Finanace

เมื่อพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยน ร้านค้าจะเลือกช่องทางชำระเงินอย่างไร?

 

     ในการทำธุรกิจ หากมีช่องทางรับชำระเงินที่สะดวกและหลากหลาย นอกจากจะเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าแล้ว ยังช่วยทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ยิ่งเดี๋ยวนี้ช่องทางการขายมีทั้งที่อยู่บนออนไลน์ และมีหน้าร้านออนกราวนด์ รวมถึงช่องทางผสมที่เรียกกันว่า Omni Channel ด้วยแล้ว หากมีช่องทางรับชำระเงินแค่ช่องทางใดช่องทางหนึ่งก็อาจทำให้เสียโอกาสได้

     เนาวรัตน์ กีรติเกษมสุข ผู้อำนวยการ-ธุรกิจร้านค้า “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บอกว่า Pain Point ของร้านค้าในเรื่องการรับชำระเงิน คือต้องแน่ใจว่าการใช้วิธีรับชำระเงินนั้นๆ จะต้องได้รับเงินอย่างแน่นอน แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้พฤติกรรมการซื้อสินค้าและการชำระเงินเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้การเข้าสู่สังคมไร้เงินสดของไทยเร็วขึ้น นั่นจึงทำให้ร้านค้าต้องมีช่องทางการรับชำระเงินที่สอดรับกับพฤติกรรมของลูกค้า ที่สำคัญคือ ต้องเหมาะสมกับลักษณะของร้านค้านั้นๆ ด้วย

 

 

พฤติกรรมการจ่ายเงินเปลี่ยนไปอย่างไร  

     เนาวรัตน์อธิบายให้เห็นภาพพฤติกรรมการชำระเงินที่เปลี่ยนไปว่า จากข้อมูลของวีซ่าที่มีการสำรวจผู้ถือบัตรประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนกว่า 6 พันคน มีอายุ 18-35 ปี เมื่อปี 2564 พบพฤติกรรมการซื้อสินค้าโดยการหันไปใช้การชำระเงินแบบ Cashless หรือไม่ใช้เงินสดเลยสูงถึง 87    เปอร์เซ็นต์ มากไปกว่านั้น เมื่อมีการสำรวจว่าลูกค้าสามารถอยู่ได้โดยไม่ใช้เงินสดเลยนานสุดกี่วัน พบว่านักช้อปไทยนั้นสามารถอยู่ได้นานถึง 9.5 วัน

     นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการชำระเงิน คือ 3 อันดับแรกของดิจิทัล เพย์เมนต์ที่นิยมใช้มากที่สุดคือ บัตรเครดิตออนไลน์ ถัดมาคือ Contactless Mobile หรือการใช้โทรศัพท์มือถือในการชำระเงิน และสุดท้ายคือ Contactless Card หรือการที่ลูกค้าเอาบัตรเครดิตแตะที่เครื่องด้วยตัวเอง

     ต่อคำถามที่ว่า เหตุผลที่ไม่ใช้เงินสดหรือใช้น้อยลงแล้วหันมาใช้ Contactless Payment แทนคืออะไร คำตอบที่ได้คือ การที่ไม่ต้องพกเงินสดจำนวนมากทำให้รู้สึกปลอดภัย ไม่ต้องกลัวเงินหาย รวมทั้งความสะดวกเพราะมีการยอมรับการชำระเงินที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินสดเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

     ถ้าเจาะลึกไปยังร้านค้าที่มีการขายสินค้าออนไลน์ ก็จะพบพฤติกรรมการชำระเงินที่ชัดเจนที่สุด โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ระบุว่า ผู้บริโภคคนไทยที่ซื้อสินค้าจาก E-marketplace นิยมชำระเงินผ่าน 1.แอปฯ ธนาคาร 2.การชำระเงินปลายทาง 3.การชำระเงินด้วยบัตรเครดิตหรือเดบิต 4.โอนหรือชำระผ่านบัญชีธนาคาร และ 5.ชำระด้วยวอลเล็ตของแพลตฟอร์มนั้นๆ

     ทั้งหมดนี้ จะเห็นว่าภาพรวมของพฤติกรรมคนไทยและแนวโน้มที่ใช้เงินสดน้อยลงแล้วหันมาใช้ดิจิทัล เพย์เมนต์เพิ่มมากขึ้น  

 

 

ช่องทางการชำระเงินใดเหมาะกับร้านค้าแบบไหน

     เชื่อว่าผู้ประกอบการทุกคนต้องการจะมีช่องทางรับชำระเงินให้มากที่สุดเท่าที่จะมีได้ เพื่อความสะดวกของลูกค้า แต่ช่องทางการรับชำระเงินก็มีหลายรูปแบบ จึงอาจสงสัยว่าแล้วควรจะเลือกช่องทางไหนให้เหมาะกับธุรกิจ ในเรื่องนี้เนาวรัตน์บอกว่า ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่าลูกค้าคือใคร ขนาดของธุรกิจใหญ่เล็ก ขายสินค้าทางช่องทางไหนบ้าง มีหน้าร้านที่ลูกค้ามาซื้อสินค้าถึงที่ หรือเป็นการขายสินค้าออนไลน์ หรือเป็นแบบผสมทั้งออนไลน์และออนกราวนด์   

     1.ร้านค้าที่มีหน้าร้าน ลูกค้าต้องมาชมสินค้าจริงก่อนจะตัดสินใจซื้อ โดยร้านค้ามียอดขายประมาณหนึ่ง และมีความคุ้นเคยกับเครื่องรูดบัตร การใช้ช่องทางบัตรเครดิตเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ซึ่งข้อดีของการชำระเงินแบบนี้คือ รับชำระบัตรได้ทุกประเภททุกธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต บัตรที่ออกในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเครื่อง EDC จะรับชำระสกุลเงินต่างประเทศได้ด้วย แต่เครื่อง EDC จะมีค่าธรรมเนียม ซึ่งบางร้านค้าอาจจะไม่อยากจ่ายค่าบริการนี้

     2. ร้านค้าที่ขายออนไลน์อย่างเดียว ซึ่งจะแยกย่อยไปอีกว่าถ้าเป็นร้านค้าออนไลน์ที่มีเว็บไซต์ของร้านค้าเอง ก็แนะนำบริการรับชำระเงินออนไลน์ หรือว่า Payment Gateway แต่เนื่องจากมีต้นทุน ดังนั้น หากไม่ใช่เว็บไซต์ใหญ่มักจะไม่นิยมทำ Payment Gateway  

     ส่วนร้านค้าที่ขายผ่าน E-marketplace ช่องทางเหล่านี้จะมีระบบการรับชำระเงินเตรียมไว้อยู่แล้ว มีทั้งการเก็บเงินปลายทาง การโอนเงิน ชำระเงินผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต 

 

 

     อย่างไรก็ตาม เนาวรัตน์ได้แนะนำเพิ่มเติมว่า “ถ้าเป็นร้านค้าที่ลูกค้าคุยผ่านไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย แล้วตัดสินใจซื้อ เคทีซีจะมีบริการรับชำระเงินผ่านลิงก์ ซึ่งง่ายและสะดวก โดยจะมีทั้งบริการรับชำระ QR PAY โดยส่ง QR Code ให้กับลูกค้า แต่ถ้าอยากให้ระบุยอดเงินไปเลยก็มีอีกวิธีหนึ่งคือ LINK PAY  โดยสร้างลิงก์ขึ้นมา สมมติเป็นร้านค้ากับเคทีซี จะมีระบบที่สมาชิกสามารถใส่ข้อมูลร้านค้า ยอดเงิน รายละเอียดเงื่อนไขเกี่ยวกับการซื้อสินค้าได้ จากนั้นก็ส่งเป็นลิงก์ไปให้ลูกค้าโซเชียลมีเดีย แล้วลูกค้าสามารถกดลิงก์นั้นเข้าไป กรอกเบอร์บัตรเครดิต กรอก OTC ก็ชำระเงินได้เลย โดยเคทีซีจะมีการโอนเงินให้ร้านค้าภายในวันทำการ ที่ผ่านมา LINK PAY จะได้รับความนิยมมากกว่า เพราะครอบคลุมบัตรเครดิตทั้งในและต่างประเทศ   แต่ QR PAY จะรับชำระเฉพาะบัตรในประเทศเท่านั้น”  

     3. ร้านประเภทผสม Omni Channel มีหน้าร้านด้วย มีขายผ่านออนไลน์ด้วย ผู้ประกอบการพิจารณาตามความเหมาะสมของธุรกิจ

     “ขึ้นอยู่กับวิธีการขายสินค้า ขายให้กลุ่มไหน เช่น ร้านค้าที่ขายหน้าร้านเป็นหลัก ลูกค้าไม่ใช่คนรุ่นใหม่ นิยมใช้รูดบัตรเครดิต ก็เหมาะกับบัตร แต่ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ ไม่พกเงินสดเยอะ แต่ใช้มือถือเป็นหลักก็อาจจะเหมาะกับ QR PAY หรือ LINK PAY แทนได้” เนาวรัตน์กล่าวในตอนท้าย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup