Finanace

บสย.กับภารกิจค้ำประกันสินเชื่อ SME หน้าใหม่

 


 


เรื่อง กองบรรณาธิการ
ภาพ ชาคริต ยศสุวรรณ์


    ยากจะปฏิเสธว่า ปัญหาสำคัญของ SME ที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจคือปัญหาด้านเงินทุน ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องมาจากว่า SME ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการที่ขาดหลักประกันหรือหลักประกันไม่เพียงพอที่จะขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจาก SME กลุ่มนี้ยังไม่มีประวัติในการดำเนินธุรกิจมาก่อน จึงทำให้สถาบันการเงินพิจารณาหลักเกณฑ์ เข้มงวดยิ่งขึ้น
  
    อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอนี้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย.เป็นกลไกสำคัญที่จะเข้ามาช่วยเหลือ SME ด้วยการให้บริการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อให้ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินในวงเงินที่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่ง วัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป  บสย. ให้ข้อมูลว่า

    “กลุ่มผู้ประกอบการใหม่หรือสตาร์ทอัพ เป็นกลุ่มหนึ่งที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา จากตัวเลขของ สสว. มีการจดทะเบียนประมาณ 5 หมื่นราย ในจำนวนนี้จะเป็นหนี้เสียหรือไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว

    สถาบันการเงินจึงค่อนข้างเข้มงวด ปล่อยสินเชื่อยาก ซึ่งก็จะยิ่งทำให้ SME ไม่สามารถมีเงินมาหมุนเวียนเพื่อใช้ในการทำธุรกิจได้  เราก็เลยเข้าไปช่วยค้ำประกันสินเชื่อเพื่อสนับสนุนให้ SME สามารถเริ่มทำธุรกิจได้โดยใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน แทนที่จะใช้จากเงินกู้นอกระบบซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยแพงมาก ซึ่งถ้าผู้ประกอบการใหม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่าย ทำให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้ และที่สำคัญยังช่วยลดปัญหาสังคมด้วย” 

    อย่างไรก็ตาม แม้ บสย.จะช่วยเหลือโดยการค้ำประกันสินเชื่อให้กับกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ ทว่านับจากเริ่มต้นโครงการเมื่อปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ปรากฏว่า บสย. ค้ำประกันสินเชื่อได้น้อยมากเพียง 200 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่ง วัลลภ อธิบายเหตุผลที่ทำให้โครงการนี้ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสถาบันการเงินเท่าที่ควร ว่าเนื่องมาจากเงื่อนไขการรับผิดชอบในการจ่ายประกันชดเชยหากเกิดหนี้เสีย ที่สถาบันการเงินที่ร่วมโครงการมาต้องร่วมรับผิดชอบกับ บสย.ในสัดส่วน  บสย. 80 เปอร์เซ็นต์  และสถาบันการเงิน 20 เปอร์เซ็นต์

    ดังนั้น ในเรื่องนี้ทาง บสย. จึงเตรียมเสนอกระทรวงการคลังเพื่อปรับเปลี่ยนเงื่อนไขดังกล่าว โดยหวังว่าจะจูงใจทำให้สถาบันการเงินพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อผู้ประกอบการใหม่เพิ่มมากขึ้น   

    “ตอนนี้ มีหลายสถาบันการเงินที่มีโครงการหรือโพรดักต์ โดยมีโครงการการค้ำประกันสินเชื่อกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ของ บสย.เข้าไปผูกด้วย เช่น ธนาคารกสิกรไทยมีโครงการแฟรนไชส์ ถ้าใครสนใจทำแฟรนไชส์แต่หลักทรัพย์ไม่เพียงพอ ก็สามารถเข้าโครงการนี้ได้โดยมี บสย.เข้าไปช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้”

    ทั้งนี้ โดยรายละเอียดการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการใหม่นี้ ทาง บสย. จะให้วงเงินค้ำประกันสูงสุด 2 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2.50 เปอร์เซ็นต์ต่อปีของวงเงินค้ำประกัน แต่จะฟรีค่าธรรมเนียมในปีแรก โดยโครงการนี้จะสิ้นสุดปี 2558 หรือเมื่อวงเงินค้ำประกันที่ บสย.ได้รับจำนวน 10,000 ล้านบาท หมดลง

    นอกจากกลุ่มผู้ประกอบการใหม่แล้ว เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยลดต้นทุนธุรกิจให้กับ SME เร็วๆ นี้ บสย. ยังมีโครงการใหม่ที่ครอบคลุมอีก 3 กลุ่มคือ โครงการค้ำประกันกลุ่ม PGS (Portfolio Guarantee Scheme) สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กจนถึงขนาดกลาง โครงการค้ำประกันรายย่อย (Micro Entrepreneurs) และโครงการค้ำประกัน OTOP และวิสาหกิจชุมชน  

    “ทั้ง 3 โครงการเราจะฟรีค่าธรรมเนียมปีแรก ซึ่งนอกจากจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยเหลือไปยัง SME ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น ยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายให้ SME ด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ดังนั้น เมื่อลดค่าธรรมเนียม ก็จะมีเงินกลับมาหมุนเวียนสามารถดำเนินธุรกิจต่อไป ยกตัวอย่าง กลุ่ม PGS5 เมื่อคิดค่าธรรมเนียมในปีแรกจะมีถึง 962 ล้าน ฉะนั้น นี่จึงเป็นโอกาสดีที่ทั้งสถาบันการเงินและ SME ไม่ควรพลาด” วัลลภ กล่าวทิ้งทายพร้อมเชิญชวนให้ SME ทั้ง รายย่อย รายกลาง และหน้าใหม่ ได้เข้ามาใช้บริการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ซึ่งช่วงนี้จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมในปีแรก 
    
Create by smethailandclub.com