Text: Neung Cch.
“ของดี...แต่ไม่มีใครเห็น ก็ไร้ค่า” คือความจริงที่เกษตรกรไทยต้องเจอ
แม้จะมีมะม่วงน้ำดอกไม้ที่ชาวต่างชาติบอกว่า “fantastic” หรือกาแฟอินทรีย์ที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้ถึง 10 เท่าเมื่อเข้าสู่ตลาด Niche ทว่า...สินค้าเหล่านี้ยังถูกขายในราคาต่ำ เพราะขาดการสื่อสารที่ตรงถึงผู้บริโภคโลก
วันนี้ อ.ต.ก. กำลังเปลี่ยนบทบาทครั้งใหญ่ ไม่ใช่แค่ “จัดตลาด” แต่กลายเป็น “นักการตลาดระดับประเทศ” ที่ช่วยให้เกษตรกรไทยปั้นแบรนด์ เจาะตลาดพรีเมียม และพาของไทยไปยืนเคียงสินค้าระดับโลก
บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักภารกิจที่ไม่ใช่แค่เรื่องการเกษตร แต่คือ กลยุทธ์” และ “เรื่องเล่า” ที่พาชื่อไทยโกอินเตอร์
บทบาทใหม่ของ อ.ต.ก. ในยุคเกษตรพรีเมียม
“ในอดีต อ.ต.ก. มีหน้าที่แค่จัดการตลาดสินค้าเกษตร แต่ปัจจุบันเราได้ยกระดับบทบาทเป็น แขนขวาของรัฐ ในการขับเคลื่อนตลาดสินค้าเกษตรไทยอย่างเต็มตัว” ปณิธาน มีไชยโย ผู้อำนวยการ อ.ต.ก. อธิบายถึงการปรับบทบาทของ อ.ต.ก.
“เราทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะฝ่ายผลิต เพื่อช่วยให้เกษตรกรพัฒนาสินค้าของตนให้ตรงกับความต้องการของตลาด และก้าวเข้าสู่ตลาดพรีเมียมได้อย่างเป็นรูปธรรม”
การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่แค่บนกระดาษ แต่สะท้อนชัดในนโยบายและโครงการจริง เช่น การเปิด Digital Marketplace ที่ให้เกษตรกรและ SME ขายตรงถึงผู้บริโภค ลดต้นทุนและขั้นตอนการค้าส่ง รวมถึงการทำหน้าที่เป็น Trader และ Trade Agent ขยายโอกาสส่งออก พร้อมทั้งพัฒนา “พื้นที่ อ.ต.ก.” ให้เป็น Market Experience ถ่ายทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยผ่านสินค้าเกษตรอย่างแท้จริง
สินค้าเกษตรพรีเมียม เจาะตลาด Niche เพิ่มมูลค่า 10 เท่า
สินค้าเกษตรไทยหลายชนิด เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ ลำไย และกาแฟอินทรีย์ ล้วนมีศักยภาพเพิ่มมูลค่าในตลาดต่างประเทศได้มากกว่า 10 เท่า หากรู้จักวางตำแหน่งให้ดี
“ตลาด Niche ที่ลูกค้าเต็มใจจ่าย คือโอกาสที่ SME ไทยควรโฟกัส เพื่อเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน ไม่ต้องรอการแทรกแซงราคาจากภาครัฐ” ผอ.ปณิธาน ย้ำ
การเจาะตลาดกลุ่มนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องคุณภาพสินค้า แต่ต้อง สร้างเรื่องราวและตัวตนของแบรนด์ ให้ชัด เพื่อให้สินค้าไทยโดดเด่นบนเวทีโลก
“มะม่วงก็คือมะม่วง ปอกเปลือกแล้วมันก็ดูเหมือนกันหมด แต่ ‘มะม่วงน้ำดอกไม้ของเรา’...มัน fantastic”
“ผู้บริโภคต่างชาติเขารับรู้ได้ถึงความต่าง แม้ราคาจะสูงกว่า 1–2 ยูโร พวกเขาก็ยินดีจ่าย ถ้าเราสื่อสารให้เขาเห็นคุณค่า”
ที่ผ่านมา ไทยเน้นทำตลาดแบบ B2B เป็นหลัก ส่งของไปให้ผู้นำเข้า แต่ไม่ได้สื่อสารตรงกับผู้บริโภคปลายทาง
“ตลาดพรีเมียมจะเกิดขึ้นจริงไม่ได้ ถ้า คนซื้อไม่รู้ว่าสินค้าเราดีแค่ไหน สุดท้ายก็เหลือแค่เรื่องเล่ากันเองในวงใน”
สร้างประสบการณ์ให้ตลาดโลกรู้จักสินค้าไทย
อ.ต.ก. วางกลยุทธ์ใหม่ที่ไม่ได้เน้นแค่ “ขายของ” แต่ต้อง “สร้างประสบการณ์” และ “สร้างความเชื่อมั่น”
ครึ่งปีหลัง 2568 เตรียมใช้งบ 10–16 ล้านบาท เดินหน้าจัด โรดโชว์ใน 3 ประเทศตะวันออกกลาง ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย อิสราเอล และจอร์แดน ซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงและเปิดรับวัฒนธรรมอาหารจากเอเชีย
พร้อมทั้งนำสินค้าไทยไปโชว์ในงาน International Green Week (IGW) งานเกษตรระดับโลกที่มีผู้ร่วมงานกว่า 200,000 คน เพื่อสร้าง “Market Experience” หนุนแบรนด์พรีเมียมโดยตรง
Flagship Farmers: พัฒนา “คนจริง” ในสนามจริง
นอกจากผลักดันสินค้า อ.ต.ก. ยังให้ความสำคัญกับ “การลงทุนในคน” ผ่านโครงการ Flagship Farmers คัดเลือกเกษตรกรต้นแบบที่มีศักยภาพเข้าสู่ตลาดพรีเมียม และพัฒนาทักษะด้านต่างๆ เช่น
- มาตรฐาน UDR และ ESG
- การตั้งราคาขาย
- การเจรจาธุรกิจ
- การฝึกขายในตลาดจริง
นี่คือ “โครงสร้างพื้นฐานเชิงคน” ที่จะทำให้การพัฒนาตลาดพรีเมียมเกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่แค่ในแผนงาน
เกษตรกรต้องรู้ลึกตลาด ก่อนส่งของสู่โลก
ผู้อำนวยการ อ.ต.ก. ฝากข้อคิดสำคัญสำหรับเกษตรกรและ SME ที่อยากผลักดันสินค้าสู่ตลาดโลกว่า ต้องเตรียมพร้อม 3 เรื่องหลัก:
1. รู้ลึกสินค้าของตัวเอง: จุดแข็ง จุดขาย และเรื่องราวที่แตกต่างจากคนอื่น
2. เข้าใจกลุ่มเป้าหมายปลายทาง ลูกค้าในแต่ละประเทศมีรสนิยมและความต้องการไม่เหมือนกัน ต้องเข้าใจว่าพวกเขาชอบอะไร
3. ตามให้ทันเทรนด์โลก โดยเฉพาะเทรนด์สำคัญ เช่น BCG (Bio-Circular-Green Economy) ความยั่งยืน (Sustainability) ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล) ที่เป็นตัวชี้วัดความพร้อมของสินค้าในตลาดพรีเมียมระดับสากล
“เราต้องไม่ใช่แค่ ‘ส่งของออก’ แต่ต้อง ‘ส่งของถึงใจ’ ผู้บริโภคโลกให้ได้จริง”
ไทยมีของดีอยู่แล้ว...แค่ต้องทำให้โลกเห็น “สินค้าไทยดีอยู่แล้ว แต่ต้องทำให้โลกเห็น” นี่คือหัวใจของการขับเคลื่อนสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดโลกอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่การตลาด แต่คือภารกิจแห่งความภูมิใจของเกษตรกรไทยทุกคน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี