เรียบเรียง : Jitti
ในยุคที่โลกธุรกิจผสานกับเทคโนโลยีอย่างไร้รอยต่อ การสร้างแบรนด์ไม่ใช่แค่การขายสินค้าอีกต่อไป แต่คือการเล่าเรื่องราวที่จับใจผู้คนอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับ Tasty Toastys แบรนด์ขนมปังคาแรกเตอร์น่ารักจากสิงคโปร์ ที่เริ่มต้นจากแรงบันดาลใจง่ายๆ แต่ลึกซึ้งจนกลายเป็นธุรกิจของสะสมและไลฟ์สไตล์ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก
Tasty Toastys ถือเป็นตัวอย่างของการปรับตัวในยุคดิจิทัล เริ่มจาก NFT (Non-Fungible Token หรือสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความเฉพาะตัวไม่ซ้ำใคร) ก่อนขยายสู่สินค้าจริง และสร้างชุมชนแฟนคลับที่เหนียวแน่นทั้งในโลกออนไลน์และโลกจริง
จุดเริ่มต้นของแบรนด์ สู่ขนมปังที่ทำให้คนทั่วโลกยิ้มได้
Chanel Lee ผู้ก่อตั้งแบรนด์ เป็นอดีตพนักงานองค์กรที่มีความฝันอยากสร้างแบรนด์ของตัวเอง แรงบันดาลใจสำคัญมาจากฉากหนึ่งใน The Simpsons ที่ตัวละคร Homer นอนห่มผ้าบนเตียงด้วยความสุขสบาย เธอต้องการถ่ายทอดความรู้สึกอบอุ่นใจนี้ออกมาในรูปแบบของแบรนด์ที่ชื่อว่า Toasty แม้จะดูเรียบง่าย แต่ตัวการ์ตูนเหล่านี้กลับกลายเป็นที่รักของผู้คนในหลายประเทศ เพราะเข้าถึงความรู้สึกเป็นมนุษย์ธรรมดาๆที่มีทั้งวันที่ดีและวันที่เหนื่อยล้า ความจริงใจของแบรนด์จึงเป็นเสน่ห์ที่ทำให้คนอยากส่งต่อ ซึ่งสิ่งนี้เองที่ทำให้แบรนด์สามารถขยับขยายจากตุ๊กตา ไปสู่ของสะสม สินค้าแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ หรือแม้แต่กิจกรรมอีเวนต์ที่ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วม
สิ่งที่ทำให้ Tasty Toastys น่าสนใจกว่าของเล่นทั่วไป คือการมอง “สินค้า” เป็นมากกว่าผลิตภัณฑ์ แต่เป็น “คาแรกเตอร์ที่มีชีวิต” ทีมงานตั้งใจสร้างจักรวาลของ Tasty Toastys ให้มีเรื่องราวและบุคลิกเฉพาะตัว เช่น MG (Multigrain) แทนความอดทน และ Burnt แทนความกล้าหาญ
หนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญของแบรนด์ คือการนำ Tasty Toastys เข้าสู่โลกของ NFT ซึ่งเป็นตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่ให้เจ้าของสามารถถือครองคาแรกเตอร์ดิจิทัลที่ไม่ซ้ำใคร โดยแม้แบรนด์จะเริ่มต้นจาก NFT แต่ Chanel เคยทดลองหลากหลายแนวทางก่อนเข้าสู่วงการนี้ในช่วงปลายปี 2021 ซึ่งกระแสคริปโตและศิลปะดิจิทัลกำลังมาแรง
คอลเลกชัน NFT ชุดแรกอาจไม่เปรี้ยง แต่ชุดที่สองขายหมดในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว และทำยอดซื้อขายกว่า 24 ETH (ราว 75,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในตอนนั้น) ภายในเดือนแรก
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2022 ตลาดคริปโตเกิดวิกฤติครั้งใหญ่ ความสนใจใน NFT ลดลง แม้แต่สตาร์ตอัพเกมที่ร่วมมือกับเธอก็ต้องปิดตัว Chanel จึงตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางธุรกิจ
จาก NFT สู่สินค้าจริง ขยายสู่ไลฟ์สไตล์ระดับโลก
Chanel มองเป้าหมายระยะยาวของ Tasty Toastys คือการเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ระดับโลก และการมีสินค้าจริงเป็นส่วนสำคัญของแผนนี้ ดังนั้น ต้นปี 2023 หลังถอนตัวจากวงการ NFT เธอเริ่มต้นวางขายสินค้าจริงครั้งแรก ได้แก่ พวงกุญแจตุ๊กตาและหมอน 1 ใบ ผ่านร้านฝากขาย ToyOutpost ที่ Plaza Singapura ท่ามกลางการแข่งขันกับแบรนด์นับพัน และเพื่อเพิ่มการมองเห็นและยอดขาย Chanel ใช้แพลตฟอร์ม TikTok ไลฟ์สดร่วมกับผู้ขายคนอื่น ๆ ดึงดูดกลุ่มผู้ซื้อชาวสิงคโปร์ที่นิยมแพลตฟอร์มนี้
เธอยอมรับว่าการสร้างฐานลูกค้าใหม่เป็นเรื่องท้าทาย เพราะกลุ่มลูกค้า NFT เดิมส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศและไม่เปิดเผยตัวตน อีกทั้งความสนใจใน NFT ไม่ได้แปลเป็นความต้องการสินค้าจริงเสมอไป
Chanel จึงเริ่มจัดอีเวนต์ Pop-up ทั่วสิงคโปร์ ล่าสุดที่ Jewel Changi Airport พร้อมขยายไลน์สินค้าสู่ของใช้ที่มีฟังก์ชัน เช่น ถุงผ้า กระเป๋าคาดอก หมอนรองคอเดินทาง และขวดน้ำเก็บอุณหภูมิ ซึ่งยังคงคอนเซปต์ความอบอุ่นน่ารักแบบ Toasty
ในเดือนพฤษภาคม 2024 เธอเปิดตัว Blind Box คอลเลกชันแรกของแบรนด์ ตามเทรนด์ของสะสมแบบสุ่มที่ได้รับความนิยมอย่าง PopMart
ปัจจุบัน Tasty Toastys มีสินค้ากว่า 20 รายการ บางชิ้นวางจำหน่ายในร้าน Toys “R” Us ทั้ง 12 สาขาทั่วสิงคโปร์ และขยายตลาดไปยังร้านหนังสือในลอนดอน Don Don Donki ในญี่ปุ่น รวมถึงร้านค้าในบรูไน ไต้หวัน และมีออเดอร์จากสหรัฐฯ จีน และออสเตรเลีย
Photo Credit : Instagram@tastytoastys
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี