JR Farm ปั้นไข่ผำแนวตั้งเจ้าแรกของไทย พลิกพืชพื้นบ้านสู่ซูเปอร์ฟู้ดหลักพันต่อกิโล  ด้วยสมาร์ทฟาร์มเต็มระบบ

Text: Neung Cch.

Photo: JR Farm


     วันที่คนอื่นมองว่าเขาบ้า แต่เขากำลังสร้างระบบ

     วันที่คนอื่นยังไม่เชื่อใน ‘ผำ’ เขาเชื่อใน “ระบบของตัวเอง”

     วันนี้เขากลายเป็นผู้บุกเบิก “ไข่ผำแนวตั้งระบบปิด” รายแรกของประเทศไทย

     จากพืชพื้นบ้านที่รู้จักในวงจำกัดเฉพาะชุมชนท้องถิ่นถูกมองข้ามในเชิงพาณิชย์ “ไข่ผำ” กลายเป็นซูเปอร์ฟู้ดราคาหลักพันบาทต่อกิโลกรัม ส่งออกไกลถึงยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออก ผู้บุกเบิกเบื้องหลังคือ ณัฐวุฒิ จันทร์เรือง ทายาทสวนจันทร์เรือง จังหวัดจันทบุรี ที่เปลี่ยนการทำเกษตรจาก “เลี้ยงผำ” มาเป็น “ไข่ผำแนวตั้ง” ตั้งแต่วันที่ยังไม่มีใครเชื่อ เมื่อ 5 ปีก่อน มาวันนี้กลายเป็นสินค้าส่งออกที่ได้รับความสนใจในตลาดยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย

โอกาสที่หลายคนมองข้าม

     ใครจะคิดว่า "ผำ"พืชน้ำสีเขียวจิ๋วๆ ที่ลอยอยู่ตามคูคลองจะถูกหยิบขึ้นมาเลี้ยงดูในระบบแบบปิดพร้อมยกระดับให้กลายเป็นพืชโปรตีนที่มีมูลค่าสูงถึง หลักพันบาทต่อกิโลกรัม

     จุดเริ่มต้นของทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นเมื่อ ณัฐวุฒิ เดินผ่านบ่อกระบะปูนในงานพืชสวนที่จังหวัดจันทบุรี แล้วสะดุดตากับพืชเล็กๆ สีเขียวที่จัดแสดงในโครงการพระราชดำริอ่าวคุ้งกระเบน พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า มันคืออะไร ความสงสัยไม่ถูกเก็บไว้นานพอกลับมาบ้านเขาทำการค้นข้อมูล พบว่า ไข่ผำเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก อุดมไปด้วย วิตามิน B12, กรดอะมิโนครบถ้วน และโปรตีนสูงถึง 40% เหมาะจะเป็นแหล่งโปรตีนจากพืชทางเลือก สำหรับยุคที่ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น

     แต่ในวันที่ไม่มีใครรู้จักผำ และบางคนถึงกับขยะแขยงที่จะกิน เขาคือหนึ่งในไม่กี่คนที่มองเห็น “โอกาสทางธุรกิจ” ที่ซ่อนอยู่

     “ตอนเริ่มเมื่อ 5 ปีก่อน ผมแทบขายไม่ได้เลย คนไม่รู้จัก บางคนถึงกับขยะแขยง แต่ผมเชื่อว่าของดี ถ้าทำให้ถูกต้อง วันหนึ่งคนต้องให้ค่า”

พลิกพืชพื้นบ้านด้วย “ฟาร์มแนวตั้งระบบปิด”

     ปัญหาใหญ่ของการทำฟาร์มไข่ผำแบบเดิม คือ ใช้พื้นที่กว้าง ควบคุมคุณภาพได้ยาก เสี่ยงต่อการปนเปื้อนจากแมลงและสิ่งแวดล้อม ณัฐจึงตัดสินใจพัฒนา “ระบบแนวตั้งในโรงเรือนปิด” ด้วยการออกแบบรางเลี้ยงเป็นชั้นๆ ในพื้นที่จำกัด และใช้น้ำ RO ที่สะอาดระดับน้ำดื่ม ทำให้ “กินสดได้แทบไม่ต้องล้าง”

     “ผมมองว่า ถ้าทำฟาร์มแบบเดิม เราจะไม่สามารถควบคุมคุณภาพและขยายผลได้ แต่ถ้าเราสร้างระบบแนวตั้งในโรงเรือนปิด เราควบคุมได้หมด ตั้งแต่แสง น้ำ อุณหภูมิ จนถึงคุณภาพของผำ”

     ระบบนี้ทำให้ JR Farm ใช้พื้นที่เพียง 65x165 เซนติเมตรต่อชั้น เลี้ยงได้ 6 ชั้นต่อโรงเรือน รอบการผลิต 10 วัน สามารถให้ผลผลิตรวม 7 กิโลกรัมต่อโรงเรือน และเมื่อขยายเป็น 15 โรงเรือน จะสามารถผลิตได้กว่า 200-300 กิโลกรัมต่อเดือน

จากพืชริมคลอง สู่สินค้าส่งออก ด้วยมาตรฐาน GAP รายแรกของไทย

     แม้มองเห็นศักยภาพของผำตั้งแต่ต้น แต่การจะทำให้ตลาดยอมรับไม่ใช่เรื่องง่าย

     “ย้อนไปสัก 3 ปี ผมแทบขายไม่ได้เลย คนไม่รู้จัก บางคนก็รังเกียจว่ามันไม่สะอาด เอาไปแจกชิมตามงาน OTOP ก็ไม่มีใครสนใจ” ณัฐวุฒิเล่าถึงช่วงเวลาที่ยากที่สุด

     “แม้กระทั่งคนในบ้านยังถามว่าทำไมต้องเลี้ยงผำหลายบ่อรอบบ้านกลัวจะเป็นแหล่งเพาะยุงและกบด้วยซ้ำ”

     แต่คำว่า ยอมแพ้ ไม่มีอยู่ในพจนานุกรมของเขา ณัฐเลือกตอบโจทย์ความไม่เชื่อ ด้วย “มาตรฐาน” แทนคำอธิบาย

     หลังจากพัฒนาระบบแนวตั้งจนควบคุมคุณภาพได้สม่ำเสมอ เขาจึงเดินหน้าไปยื่นเรื่องกับกรมวิชาการเกษตร ขอให้มาตรวจและรับรองมาตรฐานฟาร์มไข่ผำ

     ผลลัพธ์คือ JR Farm กลายเป็นฟาร์มไข่ผำรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรอง GAP (Good Agricultural Practices) นั่นกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้ตลาดเริ่มหันมาให้ความเชื่อถือ

     “พอมีกระแสขึ้นมา แล้วมีมาตรฐานรองรับ กลายเป็นว่าคนสนใจเอง โดยที่เราไม่ต้องไปเสนอใครเลย มันต่างกันคนละเรื่องกับช่วงเริ่มต้นที่ใครๆ ก็หาว่าเราบ้า”

     วันนี้ ลูกค้าต่างประเทศเริ่มติดต่อเข้ามาเอง ทั้งจากยุโรป ตะวันออกกลาง รัสเซีย จีน และอีกหลายประเทศในเอเชีย

     เพราะในวันที่ไม่มีใครเชื่อ เขาเลือกสร้างสิ่งที่ทำให้โลกต้องเชื่อคือ มาตรฐาน

     “อะไรที่ส่งเสริมให้ไข่ผำเจิดจรัสได้ เราก็รีบทำ ทั้งการขอมาตรฐาน การส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ทำก่อนก็ย่อมได้เปรียบ ทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น ก็ทำให้การค้าขายง่ายขึ้น”

สมาร์ทฟาร์ม = ลดต้นทุน + เพิ่มคุณภาพ

     สิ่งที่ทำให้ JR Farm แตกต่างจากฟาร์มทั่วไป คือการนำเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มมาใช้แบบเต็มรูปแบบ ไม่ได้แค่เลี้ยงไข่ผำในแนวตั้ง แต่ยังเชื่อมต่อระบบทั้งหมดกับเซนเซอร์เพื่อตรวจวัดแบบเรียลไทม์ เช่น

     - ควบคุมค่าแสง ค่า pH และความเข้มข้นของน้ำ (EP, CS)

     - ใช้ระบบเปิด-ปิดน้ำอัตโนมัติ

     - ติดตั้งกล้องวงจรปิดในโรงเรือน

     - ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ช่วยลดค่าไฟ

     ณัฐวุฒิเล่าว่า “ลงทุนครั้งแรกอาจสูงถึง 300,000 บาทต่อโรงเรือน แต่คืนทุนได้ภายใน 1 ปี เพราะลดค่าแรง ใช้น้ำน้อย และควบคุมคุณภาพได้แม่นยำกว่าเดิมมาก”

     นอกจากช่วยเรื่องความสะอาด การเลี้ยงในแนวตั้งยังเพิ่มความง่ายในการจัดการ หากเกิดความผิดปกติ เช่น ผำตาย ก็สามารถแก้ไขเป็นชั้นๆ ได้ทันที ไม่กระทบต่อทั้งระบบเหมือนบ่อเลี้ยงทั่วไป และยังช่วยมอนิเตอร์ค่าต่างๆ ของน้ำได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

แปรรูป = เพิ่มมูลค่าหลายเท่า

     นอกจากที่จะทำระบบการเลี้ยงไข่ผำแนวตั้งแบบปิดแล้ว ทาง JR Farm ยังได้ต่อยอดนำผำมาแปรรูปซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าและขยายตลาดไปได้อีกมากมาย

     “ผำสดผมขายได้กิโลกรัมละ 200 บาท แต่พอแปรรูปเป็นผงสุขภาพ หรือเป็นสินค้าพรีเมียม มูลค่ามันพุ่งขึ้นไปถึงหลักพันบาทต่อกิโลเลยครับ” 

     ณัฐวุฒิ บอกว่าที่ JR Farm เลือกใช้พันธุ์ไข่ผำโฟโมซ่า ที่ให้โปรตีนสูงถึง 40% ซึ่งเหมาะกับการแปรรูปในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ผงไข่ผำเพื่อสุขภาพ คุกกี้ไข่ผำ บะหมี่ไข่ผำ หรือแม้กระทั่ง ผำผสมมัทฉะ ที่เป็นเครื่องดื่มพร้อมชงแบบพรีเมียม

     แต่ละผลิตภัณฑ์ไม่เพียงแต่เพิ่มรายได้ ยังช่วยให้ JR Farm เข้าถึงตลาดใหม่ๆ ที่มองหา Plant-based Superfood เช่น ร้านอาหารคลีน สปา โรงแรม และตลาดสุขภาพในต่างประเทศ

     การแปรรูปยังเป็นทางออกสำคัญในการยืดอายุผำ เพราะสินค้าสดเก็บได้เพียงไม่กี่วัน แต่เมื่อทำเป็นผงหรือสินค้าแปรรูป จะสามารถเก็บรักษาได้นานขึ้นหลายเดือน ช่วยให้บริหารสต๊อกและส่งออกง่ายขึ้น

     ณัฐเชื่อว่า “สมาร์ทฟาร์มไม่ใช่เพียงทางรอด แต่เป็น ‘ทางร่วม’ ที่ต้องมีในยุคปัจจุบัน เพราะช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น แม่นยำขึ้น สามารถประเมินผลผลิตล่วงหน้าและรับมือกับปัญหาได้ก่อนใครๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในยุคที่การแข่งขันสูงมาก ทั้งต้นทุน ราคา ปริมาณ และคุณภาพ”

     “คนมองว่าเกษตรทำกำไรน้อย แต่จริงๆ ถ้าเราคิดเรื่องแปรรูปตั้งแต่ต้น กำไรต่อหน่วยมันสูงกว่าขายของสดหลายเท่าที่สำคัญเราคุมแบรนด์ได้ด้วย ไม่ใช่แค่ขายวัตถุดิบ”

     “ถ้าจะทำเกษตรยุคนี้ อย่ากลัวเทคโนโลยี ต้องทำมาตรฐานและแปรรูปเพิ่มมูลค่าอย่าทำแค่ขายของสด เพราะตลาดต้องการสินค้าที่มีคุณภาพสูง และเล่าเรื่องผ่านออนไลน์ได้”

     ณัฐใช้ TikTok, Facebook, และ YouTube ในการสื่อสารกับตลาด สร้างความเข้าใจให้คนรู้ว่า “ผำ” คืออะไร และดียังไง เขาบอกว่า “ถ้าไม่เล่าเอง คนก็จะไม่รู้ว่าของดีอยู่ตรงไหน”

     สุดท้ายแล้ว ธุรกิจที่เติบโตได้ ไม่ใช่แค่เพราะทำของดี แต่เพราะ “กล้าทำสิ่งดี ตั้งแต่วันที่ยังไม่มีใครเห็นค่า” เหมือนที่ณัฐเคยบอกไว้ “ผมไม่ได้เห็นแค่พืชในบ่อ…ผมเห็นโอกาสที่คนอื่นมองไม่เห็น”

      และวันนี้ JR Farm ก็คือคำตอบของคนที่ “กล้าเริ่ม ก่อนใครเชื่อ”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Momento Coffee Roaster  จากคั่วกระทะหลังหอ สู่แบรนด์กาแฟ ที่สร้างรายได้ 1.5 ล้านบาทต่อเดือน

จากเด็กที่ไม่รู้ว่าชอบอะไร สู่เจ้าของโรงคั่วกาแฟที่โตมาด้วยความเชื่อว่าทำก่อน แล้วค่อยรู้ว่ารัก ตามไปรู้จัก เต้ย-เฉลิมชาติ สีเขียว เจ้าของแบรนด์ “Momento Coffee Roaster” ที่เริ่มคั่วกาแฟจากกระทะหลังหอ สู่เจ้าของโรงคั่วที่ขายได้ 1.5 ล้านบาทต่อเดือน

Tasty Toastys ขนมปังสุดน่ารัก ที่เริ่มต้นจาก NFT ก่อนมาปังในโลกจริง

Tasty Toastys แบรนด์ขนมปังคาแรกเตอร์น่ารักจากสิงคโปร์ ที่เริ่มต้นจากแรงบันดาลใจง่ายๆ แต่ลึกซึ้งจนกลายเป็นธุรกิจของสะสมและไลฟ์สไตล์ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก

ดูไว้! 3 ประสบการณ์วิกฤต จากแบรนด์ดัง ที่เคยเกือบเหลือแต่ชื่อมาแล้ว

กว่าจะประสบความสำเร็จให้เราเห็นอย่างทุกวันนี้ได้ หลายแบรนด์ดัง ต้องเคยผ่านอุปสรรคกันมาบ้าง จนหลายแบรนด์เกือบเคยสิ้นชื่อ ล้มละลายมาแล้วก็มี แต่สุดท้ายก็กลับมาได้ พวกเขาผ่านมันมาได้ยังไง?