Tech Startup

สุดเจ๋ง! ฝีมือเด็กไทย พัฒนา KomilO นวัตกรรมเพิ่มน้ำนมเพื่อเกษตรกรโคนม

 

     อุตสาหกรรมผลผลิตจากโคนมในตลาดโลกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมาและคาดว่าจะมีมูลค่ามากถึง 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2569 หนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อปริมาณน้ำนมที่สามารถผลิตได้คืออัตราสำเร็จในการผสมเทียมโคนม

     แต่สำหรับประเทศไทยปัญหาของเกษตรกรโคนมคือการไม่สามารถตรวจจับอาการเป็นสัดในโคนมได้อย่างแม่นยำ ส่งผลให้เกิดการผสมเทียมผิดพลาด โดยคาดการณ์ว่าการผสมเทียมโคนมผิดพลาดทำให้เกษตรกรเสียรายได้ประมาณ 266 ล้านบาทต่ออาการติดสัด 1 รอบในช่วงระยะเวลา 21 วัน

     KomilO (โคมิโล) คือชื่อของระบบปฏิบัติการที่มีส่วนประกอบเป็นเซนเซอร์ 2 จุด ที่ติดตั้งบนตัวโคนม จุดแรกที่บริเวณหู และจุดที่สองบริเวณโคนหางเพื่อตรวจจับพฤติกรรมของโคนม ทำให้สามารถคาดการณ์รอบของการเป็นสัดในโคนมได้อย่างแม่นยำโดยอาศัยเทคนิคแมชชีนเลิร์นนิง และเพื่อให้เกษตรกรสามารถอ่านข้อมูลได้อย่างสะดวกสบายระบบนี้ยังเชื่อมโยงกับแอปพลิเคชันซึ่งจะช่วยเก็บข้อมูลเฉพาะของโคนมแต่ละตัว จัดการเซนเซอร์ รวมถึงแจ้งเตือนเกษตรกรเมื่อโคนมมีอาการติดสัดและพร้อมสำหรับการผสมเทียม

     KomilO เป็นผลงานคิค้นพัฒนาการนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชานวัตกรรมบริการดิจิทัล จำนวน 6 คน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี จุดมุ่งหมายของของนักออกแบบรุ่นใหม่เหล่านี้คือการสร้างโซลูชันที่ใช้ง่ายและสามารถเข้าถึงได้เพื่อเพิ่มผลผลิตน้ำนมของเกษตรกรไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและจำนวนมากขึ้น

     โดย KomilO ได้รางวัลชนะเลิศระดับชาติจากการประกวดรางวัล James Dyson Award จะทำให้โปรเจกต์ KomilO ได้รับเงินรางวัลจำนวน 222,000 บาทเพื่อเป็นทุนในการพัฒนาต่อไป และจะเป็นตัวแทนจากประเทศไทยในการประกวดรางวัล James Dyson Award ระดับนานาชาติ ซึ่งผู้เข้ารอบในการประกวดระดับนานาชาติจะประกาศในวันที่ 12 ตุลาคมนี้

     นอกจาก KomilO แล้ว ยังมีอีก 2 นวัตกรรม ที่เป็นฝีมือเด็กไทยได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่

     -The Amazing Hearing Devices or AHDs ที่เกิดจากเล็งเห็นว่าในปี 2564 มีจำนวนผู้ป่วยสูญเสียการได้ยินจำนวนประมาณ 1,500  ล้านคนทั่วโลก และคาดว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 2,500 ล้านคนภายในปี 2573 ตามรายงานของ WHO (2021) ซึ่งอัตราส่วนของคนที่สามารถเข้าถึงเครื่องช่วยฟังที่มีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยเกิดจากการออกแบบเครื่องช่วยฟังที่ไม่สามารถใช้ได้สำหรับทุกคน ตัวอย่างเช่น คนที่ใส่แว่นจะไม่สามารถใส่เครื่องช่วยฟังได้ รวมไปถึงการขาดแคลนเครื่องช่วยฟังที่มีน้ำหนักเบาหรือเครื่องช่วงฟังแบบไม่รุกล้ำ

     AHDs คือเครื่องช่วยฟังที่มุ่งเป้าไปที่การออกแบบให้สามารถเข้าถึงง่าย นำเสนอเครื่องช่วยฟังที่ใส่สบายและนำเสนอประสบการณ์ที่เป็นมิตรกับผู้ใส่โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด นอกจากนั้นยังมาพร้อมกับที่คาดหัวเพื่อใช้สำหรับการออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวเยอะ

     -Aeolus จากงานวิจัยระบุว่าประชากรโลกจำนวน 17% ประสบปัญหาเรื่องการนอนหลับโดยมีสาเหตุมาจากหมอนที่ไม่เหมาะสม ซึ่งนอกจากสิ่งนี้จะทำให้การนอนแบบมีคุณภาพน้อยลงแล้ว ยังสามารถนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพที่ร้ายแรงมากขึ้น เช่น โรคเกี่ยวกับหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคไต และภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ ในขณะที่ร่างกายของมนุษย์เราแตกต่างกันอย่าชัดเจน แต่หมอนในท้องตลาดที่สามารถปรับให้เข้ากับร่างกายได้ยังมีอยู่น้อยมาก

     Aeolus คือหมอนแบบปรับตามความต้องการโดยอาศัยแอปพลิเคชันในการปรับขนาดเพื่อทำให้การนอนแบบมีคุณภาพสามารถเข้าถึงได้ ออกแบบมาให้ใช้การตรวจจับจุดกดทับเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับท่าของการวางศีรษะและการวิเคราะห์คุณภาพการนอนหลับโดย แอปพลิเคชันที่ใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาเสริม ซึ่งข้อมูลที่ได้มาจะถูกวิเคราะห์และนำเสนอแก่ผู้ใช้ว่าการปรับหมอนแบบไหนจะส่งผลดีกับคุณภาพการนอนมากที่สุด หมอน Aeolus มีระบบควบคุมอากาศที่ประกอบด้วยปั๊มลมและหน่วยประมวลผลทำให้สามารถปรับความสูงของหมอนจนถึงระดับที่ทำให้หลับสบายที่สุดได้ ทำให้ส่งผลดีต่อร่างกายในระยะยาว

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup