วิกฤตแค่ไหนก็เกิดได้! 4 ธุรกิจที่โตในวันที่ตลาดเงียบ

Text: Neung Cch.


     เพราะ “ไม่มีใครอยากเจอวิกฤต”…โดยเฉพาะในโลกของผู้ประกอบการ

     สงคราม โรคระบาด ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ล้วนเป็นสิ่งที่ธุรกิจทุกประเภทอยากหลีกให้ไกลที่สุด แต่ในช่วงเวลาที่โลกทั้งใบเหมือนหยุดหมุน กลับมีบางแบรนด์ที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนวิกฤตให้กลายเป็น “โอกาสทางธุรกิจ” จนประสบความสำเร็จอย่างคาดไม่ถึง

Peloton จากคลาสออกกำลังกายสู่การปฏิวัติฟิตเนสที่บ้าน

     ในวันที่ยิมปิดและโลกเข้าสู่ภาวะล็อกดาวน์จากโควิด-19 คนจำนวนมากต้องยกเลิกกิจวัตรออกกำลังกายแบบเดิม ทำให้ฟิตเนสหลายรายต้องหยุดชะงัก แต่ Peloton กลับเร่งเครื่องเปลี่ยนจักรยานในบ้านให้กลายเป็นประสบการณ์ Live Class สุดสมจริง จนสร้างฐานผู้ใช้เหนียวแน่นทั่วโลก

     ในปี 2012, Peloton เริ่มต้นจากการเป็นสตูดิโอสอนปั่นจักรยานสุดหรูในนิวยอร์ก แต่เมื่อเกิดการระบาดของ COVID-19 ในปี 2020, สตูดิโอทั้งหมดต้องปิดตัวลงชั่วคราว ทำให้ Peloton ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้ธุรกิจหยุดชะงัก

     ทีมผู้บริหารตัดสินใจนำเทคโนโลยีที่มีอยู่มาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มฟิตเนสออนไลน์ที่สามารถสตรีมคลาสออกกำลังกายได้จากที่บ้าน โดยไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์พิเศษมากมาย ผลลัพธ์คือ Peloton กลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงการระบาดของ COVID-19 และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

      บทเรียนธุรกิจ

     - ปรับตัวและมองหาโอกาสในวิกฤต

     - ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด

     - ตอบสนองความต้องการลูกค้าในช่วงวิกฤต

Slack จากเกมเจ๊งสู่เครื่องมือสื่อสารที่โลกธุรกิจขาดไม่ได้

      เพราะบางครั้ง ทางที่ใช่…เริ่มจากสิ่งที่ไม่เวิร์กที่สุด

      ไม่มีใครคาดคิดว่าเบื้องหลังแอปแชตสุดฮิตที่ใช้กันทั่วองค์กรทั่วโลก จะเริ่มต้นจากเกมที่ล้มเหลว การพยายาม “รอด” จากธุรกิจที่ไปไม่ถึงฝัน ทำให้ทีมผู้สร้างตัดสินใจหันมาโฟกัสสิ่งหนึ่งที่พวกเขาทำได้ดีที่สุดในตอนนั้น  เครื่องมือสื่อสารในทีม ที่สุดท้ายกลายเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่เปลี่ยนวิธีทำงานของคนทั่วโลก

     ในปี 2012 บริษัทสตาร์ทอัปเล็กๆ ชื่อ Tiny Speck กำลังเจอทางตัน หลังเกมออนไลน์ที่พวกเขาทุ่มเทสร้างชื่อ “Glitch” ต้องปิดตัวลงอย่างเป็นทางการ  เพราะไม่สามารถดึงดูดผู้เล่นได้ตามเป้า ทีมงานย่อมรู้สึกผิดหวัง...แต่ไม่ยอมยกธงขาวง่ายๆ

     ระหว่างพัฒนาเกม ทีมได้สร้างเครื่องมือแชทเล็กๆ ขึ้นมาใช้สื่อสารกันภายในองค์กร เพราะมองว่าอีเมลและแชทเดิมๆ ยังไม่คล่องพอ ผลลัพธ์คือแพลตฟอร์มที่สะดวก รวดเร็ว และเชื่อมต่อข้อมูลการทำงานได้แบบเรียลไทม์

     เมื่อเกมพับไป พวกเขาตัดสินใจปลี่ยนจากการพัฒนาเกมมาสู่การสร้างแพลตฟอร์มการสื่อสารที่ตอบโจทย์ทีมงานในองค์กรทั่วโลก ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของ Slack ในที่สุด ถือกำเนิดขึ้นในปี 2013

     จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ Slack เติบโตกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ธุรกิจนับล้านทั่วโลกใช้ จน Microsoft ยังต้องส่ง Teams มาชน

     บทเรียนธุรกิจ

     - มองเห็นโอกาสในของที่มีอยู่

     - กล้ายอมรับเมื่อสิ่งที่ทำไม่เวิร์ก แล้วปรับให้ไว

     - สิ่งเล็ก ๆ ที่สร้างไว้ใช้เอง อาจกลายเป็นธุรกิจใหญ่ได้

     - เส้นทางสำเร็จอาจไม่ได้เริ่มจากจุดที่วางแผนไว้

Airbnb จากการแชร์ห้องในช่วงเศรษฐกิจถดถอย สู่ผู้นำธุรกิจที่พักระดับโลก

     เพราะเมื่อกระเป๋าใครๆ ก็เบาลง การเที่ยวแบบไม่เหมือนเดิมจึงเกิดขึ้น

     ในปี 2008 เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก, หลายคนเผชิญกับปัญหาทางการเงินและกำลังมองหาวิธีลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะการหาที่พักที่มีราคาถูกกว่าโรงแรมทั่วไป ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ก่อตั้ง Airbnb ก็ค้นพบโอกาสจาก การแชร์ที่พักของตนเองให้กับนักท่องเที่ยวที่ต้องการประหยัดงบการเดินทาง จนกลายเป็นโมเดลธุรกิจท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปจากเดิม

     จากนั้น Airbnb ได้พัฒนาเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้บริการจองที่พักทั่วโลก ซึ่งตอนนี้มีทั้งบ้าน, อพาร์ตเมนต์, และพื้นที่ต่าง ๆ ที่ผู้คนสามารถเช่าได้ในราคาที่คุ้มค่า

     การเติบโตของ Airbnb ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในวิธีการมองหาโอกาสในวิกฤต ผู้ก่อตั้งมองเห็นว่าแม้ในช่วงที่ตลาดที่พักในโรงแรมกำลังประสบปัญหา, แต่คนยังต้องการที่พักและยินดีที่จะใช้วิธีที่ต่างออกไปจากเดิม ในที่สุด Airbnb กลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ และมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก

     บทเรียนธุรกิจ

     - มองหาโอกาสในวิกฤต และกล้าคิดต่างจากตลาดเดิม

     - ปรับตัวให้ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ความต้องการในแต่ละยุค

     - ใช้เทคโนโลยีเชื่อมคน สร้างแพลตฟอร์มที่เข้าถึงง่ายและเติบโตได้ทั่วโลก

Kotex จากผ้าพันแผลสู่ผ้าอนามัย

     เพราะสงครามทำลายทุกสิ่ง แม้กระทั่งความสะดวกขั้นพื้นฐานของผู้หญิง

     ในช่วงเวลาที่โลกมัวแต่คิดเรื่องการเอาชีวิตรอดในสนามรบ ใครจะคิดว่าความขาดแคลนผ้าพันแผล จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมเพื่อสุขอนามัยผู้หญิงที่เปลี่ยนโลกไปตลอดกาล  

     ย้อนไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914–1918) ช่วงนั้นกาชาดต้องการวัสดุซับเลือดจำนวนมาก บริษัท Kimberly-Clark พัฒนา Cellucotton วัสดุดูดซับที่ใช้ในผ้าพันแผลสำหรับทหารที่มีต้นทุนต่ำและดูดซับได้ดีกว่าผ้าฝ้ายถึง 5 เท่า

    เมื่อสงครามจบลง พยาบาลค้นพบว่า Cellucotton ใช้เป็นผ้าอนามัยได้สะดวกกว่าผ้าฝ้ายแบบซักซ้ำ บริษัทจึงเปิดตัว Kotex ในปี 1920 กลายเป็นผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้งรายแรกของโลก และเปลี่ยนการพูดถึงประจำเดือนให้เป็นเรื่องปกติในสังคม

    บทเรียนธุรกิจ

     - มอง “วัสดุเหลือ” ให้เป็น “โอกาสใหม่”

     - สินค้าใหม่ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์ แค่มองของเดิมให้ “ต่าง”

     - กล้าพูดเรื่องยาก เพื่อสร้างตลาดที่ไม่มีใครกล้าลง

     - ต้นทุนนวัตกรรม อาจเริ่มจากปัญหาที่ไม่มีใครคิดแก้

ธุรกิจที่รอดในวิกฤต ไม่ได้รอดเพราะโชค แต่รอดเพราะ...

     - มองเห็นโอกาสในปัญหา

     - ใช้ของที่มีอย่างชาญฉลาด

     - เล่าเรื่องให้โดนใจ

     - ปรับให้ไวในโลกที่เปลี่ยนเร็ว

     - กล้าไปในทิศที่คนอื่นยังไม่กล้า

     วิกฤตไม่ใช่จุดจบ มันอาจเป็นจุดเริ่มต้นของ “สิ่งใหม่” ที่ใหญ่กว่าเดิมก็ได้ เพราะในวันที่ตลาดเงียบเหมือนเป่าสาก…ใครที่ได้ยินเสียงของโอกาสก่อน คือคนที่สร้างตำนานใหม่ในโลกธุรกิจ

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

เจาะพฤติกรรม Gen Z 2025 ว่าที่ผู้กุมอำนาจซื้อในอนาคต

Gen Z กว่า 11.6 ล้านคนในไทย กำลังกลายเป็น ‘ผู้กุมอำนาจซื้อ’ รุ่นต่อไป ดังนั้น ธุรกิจและแบรนด์ต่าง ๆ จำเป็นต้องเข้าใจพฤติกรรม ความคิด และแรงผลักดันของพวกเขา เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสทางตลาดจากผู้กุมกระเป๋าสตางค์ในอนาคตอันใกล้นี้

ถึงเวลาก็ต้อง...ขยับขยาย ส่อง 3 Beauty Blogger แตกไลน์สู่สายธุรกิจ

เหล่า Blogger ยุคเก๋าที่โลดแล่นอยู่ในวงการโซเชียลมาอย่างยาวนาน ต่างเริ่มต้นขยับขยายจากการเป็นแค่อาชีพ Blogger ข้ามสู่เส้นทางธุรกิจ และนี่คือธุรกิจจาก 3 Beauty Blogger ชื่อดัง ที่ก้าวเข้าสู่เส้นทางนักธุรกิจแบบเต็มตัว

10 เทรนด์ Future Food โอกาสใหม่ธุรกิจไทย

โลกของอาหารกำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ไม่ใช่แค่ความอร่อย หรือแพ็กเกจที่สวยงามอีกต่อไป แต่ผู้บริโภคมองลึกถึง “วัตถุดิบ สุขภาพ ความยั่งยืน และนวัตกรรม” และเทรนด์ที่น่าสนใจนี้ เรียกว่า “Future Food” ซึ่งจะมาสร้างโอกาสทองให้ธุรกิจไทย