ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.กระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเปิดโครงการ แรงงานในโรงเรียน โรงเรียนในโรงงาน ว่า โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานใน จ.นครปฐม กับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม หอการค้าจังหวัดนครปฐม สำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดนครปฐม ศูนย์ประสานงานสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 9 จังหวัดนครปฐม ซึ่งได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินโครงการร่วมกันเพื่อให้นักเรียน นักศึกษา มีความรู้ด้านแรงงาน รับรู้สิทธิ หน้าที่ด้านต่างๆ อย่างถูกต้องก่อนเข้าทำงานในสถานประกอบการ
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการวิเคราะห์ทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2556 โดยคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยยังไม่ดีนัก ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 3.1-7.2 % หรือคิดเป็นมูลค่า 238,175-246,685 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายสมเกียรติ ศิริชาติไชย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยได้พัฒนาเครือข่ายการให้บริการในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ยุทธศาสตร์การเป็นอาเซียนแบงก์(Asian Bank) ล่าสุด ธนาคารได้เปิดสำนักงานผู้แทนกรุงย่างกุ้งประเทศพม่า อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นศูนย์กลางการให้บริการแก่ลูกค้านักธุรกิจไทยที่ต้องการเข้าไปลงทุน หรือต้องการหาตลาดใหม่เพื่อส่งสินค้าไปยังประเทศพม่า ด้วยบริการข้อมูลและคำปรึกษาแบบครบถ้วนสมบูรณ์ ณ จุดเดียว (One Stop Service) ทั้งเรื่องการตลาดเชิงลึกข้อมูลการค้าการลงทุน กฎหมาย เครือข่ายธุรกิจที่สำคัญต่างๆ
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ดำเนินโครงการคลินิกภาษี ซึ่งเป็นนวัตกรรมการรูปแบบใหม่ในการให้บริการความรู้ด้านภาษีผ่านระบบออนไลน์ ONE STOP SERVICE โดยเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านภาษีอากร 3 กรม ได้แก่ กรมสรรพากร กรมศุลกากร และ กรมสรรพสามิต มาไว้ ณ จุดเดียว เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ สะดวก รวดเร็ว ตอบสนองความต้องการของประชาชนและภาคธุรกิจ และพร้อมรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 โดยขณะนี้ได้เริ่มนำร่องในพื้นที่ จ.ชลบุรี ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถใช้บริการคลินิกภาษีได้ที่ http://taxclinic.mof.go.th ตลอด 24 ชั่วโมง
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท. ) กล่าวว่า วันที่ 14 ธันวาคม 2555 นี้ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) จะพิจารณามาตรการชดเชยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท หลังจากในสัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงการคลังและกระทรวงแรงงานรับข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เช่นตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่างของค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น, การปรับลดอัตราเงินสมทบประกันสังคมจาก 5%เหลือ 2% และลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับการเหมาช่วงการผลิต จาก3% เหลือ 1-1.5% เป็นต้น แนวทางทั้งหมดจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เอสเอ็มอี 6-7%
นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมเบื้องต้น (GDP) ของเวียดนาม มาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วน 41.1% รองลงมาคือ จากภาคธุรกิจบริการ 38.3% และภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วน 20.6% ตามลำดับ และแม้ว่าเวียดนามจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเช่นเดียวกับนานาประเทศทั่วโลก แต่สำนักงานสถิติแห่งชาติของเวียดนาม (General Statistics Office : GSO) ก็รายงานว่า ในปี 2555 นี้ เวียดนามมีแนวโน้มที่จะเกินดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2555 เกินดุลการค้าแล้ว 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับอานิสงส์จากมูลค่าส่งออกสินค้าไฮเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งเป็นผลจากการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติรายใหญ่
นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า กรมฯ ได้จัดทำแผนในการผลักดันการส่งออกสำหรับปี 2556 โดยเน้นเป้าหมายใน 8 ภารกิจหลัก เพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าไทย โดยมีแผนที่จะดำเนินการชัดเจน และต้องการให้ทูตพาณิชย์และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของไทย (HTAs) ช่วยกันทำงานเพื่อสนับสนุนแผนดังกล่าว
รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าช่วง 10 เดือนของปี 2555 (มกราคม-ตุลาคม )มีโรงงานที่จำหน่ายทะเบียนต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมหรือปิดกิจการ 904 รายมูลค่า 27,574 ล้านบาทและมีการเลิกจ้างงาน 28,164 คน ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 รวมถึงไม่สามารถแข่งขันได้จากต้นทุนที่ปรับตัวสูง และถูกผู้ประกอบการที่มีความเข้มแข็งทั้งในและต่างประเทศแย่งตลาดสินค้าเช่นกลุ่มซ่อมยานยนต์ และมอเตอร์ไซต์, ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์, ออกแบบแม่พิมพ์ผลิตชิ้นส่วน, ขุดลอกดินในโครงการก่อสร้าง, โรงสีข้าว, เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น
นายพิศาล ธรรมวิเศษ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีดีเฮ้าส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ ศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์ และเอคิวโฮม กล่าวว่า ปี 2555 นี้ ถือเป็นอีกปีหนึ่งที่ภาคธุรกิจรับสร้างบ้าน ต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติอีกครั้ง ภายหลังจากปีที่แล้วเจอกับวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ ทำตลาดรวมรับสร้างบ้านลดวูบกว่า 20% มาปีนี้เจอกับกับวิกฤติแรงงานขาดแคลน