักษณ์โดยไม่วิ่งตามกระแส เป็นเรื่องที่ต้องใช้ใจและความมั่นคงมาก

เราต้องเชื่อในแนวทางของตัวเอง และเดินต่อไปด้วยพลังของกันและกัน”

     แม้ตอนแรกของการเริ่มต้นทำแบรนด์ อรุณโรจน์ จะตั้งเป้ากลุ่มลูกค้าว่าเป็นวัยรุ่นและนักศึกษา แต่พอขายจริงทำให้พบว่า ผู้ใหญ่และวัยทำงานก็ให้การตอบรับที่ดีและมีกำลังซื้อสูง ทำให้ลูกค้าของ MAMAD นั้น ไม่ได้มีเรื่องของอายุมาเป็นตัวกำหนด แต่อยู่ที่สไตล์และความชื่นชอบเสพงานอาร์ตผสมงานศิลป์นั่นเอง

     “กว่า 10 ปีที่ผ่านมา แฟนแบรนด์จะเป็นคนที่คล้ายๆ กันตลอดถึงปัจจุบัน คือเป็นคนที่ไม่ชอบของแนวเรียบๆ จะชอบของที่ดูสนุก ของที่มีไอเดีย ของที่เป็นงานคราฟต์ ชอบสีสัน ชอบความแตกต่าง ชอบการแต่งตัวที่เป็นเอกลักษณ์ เราเลยต้องพัฒนางานไปเรื่อยๆ ต้องดูเทรนด์ แต่ไม่ได้หยิบมาเลยแบบเพียวๆ ต้องเป็นการนำเทรนด์มาผสมกับความเป็นเราเข้าไปด้วย”

     นี่คือเรื่องราวของแบรนด์ที่เริ่มต้นจากศูนย์ วาดลวดลายเอง ตัดเย็บเอง ออกแบบทุกขั้นตอนเอง โดยไม่ได้มีทุนหนาอะไร มีแค่เพียงความตั้งใจและไอเดียที่แปลกใหม่ เพื่อถ่ายทอดงานศิลปะให้สวมใส่ได้แบบไม่ต้องเหมือนใครในชีวิตประจำวัน  

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน

SME ไทยจะอยู่รอดได้อย่างไรท่ามกลางสงครามการค้า

การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 125% โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้จุดชนวนสงครามการค้ารอบใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ดังนั้น SME ไทยจึงกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง ...แล้วเราจะอยู่รอดได้อย่างไร