PixZel caffe' จากร้านกล้องสู่ร้านกาแฟ การสานต่อธุรกิจของทายาทช่างภาพชื่อดังเมืองนครศรีธรรมราช

TEXT / PHOTO : ชาญชัย หาสสุด

Main Idea

  • ร้านกาแฟที่สร้างชุมชนด้วยสิ่งที่เจ้าของชอบ เป็นจุดรวมที่เข้มแข็งของกลุ่มช่างภาพนครศรีธรรมราช

 

  • เน้นการบริหารต้นทุนด้วยการใช้วัตถุดิบร่วมกันในหลากหลายเมนู กระจายการใช้ทรัพยากรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่สิ้นเปลือง

    

         

     จากชื่อร้านขายกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพ  PixZel ได้เคยถูกสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงพัดผ่านจนต้องปิดตัว หนำซ้ำชื่อนี้ได้หล่นหายจากความทรงจำของเจ้าของในช่วงเวลาหนึ่ง จนการเดินทางได้นำพาให้คู่พ่อลูกพบร้านกาแฟโจมา (Joma Bakery Cafe') ที่หลวงพระบาง และได้กลายเป็นสารตั้งต้นของ PixZel caffe’ ' ในเวลาต่อมา

     ถ้าถามถึงร้านกาแฟดีๆ สักร้านในเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อ 8-9 ปีก่อน หลายคนคงนึกถึงร้าน PixZel caffe’  ในตึกไม้โบราณหน้าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ที่มีกาแฟรสชาติดี มีอาหารขายหลากหลายเมนู ซึ่ง เอก-โสฬส ทองสมัคร์ กับพ่อ คุณหมอรังสิต ทองสมัคร์ เป็นผู้ปลุกปั้นอยู่ตอนนั้น

นพ.รังสิต ทองสมัคร์ ช่างภาพชื่อดังเมืองนครศรีธรรมราช

   “พอการตลาดของร้านไปได้ดี เราเลยตัดสินใจขาย หลังจากนั้นแค่เดือนเดียว โควิดระบาด ดับฝันที่จะได้ไปเที่ยวอลาสก้า แต่ยังรู้สึกว่าโชคดีอยู่ จึงได้เดินทางแค่ขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวรอบเมืองไทยแทน หลังจากนั้นอีก 3 ปี เมื่อไปเที่ยวหลวงพระบางอีกรอบได้ไปนั่งที่ร้านโจมาคาเฟ่ ก็ยิ่งทำให้คิดถึงบรรยากาศของการชงกาแฟ จึงกลับมาขอทำ Caterring Café ในงานแต่งเพื่อนและได้รับความสนใจอย่างมากจากแขกในงาน จนทำให้เกิดบรรยากาศการรวมกลุ่มของแขกในงานเป็นสภากาแฟขนาดย่อมเฉพาะกิจ”

     “ตอนนั้นไม่ได้มีความคิดจะเปิดร้านใหม่ เพราะใจอยากเดินทางรอบโลก แต่ยิ่งเวลาผ่านไป ด้วยวัยและเวลาของความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น ทำให้คิดได้ว่า คนเราไม่จำเป็นต้องเดินทางให้ครบ จบรอบโลกในทีเดียวก็ได้ ค่อยๆ ต่อค่อยๆ เติมความฝันหลายครั้งยังได้ เลยขอพ่อทำร้านใหม่อีกรอบ บังเอิญตรงกับช่วงเวลาที่ตึกของร้านตอนนี้ว่างพอดี เราจึงทำ PixZel ขึ้นมาอีกครั้ง”

     ผมนั่งฟังเรื่องราวการเดินทางของ PixZel จากปากของเอกในช่วงเช้าขณะที่ลูกค้ายังบางตา ตาล-ผัสพร ทองสมัคร์ ภรรยากำลังง่วนกับเครื่องดื่มอยู่หลังบาร์ ที่บางครั้งก็เดินมาสมทบช่วยส่งต่อความทรงจำ สร้างความรู้สึกร่วมให้ผมอีกคน

     “ร้านเพิ่งเปิดใหม่มาได้แค่ 3 เดือน ลูกค้าประจำเริ่มกลับมาด้วยความคิดถึง การตกแต่งร้าน เราเน้นให้มีมุมนั่งคุยกันได้ นั่งทำงานก็ดี มีปลั๊กไฟให้ เอาความชอบของเราเป็นหลัก ไม่เน้นแนวถ่ายรูปเช็คอินจ๋า อยากสร้างให้เป็นพื้นที่ของคนที่ชอบเหมือนเรามากกว่า”

     เอกอธิบายจุดเด่นของ PixZel ใหม่ได้ชัดเจน แถมย้ำว่า อยากให้ลูกค้ารู้สึกอบอุ่นแล้วกลับมาซ้ำมากกว่าการมาทีละมากๆ ครั้งเดียวตามกระแส แล้วก็ไป

     “แรกๆ นี้ผมกับตาลลงมาทำเองก่อน เพราะอยากรู้ปัญหาว่ามีอะไรบ้าง เพื่อให้ป้องกันได้ในอนาคต แล้วค่อยจ้างพนักงาน กาแฟยังใช้เมล็ดของเจ้าเดิมอยู่ จากหนึ่งในสิบโรงคั่วแรกๆ ของไทย ซึ่งเรายังเชื่อในความสม่ำเสมอของคุณภาพที่มีมาเสมอ แค่ปรับเปลี่ยนในเรื่องของความเข้มอ่อนให้สอดคล้องกับเทรนด์การดื่มในปัจจุบัน”

     ขณะที่เรานั่งคุยกัน เอกกับตาลนำเมนูเด่นๆ ที่นอกเหนือจากกาแฟมาให้ผมลิ้มลอง อย่างขนมเปียกปูนกะทิสดที่นุ่มหนุบหนับหวานมัน ยังคงสูตรดั้งเดิม สาคูต้นแท้กะทิสด เอกยังเสริมถึงการจัดการวัตถุดิบให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเน้นวัตถุดิบที่สามารถกระจายไปเป็นส่วนประกอบในหลายเมนู เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากในการเก็บรักษาอย่างไม่สิ้นเปลืองและเสียเปล่า

     “ผมวางแผนเรื่องการประหยัดไฟไว้ตั้งแต่แรก เน้นการกระจายจากเครื่องใหญ่เครื่องเดียวเป็นสองเครื่อง โดยยังมีประสิทธิภาพการทำงานยังเท่าเดิม เพื่อการประหยัดไฟ และหากมีเครื่องหนึ่งเครื่องใดเสีย เรายังทำงานได้ปกติ ไม่ต้องปิดร้าน เซอร์วิสได้ง่าย”

     วันนี้ผมได้รู้จัก PixZel caffe’ เพิ่มมากขึ้น ผ่านจากปากของเอกและตาล

     ภายในร้านนอกจากโต๊ะเก้าอี้สำหรับลูกค้า รอบๆ ยังมีชั้นวางหนังสือเกี่ยวกับการถ่ายภาพในทุกระดับความรู้ ซึ่งนี่คือ ความแตกต่างชัดเจนอย่างหนึ่งจากที่อื่น โดยผลพวงมาจากความสามรถรอบรู้ทางการถ่ายภาพของคุณหมอรังสิต ซึ่งได้รับการยอมรับและความเคารพนับถือจากผู้เกี่ยวข้องในวงการอย่างกว้างขวาง และแน่นอนว่า ที่นี่กำลังจะกลายเป็นหลักแหล่งใหม่ของคนถ่ายภาพในนครศรีธรรมราช

     PixZel caffe’ ทำให้ผมค้นพบความจริงอย่างหนึ่งว่า บนพื้นฐานของคนทั่วไป คนเราต้องจัดสรรความรับผิดชอบส่วนหนึ่งไว้สำหรับชีวิตที่เหลืออยู่ ส่วนความฝันก็ไม่จำเป็นต้องละทิ้ง แค่สร้างสมดุลของทั้งสองอย่างให้มีความพอดี สุดท้ายเราก็อยู่ได้ด้วยความสุข

PixZel caffe’

https://www.facebook.com/pixzelcaffe

 

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน