
Main Idea
- เหล่าชายฉกรรจ์ สวมเครื่องแบบสีน้ำตาล ถูกขนานนามว่า “นักโทษชายแดน 3” สังกัดเรือนจำกลาง จังหวัดเชียงราย นั่งล้อมวงปักผ้าสร้างสรรค์ผลงานแฟชั่นคูลๆ ออกมาได้อย่างน่าทึ่ง พวกเขาคือผู้อยู่เบื้องหลังคอลเลกชั่นล่าสุดของแบรนด์ BAISRI แบรนด์แฟชั่นที่คนรุ่นใหญ่สุดปลื้ม
- จากจุดเริ่มต้นมีช่างปัก 11 คน วันนี้ช่างปักจากแดน 3 มีอยู่ร่วม 200 คน จนกลายเป็นพันธกิจของนักออกแบบอย่างศักดิ์จิระ เวียงเก่า ที่ต้องมาพัฒนาสินค้าให้ปังและทำการตลาดให้มากขึ้น เพื่อให้คนในโลกที่ถูกจองจำ ยังมีกิจกรรมความสุขทำอย่างต่อเนื่อง

เหล่าชายฉกรรจ์รูปร่างใหญ่ มีลายสักประดับตัว สวมเครื่องแบบสีน้ำตาล พร้อมตำแหน่งอย่างเป็นทางการว่า “นักโทษชายแดน 3”
เพียงแค่ได้ยินชื่อ หลายคนคงแอบกลัวแอบหวั่น และจินตนาการไปถึงเบื้องหลังก่อนจะได้เข้ามาใช้ชีวิตร่วมกันของพวกเขา แต่ใครจะคิดว่าวันนี้พี่ๆ ที่ใครหลายคนอาจเคยเรียกว่าขาโหด จะได้มานั่งล้อมวงปักผ้าสร้างสรรค์ผลงานแฟชั่นคูลๆ ที่ใครหลายคนแสนจะปลื้มออกมาได้

เรื่องราวแห่งความย้อนแย้งแต่แฝงไว้ด้วยความอบอุ่นจากห้องขัง ถูกบอกเล่าผ่าน “ศักดิ์จิระ เวียงเก่า” ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ บายศรี (BAISRI) แบรนด์แฟชั่นสุดเก๋ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนรุ่นใหญ่ และเจ้าของแบรนด์ก็อยู่ในวัย 60+ ระหว่างขึ้นเวที “แฟชั่นคนรุ่นใหญ่...ตลาดใหม่ที่พร้อม pay” ในงาน BigSmile Talk: Back to the Future (Trend) Forum ตอน “เจาะเวลาหาวันสุข” เมื่อวันก่อน

เขาแนะนำให้เรารู้จักกับเสื้อผ้าเท่ๆ กระเป๋าสะพายคูลๆ ที่มีลวดลายปักโดดเด่นสะดุดตาเป็นรูปลายของม้าลาย เสือดาว เสือปลา กับเหล่าสิงสาราสัตว์ ตามชื่อ “Sing-Sa-Ra-Sat” คอลเลกชั่นล่าสุดของแบรนด์ BAISRI ที่น่าเซอร์ไพรส์คือ ความงดงามที่เห็นมีผู้ต้องขังชายแดน 3 เรือนจำกลาง จังหวัดเชียงราย เป็นช่างปักอยู่เบื้องหลัง นี่จึงเป็นผลงานในโลกที่ถูกจองจำ ที่กำลังโบยบินสู่โลกแห่งแฟชั่น “พื้นที่แห่งอิสรภาพ” ที่มนุษย์ทุกคนมีได้เท่ากัน
“โครงการนี้เริ่มจากป้าคนหนึ่งชื่อป้านิ ได้เอางานปักไปให้ผู้ต้องขังหญิงแดน 4 เรือนจำกลาง จังหวัดเชียงราย ลองทำ พอแดนหญิงทำได้ก็เกิดความคิดว่าแดนชายก็น่าจะทำได้ด้วย เลยลองส่งงานไปให้บ้าง ซึ่งมาใหม่ๆ แกบอกว่าเละหมด แต่ก็ยังไม่ลดความพยายามจนผลงานเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ผมไปเจองานหลังสุดนี่สวยจนไม่น่าเชื่อเลย ผมเองเป็นนักออกแบบเลยเกิดความคิดว่าน่าจะเอาฝีมือของพวกเขามาผสานกับแนวความคิดด้านการออกแบบของเรา เพื่อทำเป็นคอลเลกชั่นออกมา”
การเข้าคุกครั้งแรกของศักดิ์จิระ เปิดโลกใบใหม่ให้กับเขา โลกที่ผู้คนตกอยู่ในห้วงเวลาที่ยาวนานกว่าโลกภายนอก แม้ในนั้นจะมีกิจกรรมหลายอย่างให้ทำ แต่สีหน้าและแววตาของทุกคนเหมือนแค่ฆ่าเวลาไปวันๆ นั่งนับนาที วัน เดือน ปี ที่จะได้ออกจากพื้นที่จองจำแห่งนี้

แต่ใครจะคิดว่าวันหนึ่งงานปักผ้าจะกลายเป็นกิจกรรมแห่งความสุขของคนแมนๆ แดน 3 ไปได้
ศักดิ์จิระ เล่าว่า เขาเริ่มจากพรินต์รูปสัตว์ต่างๆ เย็บเข้าเล่มส่งผู้คุมตรวจแล้วส่งต่อไปให้ทีมปักจากแดน 3 ดูเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการสเก็ตช์ภาพ วาดและปักด้วยฝีมือของตัวเอง โดยเริ่มจากทีมมือหนึ่งจำนวน 11 คน ที่ป้านิคัดมาให้
“ผมเป็นดีไซเนอร์ เขาเป็นช่างปัก เราทำงานร่วมกัน แทนที่ผมจะวาดไปให้เขาปัก ผมใช้วิธีมีแค่กรอบกว้างๆ เพื่อให้เขาไปคิดต่อได้ เช่น คอลเล็กชั่นสิงสาราสัตว์ เราจะมีรูปม้าลาย เสือดาว เสือปลา เสือลายเมฆ ไปให้เขาดู ซึ่งครั้งแรกที่เห็นงานจากเขามันอเมซิ่งมาก ตื่นเต้นมากๆ สวยหมดเลย เห็นเลยว่างานที่ผู้ชายปักมันจะไม่เหมือนกับของผู้หญิง ผู้หญิงจะทำเรียบร้อยๆ เท่าๆ กัน แต่งานของผู้ชายมันจะเท่กว่า มีความกล้าและความเท่อยู่ในตัว” เขาบอกเสน่ห์ที่ได้จากงานของช่างปักชายแดน 3

