ส่อง Virtual Bank จากกรณีศึกษาไต้หวัน สู่ธนาคารไร้สาขาในไทย

     เทคโนโลยีในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำธุรกรรมของผู้คน จากที่เคยต้องพึ่งพาธนาคารแบบมีสาขาในการฝาก ถอน โอน จ่าย ก็สามารถทำธุรกรรมเหล่านี้ได้ง่ายๆ ผ่านสมาร์ทโฟน ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ หลายประเทศทั่วโลกได้เริ่มสนับสนุนการจัดตั้ง ‘ธนาคารไร้สาขา’ หรือ ‘Virtual Bank’ ขึ้น เพื่อให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก หนึ่งในนั้นคือ ไต้หวัน โดยธนาคารไร้สาขาจะมีลักษณะอย่างไร และประเทศไทยสามารถถอดบทเรียนอะไรจากโมเดลนี้บ้าง มาศึกษาไปพร้อมกัน 

ธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ข้อมูลสำคัญที่ทุกคนต้องรู้

    ธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank คือ สถาบันการเงินที่ให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก โดยนำเทคโนโลยีและข้อมูลที่หลากหลาย เช่น ข้อมูลการใช้จ่าย ข้อมูลจำนวนเงินฝาก ข้อมูลสินเชื่อ ฯลฯ มาใช้ประเมินความเสี่ยงและวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า ตลอดจนพัฒนาบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ธนาคารรูปแบบนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2538 ในสหรัฐอเมริกา ภายใต้ชื่อว่า ‘Security First Network’ เพื่อพัฒนาช่องทางสำหรับการลดความเสี่ยงในการทำธุรกรรม ผ่านรูปแบบการจัดตั้งที่หลากหลาย อาทิ การจัดตั้งบริษัทลูกแยกออกจากธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม การจัดตั้งบริษัทลูกของ Non-bank  หรือการร่วมหุ้นระหว่าง Non - Bank ด้วยกันเอง  

     สำหรับการทำงานของ Virtual Bank จะใกล้เคียงกับธนาคารรูปแบบเดิม ลูกค้ายังสามารถเปิดบัญชีเงินฝาก และทำเรื่องยื่นขอสินเชื่อได้ เพียงแต่จะต้องทำรายการผ่านระบบดิจิทัลทั้งกระบวนการ ไม่มีสมุดคู่ฝากเป็นเล่ม ไม่ต้องกรอกเอกสารเป็นฉบับ ส่วนผู้ที่ต้องการถอนเงินสดออกจากบัญชี Virtual Bank สามารถทำรายการผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารอื่น ที่เป็นพันธมิตรรับฝาก/ถอนของ Virtual Bank นั้น ๆ ได้

     ปัจจุบัน ธนาคารไร้สาขาแพร่หลายแล้วในหลายประเทศ แต่อาจมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป เช่น สิงคโปร์และมาเลเซียเรียกว่า Digital Bank เกาหลีและไต้หวันเรียกว่า Internet-only Bank และฮ่องกงเรียก Virtual Bank เป็นต้น

ส่องโมเดลธนาคารไร้สาขาของไต้หวัน กับ 3 เงื่อนไขสำคัญ

     ธนาคารไร้สาขาของไต้หวัน เปิดให้มีการจัดตั้งครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2564 ภายใต้เงื่อนไขสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่

     1. ต้องมีธนาคารหรือ Financial Holding Company เป็นผู้ถือหุ้นใน Virtual Bank ไม่น้อยกว่า 25% และสำหรับผู้ถือหุ้นไม่ใช่สถาบันการเงิน ต้องมีสัดส่วนการถือหุ้นมากกว่า 10%

     2. ไม่มีการจัดตั้งสาขาบนพื้นที่ทางกายภาพ ยกเว้นสำนักงานใหญ่หรือศูนย์ให้บริการลูกค้า

     3. เงินทุนขั้นต่ำในการจัดตั้งคือ 10,000 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน หรือประมาณ 13 หมื่นล้านบาท

ผลลัพธ์ 5 ปี การมี Virtual Bank ไต้หวัน ยกระดับบริการการเงินที่ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล มาพร้อมความปลอดภัยขั้นสูง

    ภายหลังการจัดตั้ง Virtual Bank มาเป็นเวลา 5 ปี พบว่าบริการที่นิยมโดยทั่วไปยังคงเป็นการฝาก ถอน โอน จ่าย การใช้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และการแลกเปลี่ยนเงินตรา โดย 75% ของผู้ใช้งานคือกลุ่มนักศึกษา พนักงานบริษัท และผู้ที่ทำงานในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ที่มีอายุระหว่าง 20 – 39 ปีและคุ้นเคยกับเทคโนโลยีเป็นอย่างดี ส่วนมาตรการด้านการกำกับดูแล Virtual Bank ในไต้หวันต้องปฏิบัติตามเกณฑ์เดียวกันกับสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม แต่เพิ่มความเข้มข้นในส่วนของมาตรการความมั่นคงปลอดภัยทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (Cyber Security Measures) เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์การเกิดภาวะวิกฤต และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งาน โดยปัจจุบัน Virtual Bank ในไต้หวันประกอบด้วยผู้เล่น 3 รายในตลาด โดยผู้เล่นที่มีลูกค้ามากที่สุดได้แก่ 1. LINE Bank (ลูกค้า 1.7 ล้านราย) 2. Next Bank (ลูกค้า 3.5 แสนราย) และ 3. Rakuten (ลูกค้า 2 แสนราย) และเมื่อพิจารณาสินทรัพย์ของ Virtual Bank ทั้ง 3 รายรวมกัน จะมีสัดส่วนสินทรัพย์ต่อระบบธนาคารพาณิชย์ ร้อยละ 0.2 ของสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ร่วม

จากความสำเร็จ Virtual Bank ไต้หวันสู่ Virtual Bank ไทย

     เทรนด์การจัดตั้งธนาคารไร้สาขาที่กำลังมาแรง และความสำเร็จของการจัดตั้ง Virtual Bank ในไต้หวัน เป็นแรงสนับสนุนให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องวางรากฐานการจัดตั้งธนาคารไร้สาขาไว้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสามารถทางเทคโนโลยี เข้ามาพัฒนานวัตกรรม และนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ ทั้งนี้ Virtual Bank ที่ได้รับอนุญาตจะมีสถานะเป็นธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในไทย และมีขอบเขตการประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป เพียงแต่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะ อาทิ ช่องทางให้บริการ และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่รองรับการให้บริการผ่านดิจิทัล  ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ได้ภายในกลางปีพ.ศ. 2568

สถาบันคุ้มครองเงินฝาก กับความพร้อมก่อนก้าวสู่ยุค Virtual Bank เต็มรูปแบบ

    สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ตระหนักถึงพันธกิจในการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ฝากเงิน จึงกำหนดแนวทางสำหรับการคุ้มครองเงินฝากใน Virtual Bank โดยดำเนินการเตรียมความพร้อมในส่วนที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้วในปี 2567 ได้แก่ ศึกษาพระราชบัญญัติ ประกาศ ข้อบังคับ คำสั่ง นโยบาย หลักเกณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับ Virtual Bank เตรียมการด้านกระบวนการ ระบบงาน และบุคลากรภายใน ตลอดจนการเตรียมความพร้อมให้ Virtual Bank สร้างการรับรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองเงินฝากผ่านการแสดงสัญลักษณ์การคุ้มครองเงินฝากบนช่องทางการให้บริการทางการเงินของธนาคารเพื่อให้ประชาชนเกิดการตระหนักรู้และผู้ฝากเงินทุกคนมั่นใจได้ว่า เงินฝากที่อยู่กับธนาคาร Virtual Bank ได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: FINANCE

รวมสินเชื่อรถแลกเงิน ตัวช่วยเสริมทุนให้ธุรกิจแบบง่ายๆ

"สินเชื่อรถแลกเงิน" คือทางออกที่ช่วยให้ผู้ประกอบการมีทุนไปต่อยอดธุรกิจ โดยที่ยังสามารถใช้รถได้ตามปกติ แต่สินเชื่อนี้ดีจริงไหม มีข้อดี-ข้อเสียอะไรบ้าง ธนาคารไหนให้ดอกเบี้ยถูกที่สุด มาดูรายละเอียดกันเลย

เคลียร์หนี้ให้จบ ด้วย 5 เทคนิคที่ใช้ได้จริง

การปลดหนี้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องยาก แต่จริง ๆ แล้วการปิดหนี้ให้ไวก็ไม่ได้ยากเกินไป เราเลยได้นำ 5 เทคนิคปลดหนี้ไวแบบมือโปร เพื่อให้ชีวิตสบายได้เร็วขึ้นมาฝากกัน

ทำความเข้าใจ e-Tax Invoice ช่วยธุรกิจปลดล็อกภาษีได้อย่างไร

แม้ผู้ประกอบการธุรกิจจะเริ่มคุ้นเคยกับ e-Tax Invoice ระบบใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่เข้ามาช่วยให้การจัดทำภาษีสะดวก รวดเร็ว ช่วยลดต้นทุนแต่ก็ยังมีผู้ประกอบการอีกจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจ เราเลยจะพาไปทำความเข้าใจกับ e-Tax Invoice กันให้มากขึ้น