Starting a Business

James boulangerie ร้านครัวซองต์สุดฮิต ผลผลิตของเด็กหลังห้องไม่ยอมจำนนต่อคำว่า ขี้แพ้

Text: Neung Cch.




     หากใครคิดว่าการเรียนไม่เก่งแล้วชีวิตคงยากจะประสบความสำเร็จ เชฟเจมส์ พชร เถกิงเกียรติ นับเป็นตัวอย่างที่ดีเพราะตั้งแต่เด็กผลการเรียนของเขาทำได้ดีที่สุดคือเกรดหนึ่ง จนคนรอบข้างมักมองว่าเป็นคนไม่เอาไหน แม้แต่ตอนทำกิจกรรมในชั้นเรียนก็ไม่มีใครอยากดึงเข้าร่วมกลุ่ม


     สิ่งเหล่านี้เหมือนเป็นปมที่ถูกทับทมอยู่ในใจ แต่ไม่ได้ทำให้เขาถอดใจ เพราะวันนี้เขาคือเจ้าของร้านครัวซองต์สุดฮอต James boulangerie มีลูกค้าไปเข้าแถวรอซื้อตั้งแต่นักเรียนยังไม่เคารพธงชาติทั้งๆ ที่ร้านเปิดขายตอน 10 นาฬิกา กระทั่งเจอวิกฤตโควิดลูกค้าไม่ต้องเข้าคิวสามารถสั่งซื้อได้ทางออนไลน์ แต่ก็มีสิทธิ์ซื้อได้แค่คนละ 6 ชิ้น และถ้าจองทันก็จะไม่ได้ทานเพราะวันหนึ่งเขาจะทำเพียง 1,000 ชิ้นเท่านั้น นี่คือความสำเร็จที่เขาสร้างมันขึ้นมากับมือภายในหนึ่งปีที่ สามารถสยบความขี้แพ้ออกไปและสร้างความภูมิใจให้เจ้าตัว เขาทำได้อย่างไร SME Startup จะพาไปพบกับคำตอบ



 
 
     ไม่เก่งก็ต้องขยันกว่าคนอื่น


     ด้วยผลการเรียนที่อยู่ในขั้นวิกฤต เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 คุณแม่ผู้เฝ้าสังเกตอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ จึงเสนอให้เจมส์ไปเรียนสายวิชาชีพโดยมีสองตัวเลือกระหว่างเรียนช่างตัดผมกับเชฟทำอาหาร


     “ตอนนั้นขอแม่ไปเรียนมหาวิทยาลัยตามเพื่อน แต่คุณแม่ๆ ไม่สนับสนุน ยืนกรานให้ไปสายอาชีพ ให้เหตุผลว่าผมเป็นคนช่างสังเกต มีความละเอียด เรียนสายอาชีพน่าจะเหมาะกว่า ผมก็เลยเลือกเรียนทำอาหารเพราะดูว่าน่าจะยึดเป็นอาชีพได้ง่ายกว่า”


     จากที่หวังจะได้แต่งชุดนักศึกษาไปเรียนมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนไปเรียนทำอาหารที่ Le Cordon Bleu จนสำเร็จการศึกษา เจมส์ก็ตัดสินใจทำงานต่อที่โรงเรียนแห่งนี้ แต่ชีวิตที่เหมือนจะไปได้ดีขึ้นก็พบกับปัญหาเพราะทุกครั้งที่มีคลาสสอนทำครัวซองต์เขามักจะทำพลาดเสมอ จนรู้สึกไม่สบายใจที่ให้ความรู้กับนักเรียนได้ไม่เต็มที่ จึงตัดสินใจลาออก แต่ก่อนที่จะลาออกนั้นเขาอยากจะลบปมในอยากจะฝึกทำครัวซองต์ให้ดีให้ได้






     “จริงๆ ผมถนัดทำเค้ก ส่วนครัวซองต์คือจุดอ่อนของผม ฉะนั้นมันก็มีสองทางเลือกคือจะสู้หรือยอมแพ้ ถ้าเลือกยอมแพ้คือจบ แต่เราจะกลายเป็นคนขี้แพ้ไปตลอด จึงคิดว่าเราต้องสู้ เราเองก็มีอวัยวะครบ 32 เหมือนคนอื่นๆ ถือคติว่าเราไม่ได้เป็นคนเก่ง ต้องขยันมากกว่าคนอื่น คนอื่นอาจฝึกทำแค่ร้อยชิ้นแล้วสำเร็จ แต่ผมต้องฝึกเพิ่มเป็นพันๆ ชิ้น”


     เสียน้ำตาได้แต่ต้องไม่เสียความตั้งใจ


     เมื่อตัดสินใจสู้แล้ว ทุกครั้งที่เขาฝึกทำครัวซองต์เสร็จก็จะส่งรูปผลงานของตัวเองไปให้เจ้าของสูตรช่วยวิจารณ์ คำตอบที่ได้รับกลับมาคือ ให้ไปทำใหม่เป็นอยู่อย่างนั้นวันแล้ววันเล่าจนเวลาผ่านไปกินระยะเวลาเป็นปี ความเหนื่อยสะสมปนความเครียดทำให้เจมส์รู้สึกโมโหตัวเองว่าทำไมถึงทำไมได้เผลอนั่งร้องไห้ออกมาโดยไม่รู้ตัว


     “ผมก็ท้อนะทำทิ้งไปเป็นพันๆ ชิ้นก็ยังไม่ได้สักที มีเสียน้ำตาเยอะเลย แต่เราไม่อยากเป็นขี้แพ้ ก็ฝึกทำใหม่ จนเริ่มเรียนรู้จับจุดได้ว่า การทำครัวซองต์ให้ดีต้องเพิ่มความใส่ใจในทุกรายละเอียด เช่น อุณหภูมิห้อง อุณหภูมิแป้ง ทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด ถ้าปล่อยสิ่งเหล่านี้ไปทำให้ครัวซองต์ออกมาไม่ดี แม้แต่การใจร้อนไปก็ทำให้ขนมพังได้ ต้องใช้ความใจเย็นทำด้วยสติ ครัวซองต์ถึงจะออกมาดี"
 




      ตั้งราคาผิดธุรกิจเปลี่ยน


     เมื่อทุกอย่างเริ่มเข้าที่ หน้าตาครัวซองต์ออกมาดูน่าทาน รสชาติเริ่มถูกปากคนรอบข้าง เจมส์จึงคิดว่าถึงเวลาที่จะนำวิชาชีพที่เรียนมาได้ฤกษ์เปิดร้านขายขนมของตัวเองสักที แน่นอนว่าต้องเป็นร้านขนมเค้กที่เขาถนัด คิดได้ดังนั้นเจ้าตัวไปปรึกษากับคุณแม่นอกจากไม่ขัดศรัทธาแล้วยังแนะนำว่าให้ครัวซองต์ที่ฝึกทำมาก็รสชาติดีแล้วควรทำขายคู่กันไปด้วย ไม่เสียแรงที่คุณแม่แนะนำเพราะครัวซองต์ของเจมส์ได้รับตอบรับอย่างดีจากลูกค้าอย่างล้นหลาม


     “ตอนเปิดร้านผมก็ต้องเริ่มเรียนรู้ใหม่ทุกอย่าง ตั้งแต่เรื่องการตลาด การทำต้นทุนซึ่งสำคัญมาก ช่วงแรกๆ ผมตั้งราคาตามความรู้สึกไม่กล้าตั้งราคาสูงเกินไปคือ ตั้งราคาประมาณตามท้องตลาด แต่พอมาคำนวณแล้วไม่สามารถขายราคานั้นได้ทำให้ขาดทุน ต้องมีการปรับราคา”


     สาเหตุที่ทำให้ทางร้านต้องขยับราคา เจมส์บอกว่าเนื่องจากทางร้านเน้นใช้วัตถุดิบอย่างดีอย่าง dark chocolate นำเข้าจากฝรั่งเศส พอมีการปรับราคาใหม่ประกาศลงทางเฟซบุ๊ก ปรากฏว่ามีทั้งลูกค้าที่เข้าใจ และที่ไม่เข้าใจก็เยอะ คิดว่าเป็นการฉวยโอกาสขึ้นราคา


     “ปรับราคาช่วงแรกกระทบนิดหนึ่ง มีขนมเหลือเยอะพอสมควร แต่ก็ได้คุณพ่อสอนให้อดทนเพราะถ้าสินค้าเราดีจริง ตอบโจทย์ลูกค้าๆ จะกลับมา ก็ใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนลูกค้าก็กลับมา หลายคนๆ ติดใจในรสชาติโดยเฉพาะครัวซองต์ ช็อกโกแลต กับครัวซองต์ มะคาเดเมีย ลูกค้ามักซื้อไปฝากต่อกันเป็นทอดๆ คนที่ได้รับชิมชอบกลับมาซื้ออีก”       
 





     เปลี่ยนจุดด้อยให้เป็นจุดเด่น


     แม้จะผ่านมาเพียงหนึ่งปีแต่กระแสตอบรับร้าน James boulangerie นั้นดีเกินคาดไม่เพียงมีคนรู้จักบางคนยังยอมนั่งรอเป็นสองสามชั่วโมงเพื่อรอทานครัวซองต์ฝีมือเชฟเจมส์


     "รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำอะไรสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน ทำให้คนอื่นรู้ว่าเป็นเราเองก็มีประสิทธิภาพไม่ใช่คนขี้แพ้เหมือนตอนเรียน อยากฝากไปถึงคนที่เรียนไม่เก่งว่า ถ้าไม่เก่งก็ต้องขยันมากกว่าคนอื่น หรือนำจุดที่เรารู้สึกด้อยเอามันมาฝึกฝนไปเรื่อยๆ ทำให้เต็มที่ดีไม่ดีมันอาจสร้างอนาคตสร้างงานได้มากกว่าสิ่งที่เราคิดทำได้ดีเหมือนผมที่คิดว่าถนัดทำเค้กไม่เก่งครัวซองต์"


     ข่าวดีสำหรับคนที่ชอบครัวซองต์ฝีมือเชฟเจมส์ ที่ไม่ได้อยู่ในย่านตลิ่งชัน เตรียมล้างท้องรอได้เลย เพราะเขามีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิต เพิ่มสาขาในกรุงเทพให้มากขึ้น
 
 
     ผลการเรียนไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต อย่าเอามายึดติดเป็นกรอบ มันแค่อาจทำให้บางคนได้รู้ตัวเร็วขึ้นว่าควรไปเส้นทางไหน และใช้ความขยันมุ่งมั่นไปให้สำเร็จ


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup