Text: Neun Cch.
คุณเคยรู้สึกไหมว่า ทั้งที่มีทีม มีพนักงาน แต่สุดท้ายคุณก็ยังต้อง “ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง” เหนื่อยแทบตาย วิ่งวนกับปัญหาเดิมๆ แต่ธุรกิจกลับ “ไม่ไปไหน” เสียที ยอดขายไม่โต ปัญหาเดิมๆ กลับมาไม่รู้จบ
ถ้าคำเหล่านี้สะกิดใจคุณ อาจถึงเวลาต้องมองให้ลึกกว่าปัญหาการตลาด หรือยอดขาย เพราะ “ศัตรูตัวร้าย” ที่ทำให้ SME ไทยจำนวนมากติดอยู่กับที่ไม่โตไปไหนสักที บางทีอาจไม่ใช่คู่แข่ง แต่คือสิ่งที่มองไม่เห็นและมักถูกมองข้ามเสมอมานั่นคือ วัฒนธรรมองค์กร และที่น่าเศร้าคือ คุณเอง อาจเป็น “คอขวด” ขององค์กร โดยไม่รู้ตัว และที่สำคัญ ไม่เคยมีใครกล้าบอกคุณแบบตรงๆ
แล้วต้นตอของปัญหาเหล่านี้คืออะไร? คำตอบอาจไม่ใช่การตลาด ไม่ใช่เงินทุน แต่มาจาก “ทีม” ที่คุณสร้าง และวัฒนธรรมที่คุณปล่อยให้เกิดขึ้นเอง
ธุรกิจดี...ต้องมีระบบคน ไม่ใช่แค่คนดี
หลายคนเริ่มต้นธุรกิจจากความตั้งใจและความสามารถล้วนๆ เมื่อขยับขยาย ก็เริ่มจ้างพนักงาน คิดง่ายๆ ว่า “เขาน่าจะรู้หน้าที่”แต่แล้ว ทุกอย่างกลับไม่เป็นไปตามหวัง พนักงานทำงานแบบรอคำสั่ง คิดไม่เป็น ตัดสินใจไม่ได้ คุณต้องคอยจี้ คอยตาม คอยแก้ปัญหาแทบทุกเรื่อง
คำถามคือ ปัญหาอยู่ที่พนักงาน หรือระบบของคุณ? พงศธร ธนบดีภัทร ซีอีโอแห่ง XPONENTIAL ENTERPRISE และประธาน Eddu Group Int. กล่าวในงาน CTC 2025 ว่า ต้นตอปัญหาส่วนใหญ่ของ SME ไม่ได้มาจาก “คนไม่ดี” แต่มาจาก “ระบบที่ไม่ดี” และ “วัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เคยถูกออกแบบ”
“คนทำธุรกิจใหม่ๆ คิดว่าการตลาดยากที่สุด แต่คนทำธุรกิจมานานรู้ว่า ‘เรื่องคน’ ยากที่สุด”
Culture Builder Framework เปลี่ยนทีมธรรมดา เป็นทีมที่ขับเคลื่อนธุรกิจ
“ถ้าคุณไม่มีกลยุทธ์สร้างวัฒนธรรม แปลว่าวัฒนธรรมในองค์กรคุณ คือวัฒนธรรมตามมีตามเกิด” พงศธรได้นำเสนอกรอบแนวคิดสำคัญที่เรียกว่า Culture Builder Framework ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยสร้างวัฒนธรรมองค์กรอย่างมีระบบและเปลี่ยนทีมธรรมดาให้กลายเป็นทีมที่ขับเคลื่อนธุรกิจได้จริง
วัฒนธรรมองค์กรไม่ใช่เรื่องล่องลอยหรือนามธรรม แต่คือชุดของพฤติกรรมที่องค์กรอนุญาตและส่งเสริมให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความจริงที่หลาย SME อาจยังไม่รู้ คือ วัฒนธรรมดี ๆ มักเริ่มต้นจากการกระทำและตัวอย่างของ “ผู้นำ”
1. Leader’s Use of Self องค์กรจะเป็นอย่างไร…เริ่มจากผู้นำเป็นแบบไหน ผู้นำคือจุดตั้งต้นของวัฒนธรรม ถ้าคุณมองว่าคนขี้เกียจ คุณจะสร้างระบบควบคุม แต่ถ้าคุณเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพ คุณจะสร้างพื้นที่ให้เขาเติบโต
ถ้าคุณอยากให้ทีม “กล้าพูด” คุณต้องเริ่มจาก “การฟัง” และ “ขอบคุณ” คนที่กล้าขัดคุณก่อน การสื่อสารเชิงบวกไม่ใช่แค่เทคนิค แต่คือตัวอย่างที่คุณต้องแสดงให้ทีมเห็น
2. Team Design อยากได้ทีมเก่ง…ต้องออกแบบให้ดีตั้งแต่ก่อนเริ่ม การจ้างคนไม่ใช่แค่ดูเรซูเม่แล้วตัดสิน แต่คือการออกแบบตั้งแต่ต้นว่า “เรากำลังต้องการคนแบบไหน เพื่อเป้าหมายอะไร” Framework นี้ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบสำคัญที่ SME ต้องให้ความสำคัญ:
Criteria: คัดคนจากสิ่งที่องค์กรต้องการ ไม่ใช่แค่คนที่ “โอเค”
Training: วางแผนพัฒนาเขาตั้งแต่วันแรก
Compensation: ค่าตอบแทนต้องสะท้อนผลงานอย่างยุติธรรม
Planning: บอกให้ชัดว่า 90 วันแรกของเขา เขาต้องทำอะไร
Opportunity: คนเก่งไม่อยู่กับองค์กรที่นิ่ง พวกเขาต้องเห็นอนาคต
3. Team Process มีคนเก่งแล้ว ก็ต้องมี “ระบบ” ที่ทำให้เขาเก่งขึ้น ทีมที่ดีไม่ได้เกิดจากคนเก่งอย่างเดียว แต่มาจากระบบที่ทำให้คนเก่ง “กล้า คิด ทำ และรับผิดชอบ” ได้อย่างเต็มที่ระบบการประชุม การสื่อสาร การฟีดแบก การประเมินผล ล้วนเป็นสิ่งที่ต้อง “ออกแบบให้เหมาะกับทีมของคุณ” องค์กรที่เติบโตได้เร็ว คือองค์กรที่ทุกคนรู้บทบาทตัวเอง และมีความรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่รอหัวหน้าสั่งทุกเรื่อง
ตัวอย่าง: ทีมแบบไหน…ที่คนเก่งเลือกอยู่? ลองนึกภาพว่าคุณคือนักกีฬาวัยรุ่น ที่ใฝ่ฝันอยากคว้าแชมป์ คุณมี 2 ทีมให้เลือก
ทีม A: โค้ชชิล ไม่เคยซ้อมตรงเวลา ฟอร์มไม่ดีก็ปล่อยผ่าน
ทีม B: โค้ชเข้ม ซ้อมหนัก ฟีดแบกตรง แต่ออกแชมป์ทุกปี
นักกีฬาที่อยากพัฒนา…เลือกทีมไหน?
คำตอบคือชัดเจน: คนเก่งไม่เลือกที่สบาย พวกเขาเลือกที่ที่ “ทำให้เขาเก่งขึ้น” และเช่นกัน…พนักงานเก่งเลือกองค์กรที่มี “วัฒนธรรมที่พัฒนาเขา” ไม่ใช่แค่บริษัทที่อยู่แล้วสบาย
“คุณไม่ใช่ซุปเปอร์แมน แล้วคุณไม่มีซูปเปอร์พาวเวอร์ด้วย ฉะนั้นถ้าคุณอยากได้ซุปเปอร์ Resource ที่ดีคุณต้องสร้าง Culture ที่ดีขึ้นมา” พงศธร กล่าว
จะเป็น Zombie หรือเป็นทีมแชมป์?
ธุรกิจที่ไม่โต ไม่ใช่เพราะตลาดไม่เปิด แต่เพราะ “ทีมไม่พร้อม” และทีมที่ไม่พร้อม ก็มาจาก “วัฒนธรรมที่ไม่ได้ถูกออกแบบ” อย่างตั้งใจ การสร้างองค์กรที่เติบโตไม่ใช่แค่การไล่ตามยอดขาย แต่คือการสร้างวัฒนธรรม ที่ทำให้คนในทีม “อยากเก่ง และกล้าโตไปกับคุณ” เริ่มวันนี้ ด้วยคำถามง่ายๆ:
คุณอยากให้ทีมของคุณมีพฤติกรรมแบบไหน?
แล้วคุณกำลัง “เป็นตัวอย่างแบบนั้นอยู่หรือเปล่า?”
หากคุณอยากให้ธุรกิจเติบโต อย่ามองแค่ตัวเลข แต่ให้เริ่มจากการออกแบบ “วิธีที่คนในทีมทำงานร่วมกัน”
เพราะวัฒนธรรม…คือระบบที่มองไม่เห็น แต่ทรงพลังที่สุดในองค์กร
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี