ฝ่าวิกฤตเลียนแบบ สู่กระดาษสา "จินนาลักษณ์"

 

 
 
 
 
 
เรื่อง : ธีรนาฎ มีนุ่น
ภาพ : ปิยชาติ ไตรถาวร   
 
 
 
แม้ไม่เคยมีความรู้เรื่องกระดาษสา ทั้งยังไม่ปรากฏว่าโรงเรียนใดทำการสอน แต่ทว่าความสวยงามของดอกไม้ที่ถูกรังสรรค์ขึ้นด้วยกระดาษสา กลับต้องตาต้องใจ ทำให้ “จินนาลักษณ์ ชุ่มมงคล” เกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้า ผันตัวเองเข้าหาวิถีแห่งธุรกิจ โดยอาศัยกระดาษสาเป็นหลักนำทาง เรียนรู้ความผิดพลาดทุกย่างก้าวด้วยตัวเอง พร้อมใช้ความชอบในงานฝีมือและการออกแบบเป็นแรงขับเคลื่อน กลายเป็นต้นตอของ “วิสาหกิจชุมชนกระดาษสาจินนาลักษณ์” เมื่อราวยี่สิบปีที่ผ่านมา 
 
“ตอนนั้นอยู่ที่เชียงใหม่ มีโอกาสได้เห็นดอกไม้ประดิษฐ์ แล้วเกิดความชอบ เลยถามเขาว่าทำมาจากอะไร เมื่อได้คำตอบว่าทำมาจากกระดาษสา จึงเริ่มเรียนรู้อย่างจริงจัง และเริ่มไปหาซื้อมาขายส่งให้กับโรงงานทำดอกไม้ โดยตระเวนรับซื้อกระดาษสาจากชาวบ้านตามแหล่งชุมชน ทั้งในเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง อย่างแพร่ น่าน และ เชียงราย เพื่อส่งต่อให้โรงงานอีกที แต่ในบางครั้งชาวบ้านทำให้เราออกมาแล้วเราไม่ถูกใจ เลยเริ่มมีความคิดว่าจะทำกระดาษด้วยตัวเอง” 
 
 
 
ลองผิดลองถูกอยู่ในโลกแห่งธุรกิจได้ไม่นาน จินนาลักษณ์ค้นหาคำตอบให้กับตัวเองได้ว่า สิ่งที่เธอสนใจมากกว่า คือ การหาวัสดุมาใส่ในกระดาษแทน รูปแบบธุรกิจจึงแปรเปลี่ยนจากการผลิตเพื่อทำดอกไม้ กลายเป็นกระดาษสาแฟนซีลายต่างๆ จากวัสดุธรรมชาติอันหลากหลายอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน 
 
“เมื่อก่อนกระดาษสาเป็นสีขาวธรรมดา อาจมีย้อมสีบ้าง แต่ไม่มีลวดลาย พอเราได้มาทำก็คิดว่าน่าจะใส่อะไรเข้าไปในกระดาษได้มากกว่า เช่น วัสดุธรรมชาติรอบๆบริเวณที่เราอยู่ เราลองใส่พวกหญ้าสด ดอกไม้สดเข้าไปดู ปรากฏว่าทำได้ ก็เลยคิดอยู่เสมอว่ามีต้นไม้หรือหญ้าอะไรบ้างที่สามารถทำได้บ้าง ทดลองเริ่มตั้งแต่ผักตบชวา ใยสับปะรด ต้นหญ้าหลายประเภท และอื่นๆ”
 
 
ก้าวแรกของผลิตภัณฑ์ตัวใหม่นี้ นักธุรกิจสาวเล่าว่า แทบไม่มีตลาดให้เธอลงของ เพราะสินค้าที่ทำออกมาแหวกแนวจากที่มีการรับซื้อโดยทั่วไป เธอทดลองนำไปฝากขายในร้านค้าที่เชียงใหม่ ถือเป็นเจ้าแรกที่วางตลาด ฝากขายอยู่ประมาณ 2 ปี กระดาษสาใส่ลายดอกไม้สดกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เกิดการเลียนแบบไปทั่วทุกหัวระแหง 
 
“ตอนนั้นพอเห็นว่าใครก็ทำได้ เราจึงเปลี่ยนแนว ต้องหันมาคิดพัฒนาเทคนิคใหม่ ใช้เวลาคิดอยู่ประมาณ 2 ปี ความภาคภูมิใจที่ได้คือกระดาษสาลายลูกไม้ พอได้เทคนิคแล้ว เราจะได้กับทุกลายที่เราต้องการ สามารถออกแบบอะไรก็ได้ที่ใช้เทคนิคแบบนี้ โดยไม่มีคำแนะนำจากใคร เพราะไม่มีโรงเรียนให้เรียนรู้” 
 
หลังจากกระดาษสาลายดอกไม้กระจายเกลื่อนเมือง นักธุรกิจสาวจึงเบี่ยงเบนทิศทาง หันหัวธุรกิจไปสู่ตลาดต่างประเทศอยู่หลายปี แต่เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจในช่วง 4-5 ปีให้หลัง ทำให้ยอดการสั่งซื้อลดลงเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นช่วงเวลาให้เธอได้เริ่มต้นคิดสร้างแบรนด์ และขยายตลาดในไทยอย่างจริงจัง เนื่องจากยังมีคนงานอีกหลายคนที่ต้องดูแล ครั้งนั้น เธอตัดสินใจเปิดให้โรงงานเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงการศึกษาเรียนรู้ 
 
 
“เราตัดสินใจทำแบบนี้เพราะคิดว่า งานกระดาษสาคงหายไปในไม่ช้า ที่อำเภอแม่สายแทบจะไม่เหลือ ในจังหวัดแพร่และน่านหายไปเยอะแล้วเหมือนกัน ที่เหลืออยู่คือเชียงใหม่เพราะเป็นแหล่งขายสินค้า เราจึงต้องการรักษาศิลปะนี้ไว้ ด้วยการเปิดโรงงานให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมควบคู่กับการสร้างแบรนด์ในไทยมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา อีกอย่างคือเราต้องการให้แม่สายเป็นที่รู้จักอีกมุมหนึ่ง ไม่ใช่เป็นตลาดสินค้าจากประเทศจีนอย่างเดียว”
 
ภายในโรงงาน โดดเด่นด้วยกิจกรรมเวิร์กช็อปทดลองฝึกขึ้นรูปกระดาษสาด้วยตัวเอง ทั้งหมดนี้ จินนาลักษณ์กล่าวว่า เธออยากให้คนไทยได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธรรมชาติ ถ้าคิดถึงเส้นใยกระดาษมาจากธรรมชาติอยากให้นึกถึงกระดาษสาจินนาลักษณ์ เพราะเธอใส่ใจสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน 
 
 
“กระดาษสา ถือว่าเป็นผลงานหัวใจสีเขียวจริงๆ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนแรกที่สามารถนำกระดาษเหลือ หรือกระดาษอะไรก็ได้ นำมาเข้ากระบวนย่อย และทำรีไซเคิล หรือหาวัสดุเช่น เปลือกข้าวโพดที่ทิ้งแล้ว ต้นกล้วยที่ออกลูกแล้วจะตาย เราเอาต้นนั้นมาทำ คือเราจะใช้วัสดุเป็นของทิ้งแล้วทั้งหมดเลย นอกจากช่วยอนุรักษ์แล้วสามารถรักษาความสดของวัสดุได้ด้วย ถือเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง กระดาษสาจึงไม่ได้เป็นแค่กระดาษ แม้แต่ขี้เลื้อยที่ทิ้งแล้ว เรานำมาใส่ดีไซน์ได้หมดเลย ซึ่งวัสดุพวกนี้เราไม่ได้รับซื้อ สามารถไปเก็บได้เลย แค่ค่าแรงเท่านั้นที่เราจะต้องเสียให้แก่ชาวบ้าน เราไม่มีต้นทุนในวัตถุดิบ” 
 
นอกจากจำหน่ายแผ่นกระดาษสาจากเส้นใยธรรมชาติต่างๆ เจ้าของแบรนด์สาวยังมีมุมมองในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า โดยการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสินค้ากิฟต์ช็อป บรรจุภัณฑ์ ของตกแต่งที่ใช้กับงานแต่งงาน ครอบคลุมไปถึงของใช้ในโรงแรมและสปา หากแต่เป้าหมายข้างหน้าคือการพัฒนากระดาษสาให้กลายเป็นวอลล์เปเปอร์ติดผนัง ซึ่งนักธุรกิจสาวเล่าด้วยความภูมิใจว่า จินนาลักษณ์เป็นแบรนด์เดียวที่มีกระดาษสาขนาดใหญ่ที่สุดในงานแฮนด์เมด มีความโดดเด่นด้วยเป็นผลิตภัณฑ์อันผลิตจากธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีสารเคมี กันน้ำได้ ห่างไกลเชื้อรา มีอายุการใช้งานเกินกว่า 5 ปี และถึงแม้จะอยู่ภายใต้แนวคิดการสร้างเดียวกันแต่ชิ้นงานไม่ได้เหมือนกันทุกระเบียดนิ้ว นั่นเป็นเสมือนงานศิลปะอันมีเสน่ห์ และมีคุณค่าในตัวเอง
 
 
“ความจริงแล้วเราเป็นคนออกแบบ แต่คนทำคือชาวบ้าน ซึ่งเราจะสอนงานให้เขาทุกอย่าง กว่าจะได้หนึ่งชิ้นงานนั้นใช้สมาธิมาก ตอนนี้แตกลายผลิตภัณฑ์ออกมาเยอะ เพื่อโชว์ให้ลูกค้ารู้ว่ากระดาษสาของเราสามารถทำอะไรได้บ้าง เป็นไอเดียให้กับลูกค้า เผื่อว่าเขาอยากจะสั่งไปเป็นของขวัญ ของที่ระลึก และของพรีเมียม เราขายด้วย พร้อมทั้งเป็นไอเดียให้ด้วย หรือหากจะซื้อไปทำเองก็ได้ มีทางให้เลือก”    
 
แม้ต้องพบเจออุปสรรคหลายครั้ง แต่กระดาษสาจินนาลักษณ์ยังคงไม่หยุดยั้งนำเสนอเส้นใยแห่งธรรมชาติ เพื่อจุดมุ่งหมายในการสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม 
 
เยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนกระดาษสาจินนาลักษณ์ พร้อมร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อปขึ้นรูปกระดาษสาที่ 
หมู่ที่ 1 ตำบลเขาช้าง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย 
โทร. 0-5367-5395, 08-1883-9062
 
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน