Text: Neung Cch.
การทำธุรกิจเปรียบเหมือนการวิ่งมาราธอนที่ต้องอดทน การล้มไม่ใช่เรื่องแปลก หากแต่ล้มแล้วต้องลุกให้ไว เพราะนั่นคือบทเรียนสู่ความสำเร็จ
เหมือนกับ Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในโหมดวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ เรื่องราวของทั้งสองแบรนด์นี้ไม่เพียงสร้างแรงบันดาลใจ แต่ยังมีบทเรียนที่ SME ไทยสามารถนำไปปรับใช้ได้
Plantae: จากขาดทุนเดือนละ 2 แสน สู่สตาร์ทอัพร้อยล้าน
จากวิสัยทัศน์ของ มิตรดนัย สถาวรมณี และ มินทร์ลดา ลิมตระกูล สองผู้ก่อตั้งที่อยากสร้างธุรกิจที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นโปรตีนจากพืชที่เป็นทางเลือกยั่งยืน เริ่มจากการขายนมอัลมอนด์ที่ตลาดกรูเมต์ มียอดขายเดือนละ 1 ล้านบาท แต่ช่วงโควิด-19 ที่ทุกอย่างหยุดชะงัก ทำให้ขาดทุนหนักถึงเดือนละ 2 แสนบาท ธุรกิจแทบไปต่อไม่ไหว ทีมงานต้องตัดสินใจว่าจะเดินหน้าหรือหยุด แต่ด้วยความเชื่อที่ว่าโปรตีนพืชคือความยั่งยืน “แค่กินโปรตีนพืช 1 เชค แทนการกินไก่ได้ถึง 0.85 ตัว และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 4.3 กิโลกรัม” พวกเขาเลือกสู้ต่อ
แม้ทีมงานจะต้องเริ่มจากศูนย์เพื่อพัฒนาโปรตีนพืชที่ทั้งดีต่อสุขภาพและรสชาติเยี่ยม ด้วยแนวคิด "ถ้าแค่ดีแต่ไม่ดีที่สุด เราไม่ปล่อย" จึงต้องทดลอง แก้สูตรถึง 80 ครั้ง เป็นเหตุผลให้ทางบริษัทต้องลงทุนสร้างทีม R&D ของตัวเอง ทั้ง Chef และ Nutritionist และส่งโปรตีนพืชไปประกวดที่ Superior Taste Award 2022 จาก International Taste Institute ประเทศเบลเยี่ยม ผลลัพธ์คือ Plantae เป็นโปรตีนพืชแบรนด์แรกจากไทยที่คว้ารางวัลนี้จากการแข่งขันระดับโลก
เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่รวมถึงส่งต่อการดูแลสุขภาพให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น ทางแบรนด์จึงใช้กลุยทธ์นำศิลปิน “ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่” และ “บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล” มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ รวมทั้งใช้โซเชียลมีเดียอย่าง TikTok ในการสร้างการรับรู้ โดยโพสต์คลิปที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของโปรตีนพืช
ผลของความพยายามคือ เปิดตัวเมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่เป็นช่วงโควิด ภายในระยะเวลาเพียงปีกว่า บริษัทมียอดขายเติบโตถึง 284 เท่า ทำให้แพลนเต้เป็นสตาร์ทอัพหลักร้อยล้านบาทอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน Plantae กลายเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับ มีจำหน่ายใน ร้าน Boots กว่า 250 สาขา และมีแผนที่จะบุกไปตลาดโลกมากขึ้น
La Glace: จากดรามาเกือบล้ม สู่ยอดขาย 400 ล้าน
จากความต้องการหารายได้เสริมในขณะที่ยังเป็นนักศึกษาของ ไอติม-เอมลินทร์ ธีรธนากิตติพงษ์ และเฟรนฟราย-ทิวาทัพพ์ ธรารักษ์อนันต์ สมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ ที่เริ่มต้นด้วยการเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องสำอางแบรนด์อื่น ก่อนจะตัดสินใจสร้างแบรนด์ของตัวเอง ด้วยการทำช่อง YouTube ควบคู่ไปด้วย ธุรกิจเริ่มไปได้ดี ลูกค้าติดใจ แต่แล้วในปีที่ 3 ของการทำธุรกิจ กลับเจอวิกฤตครั้งใหญ่
La Glace เผชิญดรามาในโซเชียลมีเดียจากผลิตภัณฑ์ "กันแดดลากลาส" ที่ถูกวิจารณ์ว่าไม่ใช่ครีมกันแดดจริงๆ แต่เหมือนเบสเมกอัปมากกว่า ดรามาขยายวงกว้างไปถึงเรื่องราคาหลอดละ 600 บาท ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักศึกษามองว่าแพงเกินไป ความกดดันนี้หนักหน่วงถึงขั้นที่ไอติมเกือบคิดสั้น แต่เฟรนฟรายช่วยเรียกสติ โดยบอกว่า "ไม่ใช่ทุกคนที่อายุ 23 จะเผชิญเรื่องใหญ่ขนาดนี้ได้ และเราต้องอทำได้"
ในปีที่ 4 ของธุรกิจ ไอติมตัดสินใจห่างจากโซเชียลมีเดียชั่วคราว เพื่อไปโฟกัสที่การพัฒนาแบรนด์ พัฒนาทีมงาน และพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้น ผลลัพธ์คือการเปิดตัว "บลัชดำ" ที่กลายเป็นปรากฏการณ์ มียอดขาย 100 ล้านบาทใน 2 เดือนแรก ทีมงานตั้งเป้าจะทำให้ถึง 300 ล้านบาทเพื่อรับโบนัส 6 เดือน แต่สุดท้ายทำได้ถึง 400 ล้านบาท ทำให้ไอติมมอบโบนัสให้ทีมงานถึง 12 เดือน
อย่างไรก็ตาม เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ La Glace เจออุปสรรคเพิ่มเติม เช่น การถูกคนรู้จักโกงเรื่องแพ็กเกจจิ้ง และปัญหาแพ็กเกจจิ้งที่ไม่เหมาะกับสินค้าอย่างลิปสติก แต่ด้วยการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง La Glace กลับมาเป็นแบรนด์ที่สร้างกระแสในโลกออนไลน์ได้แทบทุกครั้งที่มีการเปิดตัวสินค้าใหม่ ปัจจุบัน La Glace กลายเป็นแบรนด์เครื่องสำอางที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
บทเรียนจาก Plantae และ La Glace สำหรับ SME
แพชชันและความมุ่งมั่นคือรากฐาน: ทั้ง Plantae และ La Glace ไม่ยอมแพ้แม้เจอวิกฤต เพราะทั้งคู่มีแพชชันที่ชัดเจน Plantae ต้องการทำให้โลกดีขึ้นผ่านโปรตีนพืช ส่วน La Glace ต้องการสร้างแบรนด์ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่
ปรับตัวและพัฒนาไม่หยุด: Plantae แก้สูตรถึง 80 ครั้งเพื่อให้ได้รสชาติที่ดีที่สุด ส่วน La Glace กลับไปพัฒนาสินค้าและทีมงานหลังเผชิญดรามา
ใช้เทรนด์ให้เป็นประโยชน์: Plantae ตอบโจทย์เทรนด์ความยั่งยืนด้วยโปรตีนพืช ส่วน La Glace ใช้โซเชียลมีเดียและการสร้างกระแสในการโปรโมทสินค้า
สร้างทีมงานที่แข็งแกร่ง: ทั้งสองแบรนด์ลงทุนในทีมงาน เช่น Plantae มีทีม Chef และ R&D ของตัวเอง ส่วน La Glace ให้โบนัสทีมงานเพื่อสร้างแรงจูงใจ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี