“Molto” คราฟต์ไอศกรีมราคาเหยียบพัน ที่ลูกค้ายอมจ่ายตั้งแต่ยังไม่ได้ลองชิม

TEXT :    นิตยา สุเรียมมา
PHOTO : Molto Premium Gelato






        จากการทำธุรกิจไอศกรีมแบบ B2B ให้กับโรงแรมและร้านอาหารต่างๆ มานานกว่า 8 ปี แต่หลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้นมาทำให้ยอดขายจากลูกค้าหลายแห่งต้องหยุดชะงักลง บางที่ต้องปิดกิจการลงชั่วคราว จึงทำให้ ธฤษณุ คมโนภาส เจ้าของธุรกิจไอศกรีมเจลาโต้พรีเมียมสัญชาติไทยต้องคิดทบทวนหาทางออก จนกลายเป็นที่มาของโมเดลธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤต สร้างอีกหนึ่งประสบการณ์ทางเลือกของการสั่งซื้อไอศกรีมมารับประทานที่บ้านให้กับผู้บริโภคชาวไทย ภายใต้ชื่อแบรนด์ “Molto Premium Gelato”
 

ตอบโจทย์ความต้องการที่ยังไม่มีใครทำ
 
               
       “พอเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้น ทำให้ยอดสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าโรงแรมและร้านอาหารลดลงเยอะมาก  เพราะเขาเองก็ขายไม่ได้ ทำให้เราต้องมาทบทวนธุรกิจใหม่ว่าจะไปต่อทางไหนดี ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคตอนนั้นที่ส่วนใหญ่นิยมสั่งซื้ออาหารเครื่องดื่มมารับประทานที่บ้านเป็นจำนวนมาก เพราะออกนอกบ้านไม่ได้ จึงทำให้เรามองเห็นว่าน่าจะลองสร้างแบรนด์ไอศกรีมที่ให้บริการจัดส่งถึงหน้าบ้านขึ้นมา เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้บริโภค เพราะโดยปกติก็มักไม่ค่อยมีใครซื้อไอศกรีมกลับมารับประทานที่บ้านกันอยู่แล้ว เหตุผลเพราะว่าละลายบ้าง คุณภาพไม่อร่อยเหมือนกินที่ร้านบ้าง เลยคิดว่าถ้าสามารถให้บริการตรงนี้ขึ้นมาได้น่าจะช่วยตอบโจทย์ให้กับหลายๆ คนได้ที่อยากมีไอศกรีมคุณภาพดีๆ อยู่ในระดับท็อปแช่เก็บไว้ในตู้เย็นที่บ้านได้ โดยมีรถห้องเย็นขับไปส่งถึงหน้าบ้านเลย” ธฤษณุเล่าที่มาของไอเดียโมเดลธุรกิจใหม่ให้ฟัง
               

       จากการรับผลิตไอศกรีมตามออร์เดอร์ให้กับโรงแรมและร้านอาหาร เมื่อต้องเปลี่ยนมาเป็นการสร้างแบรนด์เพื่อผลิตไอศกรีมให้กับผู้บริโภคโดยตรง ธฤษณุเล่าถึงความยากว่าเขาต้องฉีกตัวเองออกจากกรอบหมดทุกอย่าง ตั้งแต่การดีไซน์รสชาติให้มีความวาไรตี้และหลากหลายมากขึ้น ไปจนถึงการเฟ้นหาวัตถุดิบคุณภาพดีจากแหล่งผลิตทั่วทุกมุมโลก เพื่อให้เอาชนะใจลูกค้าได้



               

      “โจทย์ของ Molto คือ เราอยากทำไอศกรีมที่พรีเมียมขึ้น อร่อยขึ้น โดยใช้วัตถุดิบที่ดันเพดานด้านต้นทุนขึ้นไปอีก เพื่อให้สามารถทำไอศกรีมที่ให้คนชอบและอร่อยได้เต็มที่มากขึ้น”
               

        หากจะว่าไปแล้วจริงๆ โมเดลธุรกิจที่ธฤษณุคิดขึ้นมาใหม่นั้น อาจไม่ได้มีเขาทำขึ้นมาเป็นรายแรก เพียงแต่ส่วนใหญ่แล้วที่มีอยู่ในตลาดมักเป็นแบรนด์ใหญ่ที่มีร้านสาขากระจายไปทั่วประเทศ แต่สำหรับแบรนด์คราฟต์ไอศกรีมเล็กๆ เรียกว่าอาจมีอยู่น้อยมาก หรือแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นเรื่องยากที่จะขนส่งจากจุดๆ เดียวเพื่อกระจายสินค้าออกไปทั่วประเทศได้
               

       โดยการบริหารการจัดส่งนั้นธฤษณุใช้วิธีเซ็ตทีมขนส่งจากภายนอกเข้ามา โดยเขาจะเป็นผู้ควบคุมระบบและบริหารจัดการเอง ซึ่งในแต่ละวันจะมีการสรุปยอดสั่งซื้อจากลูกค้า หลังจากนั้นจึงค่อยนำมาวางแผนการจัดส่งและคำนวณเส้นทางเพื่อส่งมอบไอศกรีมให้กับลูกค้าในวันถัดไป โดยราคาไอศกรีมของ Molto Premium Gelato จะอยู่ที่ 4 ถ้วย (ขนาด 16 ออนซ์) 999 บาท จัดส่งฟรีในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ต่างจังหวัดบวกเพิ่มค่าขนส่ง 150 บาท) โดยปัจจุบันขายผ่านช่องทางสื่อสารออนไลน์ ได้แก่ Facebook, Line@ และอนาคตจะมีแอปพลิเคชั่นของตัวเองด้วย เพื่อให้ลูกค้าสามารถเก็บสะสมแต้มคะแนนได้



 

สร้างความว้าว! ออกรสใหม่ให้เลือกทุกเดือน
 

      นอกจากความยากของการบริหารจัดการแล้ว เนื่องจากเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่และยังไม่เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากนัก  ธฤษณุเล่าว่าอีกหนึ่งความยากในการทำธุรกิจของเขา ก็คือ ทำยังไงให้ลูกค้าที่ยังไม่เคยได้ทดลองชิมรสชาติไอศกรีมของเราเลย สามารถตัดสินใจสั่งซื้อได้ในราคาที่เกือบหลักพันบาท
               

       “ความยากที่สุดในการทำธุรกิจของเรา ก็คือ เรากำลังจะขายสินค้าราคาอีกไม่กี่บาทก็ถึงพันแล้วให้กับลูกค้าโดยที่เขาไม่ได้ทดลองชิมด้วยซ้ำ เราจะทำยังไงให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นได้ให้รู้สึกว่าสั่งมากินแล้วอร่อย คุ้มค่า นี่คือ สิ่งที่เราต้องเจอและเป็นโจทย์หินที่สุด ซึ่งช่วงเดือนแรกขายได้ไม่ถึง 30 เซ็ตด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายด้วยการบอกต่อ ทำให้ทุกวันนี้เรามีลูกค้าเริ่มรู้จักเยอะขึ้น ถึงจะยังไม่มากเท่าไหร่นัก แต่ก็อยู่ในจุดที่เราพอใจ”
               

        ซึ่งหากไม่นับถึงความเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ อีกหนึ่งอย่างที่ถือเป็นจุดเด่นของธุรกิจไอศกรีม Molto Premium Gelato ก็คือ ความหลากหลายของรสชาติ ซึ่งมีออกมาใหม่เป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้ผู้บริโภคได้สนุกกับรสชาติวาไรตี้ใหม่ๆ  ได้แบบไม่จำเจ



               

       “ในทุกๆ เดือนเราจะมีรสชาติใหม่ออกมาให้ลูกค้าได้เลือกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 4 รสชาติด้วยกัน เป็นโจทย์ที่เราตั้งไว้เลยตั้งแต่แรก บางเดือนถ้าไอเดียบรรเจิดออกมา 7- 8 รสเลยก็มี ซึ่งนับมาจนถึงทุกวันนี้เราลองผลิตออกมาแล้วประมาณ 70 - 80 รสด้วยกัน แต่ไม่ใช่ว่าทุกเดือนเราจะต้องทำทั้งหมดทุกรสชาติ จะมีรสยอดนิยมที่เป็นรสชาติประจำอยู่ และก็รสออกใหม่ด้วย เพื่อให้ลูกค้าไม่เบื่อและได้ทดลองรสชาติใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยไอศกรีมเจลาโต้ของเราจะเป็นรสชาติที่ถูกปากคนไทย คือ หวานน้อย กินเท่าไหร่ก็ไม่เลี่ยน
               

       “เคยมีหลายครั้งสั่งลงไลน์การผลิตไปแล้ว แต่ผมมาเปลี่ยนเอาวินาทีสุดท้ายต้องทิ้งของที่เตรียมไว้ทั้งหมดก็มี เหตุผลเป็นเพราะเราอยากให้ลูกค้าได้ตักชิมไอศกรีมของเราแล้ว คำแรกก็สามารถจดจำเราได้เลย โดยรสชาติไอศกรีมของเราจะเป็นไอศกรีมที่ชัดเจน เข้าใจง่าย สื่อสารแบบตรงไปตรงมาเลยว่าเรากำลังทำรสอะไรอยู่  ชาไทยก็ชาไทยเต็มๆ เข้มข้นไปเลย โดยเราพยายามคัดสรรและเลือกใช้วัตถุดิบชั้นดีจากทุกมุมโลก เพื่อรังสรรค์เป็นรสชาติสุดพิเศษออกมา อย่างวนิลาก็มาจากมาดากัสก้า โยเกิร์ตเรานำเข้าจากอิตาลี หรืออย่างในไทยเองเราก็ใช้ ล่าสุด คือ มะยงชิดซึ่งเป็นอีกหนึ่งสุดยอดผลไม้ที่มีรสชาติดีและราคาค่อนข้างสูง เราก็นำมาใช้”



 

รู้จัก - เข้าใจ เคล็ดลับรังสรรค์รสชาติสุดพิเศษ
 
               
      เห็นทำไอศกรีมออกมาหลากหลายรสชาติให้เลือกแบบนี้ แต่ธฤษณุเล่าว่าทุกครั้งก่อนที่จะผลิตไอศกรีมออกมา เขาจะต้องทำความรู้จักและเข้าใจถึงที่มารสชาติความอร่อยของวัตถุดิบแต่ละอย่างให้ถ่องแท้ก่อน
               

        “ก่อนที่จะทำไอศกรีมออกมาสักรสหนึ่ง ผมต้องรู้ให้ได้ก่อนว่ารสชาตินั้นๆ ที่เรียกว่าอร่อย จริงๆ แล้ว คือ รูปแบบไหน อย่างรสชาเขียวจริงๆ แล้วถึงจะเป็นอีกหนึ่งรสยอดนิยม แต่ก็เพิ่งเริ่มทำออกมาได้มานาน เพราะจริงๆ แล้วผมเป็นคนไม่กินชาเขียวใส่นมเลย จึงไม่รู้ว่ารสชาติที่คนอื่นๆ รู้สึกเพลิดเพลินหรืออร่อยจากชาเขียว คือ รสชาติแบบไหน จนสุดท้ายก็ทดลองชิมไปเรื่อยๆ เป็นหลายสิบร้าน จนไปเจอร้านกาแฟร้านหนึ่งที่ต่างประเทศ แล้วรู้สึกว่า นี่แหละใช่เลย ความอร่อยของชาเขียวต้องแบบนี้  เลยกลับมาทำไอศกรีมชาเขียวแบบนั้นออกมา หรือรสส้มยูสุก็เช่นกัน ผมก็ทดลองชิมไปเรื่อยๆ จนไปเจอร้านอร่อยที่สิงคโปร์เลยรู้สึกรสชาติอร่อยต้องสดชื่นแบบนี้นะ สุดท้ายขอเขาเข้าไปดูในครัว จนรู้ต้นตอยูสุที่อร่อย เลยนำกลับมาทำเป็นรสชาติไอศกรีมออกมา ผมว่าจริงๆ วัตถุดิบทุกอย่างมีความอร่อยในตัวเอง เพียงแต่เราต้องสื่อสารออกมาให้ถูกต้องว่าอร่อยยังไง”



               

       สุดท้ายกับเป้าหมายโมเดลธุรกิจใหม่ที่ตั้งใจไว้ธฤษณุกล่าวเพียงสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า
               

       “จริงๆ เราแค่อยากทำไอศกรีมที่อร่อยและสร้างรูปแบบการกินไอศกรีมที่บ้านขึ้นมา เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคคนไทยจะได้มีของหวานติดตู้เย็นไว้เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งอย่าง ซึ่งจากเมื่อก่อนเป็นเรื่องยากมากที่เราจะซื้อไอศกรีมที่ยังคงคุณภาพดีๆ เหมือนกินอยู่ที่ร้านกลับมาที่บ้านได้ และจริงๆ ทุกคนก็ชื่นชอบการกินไอศกรีมกันอยู่แล้ว ทุกเพศทุกวัยไม่ว่าใครก็ตาม” ธฤษณุกล่าวทิ้งท้าย
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำไม SME ต้องทำมาตรฐานคาร์บอน ฟังผอ.สำนักงานฯ มาตรฐานแห่งชาติ แนะ รู้ให้ทันเกมธุรกิจยุคโลกเดือด

ในวันที่ผลกระทบจากปัญหาก๊าซเรือนกระจก รุนแรงและหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นพันธกิจร่วมที่ทั้ง ภาครัฐ เอกชน ภาคธุรกิจ หรือแม้แต่ระดับบุคคล ต้องกลับมาให้ความสำคัญ และร่วมมือกันกอบกู้โลก

SME เซ็ตธุรกิจยังไงให้โตในยุคโลกเดือด ฟังไกด์ไลน์จากผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์

ทุกวันนี้สภาพอากาศน่ากลัวขนาดไหน ต้องบอกว่าถึงขั้นที่ขึ้นเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ว่า ตอนนี้ภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และกำลังย่างเข้าสู่ "ภาวะโลกเดือด"

Egg E Egg Egg ร้านอาหารจีน สูตรแต้จิ๋ว ขายวันละ 3 ชั่วโมง เตรียมส่งไม้ต่อรุ่นที่ 3

Egg E Egg Egg คือชื่อของร้านอาหารบรรยากาศที่บ้าน ตั้งชื่อตามเสียงไก่ขัน ขายเมนูง่ายๆ ผ่านกระบวนการปรุงแบบภัตตาคาร ขายแค่บรานซ์ (Branch) วันละ 3 ชั่วโมง