เอสเอ็มอีแบงก์ ส่งแผนฟื้นฟูให้ สคร. เรียบร้อยแล้ว เร่งแก้ไขปัญหา NPLs เบ็ดเสร็จทั้งตัดขายและจ้างเอกชนบริหาร รวมทั้งพยุงลูกค้าที่ยังดำเนินกิจการอยู่ปรับโครงสร้างหนี้ให้โอกาสฟื้นตัวต่อไปได้ ตั้งเป้าขยายสินเชื่อใหม่ปีหน้า 40,000 ล้านบาท เน้นช่วยผู้ประกอบการรายย่อยตามพันธกิจวงเงินไ..
เอสเอ็มอีแบงก์ ส่งแผนฟื้นฟูให้ สคร. เรียบร้อยแล้ว เร่งแก้ไขปัญหา NPLs เบ็ดเสร็จทั้งตัดขายและจ้างเอกชนบริหาร รวมทั้งพยุงลูกค้าที่ยังดำเนินกิจการอยู่ปรับโครงสร้างหนี้ให้โอกาสฟื้นตัวต่อไปได้ ตั้งเป้าขยายสินเชื่อใหม่ปีหน้า 40,000 ล้านบาท เน้นช่วยผู้ประกอบการรายย่อยตามพันธกิจวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท ตั้งเป้าบทบาทมีส่วนร่วมในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) แถลงข่าวว่า ธนาคารได้นำส่งแผนฟื้นฟูให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 28 พย. 2557 ที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญของแผนฟื้นฟูดังกล่าวคือ การแก้ไข NPLs และการขยายสินเชื่อ Good Loan โดยมีการสรุปปัญหาขององค์กร แนวทางการแก้ไขปัญหา และทิศทางการดำเนินกิจการต่อไปใน 1 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ ในส่วนของการแก้ไข NPLs ขณะนี้มีความคืบหน้าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ คือ
1. ลูกหนี้ NPLs ที่มีหลักประกัน ซึ่งมียอดคงค้าง 11,000 ล้านบาท ธนาคารได้ประกาศเปิดประมูลขายลูกหนี้ที่มีหลักประกันตั้งอยู่ในเขตภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 21 พย. 2557 ซึ่งลูกหนี้กลุ่มนี้มียอดคงค้างประมาณ 500 ล้านบาท และขณะนี้มีบริษัทบริหารสินทรัพย์ให้ความสนใจเข้ามาดูข้อมูลหลายราย และจะให้ยื่นราคาซื้อในวันที่ 15 มค. 2558
2. ลูกหนี้ NPLs ที่หยุดกิจการและไม่มีหลักประกัน มียอดหนี้คงค้างประมาณ 5,000 ล้านบาท จำนวนประมาณ 10,000 ราย ธนาคารได้ออกประกาศว่าจ้างเอกชนเข้ามาบริหาร มีผู้สมัคร 25 ราย ซึ่งขณะนี้คัดเลือกได้แล้วบ้าง เพื่อให้เข้ามาทำหน้าที่เจรจากับลูกหนี้แล้วเรียกเก็บหนี้ต่อไป
นอกจากนั้น ธนาคารได้เซ็นเอ็มโอยู กับกรมบังคับคดี เพื่อให้ทางกรมบังคับคดี ทำหน้าที่เป็นคนกลางเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างธนาคารกับลูกหนี้ไม่มีหลักประกันที่เป็นรายย่อยซึ่งศาลมีคำพิพากษาแล้ว โดยจะเริ่มการเจรจาไกล่เกลี่ยในวันที่ 9 ธค.2557 นี้ สำหรับลูกหนี้ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ส่วนลูกหนี้ตามเขตภูมิภาค จะเจรจาในลำดับต่อไป
3. ในส่วนของลูกหนี้ NPLs ที่ยังดำเนินกิจการ ธนาคารเร่งทำการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งมีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ เพราะขณะนี้ NPLs ลดลง โดย ณ มิย. อยู่ที่ 35,167 ล้านบาท (39.92%ของสินเชื่อรวม) ขณะที่เดือน ตค. อยู่ที่ 33,053 ล้านบาท (38.89 %ของสินเชื่อรวม)
ประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวอีกว่า ในส่วนการดำเนินการตามพันธกิจในปี 2558 นั้น ธนาคารมุ่งขยายสินเชื่อให้ SMEs รายย่อย โดยตั้งเป้าจะขยายสินเชื่อประมาณ 40,000 ล้านบาท ประกอบด้วย สินเชื่อ 9 เมนูคืนความสุข SMEs ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 9 กย.2557 วงเงิน 20,000 ล้านบาท และได้ตั้งวงเงินสินเชื่อเพิ่มอีก 20,000 ล้านบาท เป็นโครงการพิเศษ “สินเชื่อ SMEs คนดี ” เป็นการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าเดิมที่มีคุณภาพดีของธนาคาร และลูกค้าใหม่ที่มีศักยภาพ
ดังนั้น ธนาคารคาดว่ายอดสินเชื่อคงค้างสุทธิ ณ สิ้นปี 2558 น่าจะอยู่ในระดับ 120,000 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารตั้งเป้าจะปล่อยสินเชื่อใหม่ 40,000 ล้านบาทดังกล่าว และจะขาย NPLs ออกไปประมาณ 11,000 ล้านบาท ในขณะเดียวกันก็อาจมีลูกหนี้มาชำระคืนหรือ Refinance ไปอยู่กับธนาคารอื่น เป็นผลให้ยอดสินเชื่อสุทธิน่าจะเพิ่มขึ้น 30,000 ล้านบาท คือจาก 90,000 ล้านบาทในสิ้นปี 2557 ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับประมาณ 120,000 ล้านบาทในสิ้นปี 2558 หรือคิดเป็นอัตราเพิ่มประมาณ 33%
ทั้งนี้แม้ว่าจะเป็นอัตราเพิ่มที่มากอยู่บ้าง แต่เกิดขึ้นเนื่องจากธนาคารมีขนาดเล็ก ฐานสินเชื่อเดิมมีจำนวนไม่มากนัก ประการสำคัญที่สุด ธนาคารตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาคุณภาพสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นใหม่ จึงได้มีการจัดตั้งฝ่ายงาน Loan Monitoring เพื่อติดตามดูแลคุณภาพสินเชื่อ และกระจายพนักงานที่ทำงาน Loan Monitoring ไปอยู่สำนักงานเขตทั่วประเทศ
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 10 เดือนแรก ( มค. - ตค ) ปี 2557 ของธนาคาร ค่อยๆปรับตัวไปในทิศทางดีขึ้น โดยธนาคารมีกำไรสุทธิ 216 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากที่มีกำไรสุทธิ 116 ล้านบาท เพียงเดือน กย. 2557 และจากที่ขาดทุนครึ่งปีแรก 41 ล้านบาท สาเหตุสำคัญเนื่องจากธนาคารสามารถขยายสินเชื่อรายย่อยได้ตามพันธกิจ ทำให้ดอกเบี้ยรับเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ธนาคารสามารถป้องกันลูกหนี้เดิมไม่ให้ตกชั้นเป็น NPLs และปรับโครงสร้างลูกหนี้ NPLs เดิมให้กลับมาเป็นลูกหนี้ปกติได้ จึงไม่มีภาระตั้งสำรองเพิ่ม