ช่างทั่วไปอาจมีช่วงงอแง ทำงานตรงเวลาบ้างไม่ตรงเวลาบ้าง แต่ถ้าคุณมีช่างที่มาจากแดน 3 คุณจะได้ชิ้นงานที่ตรงต่อเวลา และไม่ต้องห่วงเรื่องวินัยในการทำงาน เพราะที่นี่การทำงานทุกอย่างต้องเป๊ะ
ผลงานของช่างแต่ละคนไม่ได้แค่ทำเพื่อฆ่าเวลา แต่ยังนำมาซึ่งรายได้ระหว่างถูกจองจำ ศักดิ์จิระบอกเราว่าเมื่องานกลับมาถึงเขา จะมีชื่อของผู้ปักแต่ละคนระบุอยู่ เขาก็จะพิจารณาค่าจ้างสำหรับแต่ละชิ้นงาน โดยขึ้นกับความยากง่ายของลวดลาย ซึ่งแต่ละคนจะได้ไม่เท่ากัน โดยเงินส่วนหนึ่งจะถูกหักเข้ากองสวัสดิการของเรือนจำอย่างโปร่งใส ที่เหลือจึงจะส่งเข้าบัญชีของนักโทษแต่ละคน
จากจุดเริ่มต้นมีช่างปัก 11 คน วันนี้ช่างปักจากแดน 3 มีอยู่ร่วม 200 คน จนกลายเป็นพันธกิจของนักออกแบบอย่างศักดิ์จิระ ที่ต้องมาพัฒนาสินค้าให้ปังและทำการตลาดให้มากขึ้น เพื่อให้คนในโลกที่ถูกจองจำ ยังมีกิจกรรมความสุขทำอย่างต่อเนื่อง
วันนี้แฟชั่นสวยๆ ผลงานของดีไซเนอร์รุ่นเดอะ ที่ออกแบบเพื่อคนรุ่นใหญ่ และถูกทำโดยนักโทษชายแดน 3 วางขายอยู่ในเพจเฟซบุ๊ก BAISRI (facebook.com/baisrishop) ในราคาตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพัน และออกงานแสดงสินค้าร่วมกับโครงการสะพายสายแนว ของกลุ่มไทยเบฟ ซึ่งแม้จะเริ่มโครงการได้ไม่นาน แต่สามารถสร้างรายได้ส่งกลับแดน 3 ไปแล้วหลายหมื่นบาท และยังมีการนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการขาย ไปซื้อสิ่งของที่จำเป็น เช่น พัดลม เครื่องขยายเสียง และมุมหนังสือให้กับผู้คนที่ใช้ชีวิตในโลกแห่งความเนิบช้าอีกด้วย

ในวัยกว่า 60 ปี เขาเคยคิดที่จะทำงานให้น้อยลง แต่หลังจากได้เข้าคุกและเห็นชีวิตที่อยู่ในนั้น ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะทำอะไรเพื่อสังคมมากขึ้น ถามว่าทำเรื่องเหล่านี้แล้วจะได้อะไร ศักดิ์จิระ บอกกับเราโดยยกเหตุการณ์ประทับใจที่เขาได้จากชายแดน 3 หลังเข้าไปทำงานร่วมกัน
“ผมว่าการแบ่งปันมันเป็นอะไรที่อัศจรรย์มากนะ และไม่คิดว่ามันจะสวยงามขนาดนี้ สิ่งที่ประทับใจมากคือไปเห็นกลอนที่เขาเขียนมาให้ ผมน้ำตาไหลเลย เขาใช้คำว่า ‘ฝีมือจากคนพลาด’ บางคนต้องมาอยู่ที่นี่ไม่ใช่เพราะเป็นคนไม่ดีมาตั้งแต่แรก แต่เพราะเผลอทำอะไรพลาดพลั้งไป มีอยู่คนหนึ่งไม่รู้จะร้องไห้หรือหัวเราะดี เขาบอกว่า อาจารย์เดี๋ยวออกไปแล้วผมจะ Add Friend ขอเป็นเพื่อนอาจารย์ในเฟซบุ๊กนะ ผมบอกได้สิ เลยถามเขาไปว่าแล้วเหลืออีกกี่ปีล่ะ เขาบอก 50 ปี คนอื่นหัวเราะกันใหญ่ แต่ผมหัวเราะไม่ออก ได้แต่คิดว่าอยากทำให้ดีกว่านี้เพื่อช่วยเหลืออะไรพวกเขาได้มากขึ้น”
ในวัยกว่า 60 ปี บางคนอาจกำลังหมดไฟ แต่สำหรับใครคนหนึ่งเขายังสนุกกับการทำอะไรเพื่อสังคม และสร้างสรรค์ผลงานแฟชั่นดีๆ เพื่อเป็นของขวัญให้กับโลกใบนี้ด้วยชีวิตเล็กๆ ของเขา
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี