Text: Neung Cch.
เคยไหม...รู้สึกว่าทำดีที่สุดแล้ว แต่ธุรกิจก็ยังไปไม่ถึงไหน ต้นทุนก็สูง ลูกค้าก็หาย คู่แข่งก็เพิ่ม และสิ่งที่เคยเวิร์กกลับใช้ไม่ได้อีกต่อไป ธุรกิจยุคนี้อาจไม่ขาดเครื่องมือ แต่อาจ ขาด "วิธีคิด" ที่จะประคองให้เราเดินต่อได้ โดยไม่หมดแรงกลางทาง
และบางที... คำตอบอาจไม่ได้อยู่ในคอร์สเร่งยอดขายหรือสูตรลับจากฝั่งตะวันตกแต่อยู่ใน “ความลึกซึ้งของวัฒนธรรม” ที่เคยผ่านทั้งฟองสบู่แตกภัยธรรมชาติ สังคมสูงวัย และการเปลี่ยนแปลงไม่รู้จบประเทศนั้นคือ ญี่ปุ่น
และนี่คือ 4 หลักคิดที่คนทำธุรกิจยุคนี้ควรเรียนรู้ ก่อนจะหมดแรงโดยไม่รู้ตัว
1. Shokunin – งานเล็ก ไม่เล็กเสมอไป
ในโลกที่สินค้าและบริการถูกผลิตแบบสายพาน ความเหมือนกลายเป็นสิ่งที่ฆ่าคุณค่า ลูกค้ายุค 2025 ไม่ได้มองหาแค่ของถูกหรือเร็ว แต่พวกเขาต้องการ ความพิเศษ ประสบการณ์ที่สะท้อนความใส่ใจและคุณภาพที่เหนือชั้น Shokunin หรือจิตวิญญาณของช่างฝีมือญี่ปุ่น คือคำตอบ หลักคิดนี้เน้นการทุ่มเทให้งานแต่ละชิ้นสมบูรณ์แบบ ไม่ใช่แค่เพื่อตอบสนองลูกค้า แต่เพื่อรักษามาตรฐานของตัวเอง
Muji เคยเป็นแบรนด์ที่สับสน สินค้าดูเรียบเกินไป คนไม่เข้าใจว่าขายอะไร และทำไมถึงราคาสูง แต่วันหนึ่ง Muji เลือก “กลับไปหาหัวใจ” ของความเป็นญี่ปุ่นแท้ นั่นคือแนวคิด Shokunin หรือ “ช่างฝีมือ” ที่ไม่ได้แค่ทำงานให้เสร็จ แต่ฝึกตนเองผ่านงาน และใส่ใจแม้ในรายละเอียดที่ไม่มีใครมองเห็น เช่น เสื้อผ้า หรือเครื่องเขียน ถูกออกแบบด้วยความใส่ใจในวัสดุและการใช้งาน แม้แต่รายละเอียดเล็กๆ เช่น การเย็บตะเข็บที่มองไม่เห็นก็ทำอย่างประณีต สร้างความไว้วางใจจากลูกค้าและทำให้แบรนด์แตกต่างในตลาดที่เต็มไปด้วยสินค้าล้นเกิน
Shokunin ไม่ใช่ทางลัดสู่ความร่ำรวย แต่มันทำให้ธุรกิจมีตัวตน มีคุณภาพที่ซื่อสัตย์ และมีลูกค้ากลับมาเพราะ “เชื่อในวิธีคิดของเรา”
ในยุคที่ใครๆ ก็ขายของได้ Shokunin คือสิ่งที่จะทำให้คุณ แตกต่าง เพราะคุณ ใส่ใจในสิ่งที่คนอื่นมองข้าม
2. Mottainai – อย่าทิ้งคุณค่าไปง่ายๆ
คำว่า Mottainai ไม่ได้แปลว่า “อย่าฟุ่มเฟือย” แต่มันลึกกว่านั้น... คือการ “ไม่ปล่อยให้คุณค่าถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์” Maguro Sushi Group คือหนึ่งในตัวอย่างที่ใช้หลักคิดนี้อย่างจริงจัง พวกเขาใช้ปลาทั้งตัวโดยไม่ให้เหลือแม้แต่ส่วนเดียว เมนูถูกออกแบบให้วัตถุดิบเหลือศูนย์ และทีมงานที่ยังมีศักยภาพ ก็ไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ในโลกที่ต้นทุนพุ่งทุกวัน Mottainai คือวิธีคิดที่ลดของเสีย เพิ่มคุณค่า และทำให้ธุรกิจอยู่รอดอย่างยั่งยืน ไม่ต้องพึ่งทุนหนา ขอแค่ไม่ทิ้งสิ่งที่มีอยู่
3. Gaman – อดทนอย่างทรงพลัง ไม่ใช่แค่ยอมๆ ไป
Uniqlo ใช้เวลากว่า 10 ปี ปรับตัวจนเจาะตลาดอเมริกาได้ จากวันที่ไม่มีใครรู้จัก จนกลายเป็น Global Brand ทั้งหมดเกิดจาก Gaman ความอดทนที่ไม่ใช่การฝืนทนแบบสิ้นหวัง แต่คือการยืนหยัดในวิธีคิด แม้ต้องใช้เวลานาน และยัง “มีแรงใจ” ที่จะไปต่อ แม้ไม่มีใครสนใจ
เพราะความสำเร็จของธุรกิจ ไม่ใช่แค่เรื่องของความเร็ว แต่มันอยู่ที่ว่า…คุณจะอดทนได้นานแค่ไหน โดยไม่หลงลืมเป้าหมายของตัวเอง
4. Ganbaru – พยายาม แม้ไม่มีอะไรการันตี
ญี่ปุ่นคือชาติที่ไม่ยอมแพ้กับคำว่า “ทำไม่ได้” แบรนด์ KitKat ญี่ปุ่น เป็นตัวอย่างของการใช้ความพยายามเล็กๆ เปลี่ยนขนมธรรมดาให้กลายเป็นของขวัญ “ให้กำลังใจ” ช่วงสอบ เพียงเพราะคำว่า Kitto Katsu พ้องเสียงกับคำว่า “ขอให้ชนะ” Ganbaru ไม่ได้หมายถึงการพยายามแบบฝืนๆ แต่มันคือการ ทำให้ดีขึ้นในทุกๆ วัน แม้ไม่มีใครเห็น
ในวันที่ไม่มีอะไรแน่นอน คนทำธุรกิจจึงต้องการพลังแบบนี้ พลังที่ไม่รอแรงเชียร์จากใคร แต่เกิดจากความตั้งใจจริงในใจเราเอง
ธุรกิจที่อยู่รอด...ต้องมี “วิธีคิด” ที่แข็งแรงกว่าวิกฤต
Shokunin – ใส่ใจในทุกงาน
Mottainai – เคารพในทุกทรัพยากร
Gaman – อดทนอย่างมีเป้าหมาย
Ganbaru – พยายามแบบไม่หมดไฟ
นี่ไม่ใช่สูตรลับจากญี่ปุ่น แต่มันคือ วิธีคิดระดับสากล ที่มนุษย์ธุรกิจยุค 2025 ทุกคนควรมี เพราะเป้าหมายของเรา ไม่ใช่แค่ “อยู่รอด” แต่คือ “อยู่ให้ได้อย่างมีคุณค่า”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี