เปลี่ยนโรงแรมให้เป็นครัวปักษ์ใต้ ทีเด็ดผู้ประกอบการเมืองนครฯ พลิกวิกฤต ทำคลิปปัง! คนดูเป็นล้าน ขายดีจนต้องทำโอที

TEXT : นิตยา สุเรียมมา
PHOTO : Le Pes Kitchen





      นับจากเริ่มทำธุรกิจโรงแรมมานานกว่า 7 ปี ไม่เคยมีวิกฤตครั้งใดเลยที่จะรุนแรงถึงขั้นทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงักลง ปริมาณแขกเข้าพักเท่ากับศูนย์ จึงทำให้ พัชรนันท์ เลิศพัชรีไชย เจ้าของ Le Pes Villas Resort Khanom รีสอร์ตแห่งหนึ่งในอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ต้องคิดหาวิธีเอาตัวรอดจากวิกฤตอย่างเร่งด่วน


         ด้วยการเปลี่ยนรีสอร์ตให้กลายเป็นครัวอาหารปักษ์ใต้รสเด็ดส่งขายผ่านช่องทางออนไลน์ไปทั่วประเทศภายใต้ชื่อแบรนด์ว่า “Le Pes Kitchen” และเป็นที่รู้จักขึ้นมาอยู่บนโลกโซเชียลด้วยการทำคลิปวิดีโอขึ้นมาตัวหนึ่งที่เพียง 4 สัปดาห์หลังเผยแพร่ออกไป ก็ทำให้มีคนเข้าไปกดดูแล้วมากกว่า 1.2 ล้านคน ทำให้จากรายได้ที่คิดว่าขอแค่พยุงให้ผ่านพ้นไปได้ กลับกลายเป็นขายดี จนต้องให้พนักงานทำโอทีเพิ่ม แถมยังสร้างชื่อเสียงกลับมาให้รีสอร์ตเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นด้วย อะไร คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสามารถไปต่อได้แม้ในยามวิกฤตเช่นนี้มาถอดสูตรธุรกิจไปพร้อมกันเลย



 

เพราะคลิปเป็นเหตุ
 
               
        “คลิปนี้เราทำกันเอง บังเอิญสามีซึ่งเขาทำงานสายโปรดักต์ชั่นอยู่แล้วเลยมาช่วยเขียนบท ถ่ายทำ และตัดต่อให้ ซึ่งเราทำขึ้นมาเพื่อแนะนำตัวเองให้ผู้บริโภครู้จัก ว่าเราเป็นใคร อยู่ดีๆ ทำไมเราถึงเปลี่ยนจากห้องพักมาทำครัวอาหารใต้ส่งขายอาหารให้กับลูกค้าทั่วประเทศ โดยเราไม่ได้ทำแค่แนะนำหน้าตาเมนูอาหารเท่านั้น แต่ยังบอกเล่าเรื่องราววิกฤตที่เกิดขึ้นกับธุรกิจให้ผู้บริโภคได้รับรู้ด้วย ถ้าเป็นคลิปธรรมดาแนะนำเมนูอาหารทั่วไปอาจไม่ได้รับความสนใจมากขนาดนี้ แค่ชั่วโมงแรกที่ปล่อยออกไปมีคนแชร์ไปเป็นร้อยเลย ซึ่งเราดีใจนะ เพราะไม่เพียงช่วยแค่ตัวเรา แต่ยังได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการคนอื่นๆ ที่เจอวิกฤตเหมือนกันได้ด้วย  ซึ่งจากคลิปดังกล่าวทำให้เราขายอาหารได้มากกว่า 50,000 ถุง ภายในระยะเวลา 2 เดือนเท่านั้น” พัชรนันท์ เล่าที่มาของคลิปสุดปังให้ฟัง


         นอกจากคลิปวิดีโอแล้ว พัชรนันท์เล่าว่าการที่เธอสามารถเอาตัวรอดให้ผ่านวิกฤตมาได้ ซึ่งนับเป็นเวลาร่วมปีเศษแล้วตั้งแต่ได้รับผลกระทบ แต่ยังไม่เคยปิดดำเนินการเลย ล้วนมาจากปัจจัยหลายข้อดังต่อไปนี้ประกอบกัน



 

เริ่มจากจุดเด่นที่มีอยู่
 
               
         “เรามีพนักงาน 22 คน ห้องพักทั้งหมด 39 ห้อง แต่ตั้งแต่เจอโควิดฯ รอบแรกเมื่อต้นปีก่อน ทุกอย่าง ก็คือ ศูนย์เลย ลูกค้าแคนเซิลไปหมด หลังจากรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวได้ 2 วัน เราก็ปรับตัวกันตอนนั้นเลย โดยเราไม่ได้เลือกวิธีปิดกิจการเอาพนักงานออก เพื่อให้ประกันสังคมจ่ายชดเชยให้ครึ่งหนึ่ง เพราะเราคิดว่าไม่เพียงพอที่จะทำให้เขาสามารถดำรงชีวิตได้ดี เราจึงพยายามมองหาจุดเด่นอื่นที่มี ซึ่งก็มาพบว่าอาหารใต้ของเราไม่เป็นสองรองใคร ตอนที่รีสอร์ตยังเปิดดำเนินการได้ปกติอยู่ ร้านอาหารของเราก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ที่สำคัญ คือ เรามีแพปลาเป็นของตัวเอง ซึ่งเราก็จัดส่งอาหารทะเลสดทั่วประเทศอยู่แล้ว


         เราเลยหยิบโนฮาวที่มีอยู่ ใช้โมเดลเดิมแต่เพิ่มเติมรูปแบบสินค้าใหม่เข้าไป คือ อาหารใต้สำเร็จรูปแช่แข็งจัดส่งกระจายออกไปให้กับลูกค้าในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งน่าจะช่วยตอบโจทย์เขาได้ในช่วงเวลานี้ด้วย เพราะเราจัดส่งให้ถึงหน้าบ้านเลยด้วยรถห้องเย็น  โดยที่เขาไม่ต้องออกไปซื้อข้างนอกให้เสี่ยง ไม่ต้องสั่งเสียค่าจัดส่งเดลิเวอรีแพงๆ ในแต่ละมื้อ เพราะอาหารของเราเก็บไว้ได้นาน ถ้าเขาสั่งจากเราไปเก็บไว้ก็จะช่วยประหยัดได้มากทีเดียว เพราะไม่ว่าจะสั่งแค่ไหน เราก็คิดค่าจัดส่งครั้งละ 190 บาททั่วประเทศ” พัชรนันท์กล่าว



 

คิดเร็ว ทำเร็ว
 
               
         จากโมเดลที่นำมาใช้แก้ปัญหาดังกล่าว จึงทำให้ Le Pes Villas Resort Khanom สามารถเปิดดำเนินการต่อไปได้ พนักงานทุกคนยังคงมาทำงามตามปกติ เพียงแต่เปลี่ยนจากการให้บริการห้องพัก ซึ่ง ณ ปัจจุบันต้องปิดให้บริการชั่วคราว มาเป็นการทำอาหารปักษ์ใต้ส่งกระจายไปทั่วประเทศแทน
               

        “ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วมาก สารภาพว่าจริงๆ โมเดลธุรกิจนี้เราใช้เวลาตัดสินใจและคิดทุกอย่างภายใน 10 นาทีเลยว่าในเมื่อตัดสินใจจะไปต่อแล้ว ไม่ปิดกิจการ ทำยังไงถึงจะอยู่รอดได้ มีอะไรที่เราและลูกน้องจะทำได้บ้าง ทำอะไรคนถึงจะซื้อในเวลานี้ หลังจากนั้นเราก็ใช้เวลาแค่ 3 – 4 วันในการจัดระบบเซตทุกอย่างขึ้นมา จนถึงทำคลิปโปรโมต เพราะไม่อย่างนั้นไม่ทันการ


       “ช่วงแรกที่ลองทำดู พนักงานเรากลับบ้านกัน 3 ทุ่มทุกวัน เพราะทำกันไม่ทัน แต่พออาทิตย์ถัดไปเราก็สามารถปรับตัวกันได้กลับบ้านห้าโมงเย็นตามปกติ เราคิดว่าวิธีที่ทำให้เราได้เรียนรู้เร็วที่สุด ก็คือ การลงมือทำ เหมือนการเริ่มต้นธุรกิจ ถ้ามั่วคิดแต่ว่าจะขายใครดี บางทีคิดไม่ออกก็เหนื่อยนะ และก็ไม่ได้เริ่มทำสักที แต่สิ่งที่เราใช้ในการคิดตอนนั้น คือ เราแค่ตั้งใจขายคนที่ต้องกินข้าวเท่านั้น ไม่ได้คิดว่าอายุเท่าไหร่ ทำงานอะไร ใครที่กินข้าว คือ ลูกค้าเราหมดเลย เลยทำให้ไม่ต้องปิดกั้นตัวเอง เวลาลงมือทำก็ง่ายขึ้น แล้วค่อยไปแก้กันข้างหน้า ไม่อย่างนั้นไม่ทันการณ์ลูกน้องตายหมด


        ถามว่าที่ทำมาสามารถทดแทนค่าใช้จ่ายที่เราต้องเสียไปในแต่ละเดือนได้ไหม ได้นะ แต่ก็ไม่ได้เหลืออะไรมาก เพราะทำอาหารได้กำไรน้อย แต่ทุกวันนี้ตั้งแต่ที่โควิดระบาดรอบแรก เราก็ยังไม่เคยปิดกิจการเลย พนักงานทุกคนยังคงมาทำงานตามปกติ บางวันก็มีโอทีให้ด้วย เพื่อให้ทันกับความต้องการของออร์เดอร์ที่ลูกค้าสั่งเข้ามา


        โดยทุกวันนี้เรามีอาหารทั้งหมด 20 กว่าเมนูด้วยกัน ซึ่งแต่ละเมนูเราจะวางแผนการผลิตไว้ในทุกๆ 3 วัน เพื่อหมุนเวียนสลับกันไป เพื่อให้ลูกค้าได้รับประทานของสดใหม่ เราจะปิดรอบทุกๆ บ่ายสองของแต่ละวัน ลูกค้าสั่งวันนี้ ถ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็จะได้รับสินค้าในวันถัดไป โดยแต่ก่อนเราจะขายกับข้าวเป็นอย่างๆ แต่ตั้งแต่โควิดระลอก 3 มานี้เราเพิ่มแบบขายเป็นเซตขึ้นมาด้วย เซต 7 วัน, 14 วัน และ 21 วัน โดยแต่ละวันจะมีอาหารให้ 3 อย่าง ขายในราคาเพียงอย่างละ 49 บาทเท่านั้น เพื่อเป็นอีกวิธีช่วยให้ลูกค้าได้ประหยัดมากขึ้น”



 

ต่อยอดสร้างโอกาสให้กับธุรกิจได้
               
               
       อีกหนึ่งแนวคิดที่พัชรนันท์นำมาใช้วางกลยุทธ์ในการกู้สถานการณ์ธุรกิจและเอาตัวรอดได้ คือ ต้องเป็นสิ่งที่สามารถต่อยอดออกไปให้กับธุรกิจหลักที่มีอยู่ได้ด้วย
               

        “ที่เราเลือกทำโมเดลนี้ จริงๆ ไม่ใช่เพื่อเอาตัวรอดอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยโปรโมตรีสอร์ตเราให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ยิงปืนนัดเดียวต้องได้นกหลายตัว ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นเราก็คงจะทำต่อไปทั้งสองส่วนควบคู่กันไปด้วย เพราะถือเป็นจุดเด่นของเราทั้งสองอย่าง คือ เป็นรีสอร์ตที่สามารถทำอาหารใต้จัดส่งทั่วประเทศได้ด้วย อย่างช่วงปลายปีที่แล้ว ก่อนโควิดระลอก 2 และ3 ระบาด ก็มีลูกค้าติดต่อเข้ามา จัดเป็นกรุ๊ปทัวร์เพื่อมาชิมอาหารของเราโดยเฉพาะก็มี จากที่อุดหนุนเป็นกับข้าวถุง เขาอยากมากินแบบทำสดใหม่บ้าง ทำให้เราได้มีช่องทางสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าเพิ่มมากขึ้นด้วย” พัชรนันท์กล่าวทิ้งท้าย




 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​