สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป พลิกวิกฤตสร้างโอกาสโต

Text : กองบรรณาธิการ


 



     ยอดขายที่หายไปเกินครึ่งแบบไม่ทันตั้งตัว จากวิกฤตวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง แทบทำให้ธุรกิจ “สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป” เกือบจะไปต่อไม่ได้ หากวันนั้น 2 ผู้ก่อตั้งอย่าง พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี ประธานกรรมการบริหาร และอัญชลี พรมอ่วม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จำกัด เกิดถอดใจไม่สู้ต่อ คงจะไม่มีชื่อสมาร์ท ไอดี กรุ๊ปอย่างทุกวันนี้


     เรียกได้ว่า สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป คือต้นแบบความสำเร็จของความเป็นผู้ประกอบการ SME ในยุค 4.0 ที่สร้างโอกาสและเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจด้วยแนวคิดที่แตกต่าง ด้วยการเป็นแบรนด์เทคโนโลยีเพื่อไลฟ์สไตล์ และไม่เคยหยุดนิ่งที่จะก้าวตามเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ตลอด 11 ปี บนถนนสายธุรกิจไอทีของ “สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป” แม้จะเจอขวากหนาม แต่กลับแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนได้จากยอดขายที่เติบโตขึ้นทุกๆ ปี 

 



     พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า มาจากการที่ เริ่มพัฒนา Chipset ขึ้นมาจำหน่ายไปผ่านทางเว็บไซต์ จนกลายเป็นโอกาสในการต่อยอดสู่การเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์คอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น เมาส์ คีย์บอร์ด หูฟัง ฯลฯ ในฐานะ OEM ให้กับหลายแบรนด์ดังทั่วโลก


     “ด้วยความที่เดินทางต่างประเทศบ่อย ได้เห็นว่าอุปกรณ์ไอทีหลายอย่างที่ไทยยังไม่มี ที่สำคัญตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีนักดีไซน์คอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนใหญ่นำเข้ามา เราจึงเห็นโอกาส เพราะจริงๆ แล้วจุดต่างของคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์  ดีไซน์ข้างนอกคือจุดขาย เพราะเทคโนโลยีข้างในใกล้เคียงกันหมด ซึ่งเป็นจุดที่เราทำได้ดี และตอนนั้นเราทำเจ้าเดียวเลย แบรนด์ใหญ่ๆ ทุกแบรนด์จึงมาให้เราผลิต  แม้จะมีโอกาสเข้ามาหามากมาย แต่สูตรการทำธุรกิจของเราคือ ทำจากเล็กไปใหญ่ จะไม่ทำอะไรเกินตัว คำนึงถึงพนักงาน ลูกค้า ซัพพลายเออร์ ทุกฝ่ายต้อง Win-Win เพราะคนเหล่านี้จะอยู่กับเราไปตลอด ซึ่งนั่นหมายถึงการเติบโตที่ยั่งยืน”

 



    แต่ใช่ว่าตลอดเส้นทางจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ ในวันที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่คาดไม่ถึง ทั้งจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่มีการปิดสนามบิน ทำให้คู่ค้ารายใหญ่เป็นห้างค้าปลีกที่บริษัทรับผลิตแบบ OEM แล้วติดยี่ห้อให้ โดยขณะนั้นมียอดขายเป็นสัดส่วนเกินครึ่งของทั้งหมด สั่งบริษัทให้ผลิตเป็นจำนวนมากแต่ไม่รับสินค้า บริษัทจึงต้องตัดสินใจเดินไปขอยกเลิกออเดอร์ทั้งหมดเพื่อแก้ปัญหา  และในวันนั้นเองที่ทำให้คนทั้งคู่ตัดสินใจที่จะสู้ด้วยการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยหันมาสร้างแบรนด์เป็นของตัวเองขึ้นมาอย่างรวดเร็ว 


     “ตอนนั้นเราสองคนต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ธุรกิจไปรอด ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในการดำเนินงานออก เช่น ค่าเช่าตึกสำนักงาน แล้วดัดแปลงบ้านให้เป็นออฟฟิศแทน โดยไม่มีการปลดทีมงานออกเด็ดขาด วางระบบการขนส่ง บริหารสต๊อคสินค้า คาดการณ์ยอดออเดอร์ลูกค้าอย่างแม่นยำ เราทำแผน crisis แล้วมันใช้ได้จริง จนในที่สุดเราใช้เวลาเพียงแค่ปีเดียวทำให้ยอดขายกลับมาเท่าจุดเดิมได้  ผมไม่อายนะแต่กลับรู้สึกภูมิใจด้วยซ้ำที่สามารถแก้ปัญหาได้  สิ่งสำคัญของ SME คือต้องปรับตัวให้ไว และมองภาพแบบองค์รวม เวลาเกิดปัญหาถ้าไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหนของซัพพลายเชน ก็จะไม่รู้เลยว่าจะต้องปรับตัวอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว”


     จากการปรับตัวครั้งนั้นส่งผลให้สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป มุ่งพัฒนาแบรนด์โดยชูจุดแข็ง 3 เรื่อง ได้แก่ Design ซึ่งถือเป็นความเชี่ยวชาญของบริษัทอยู่แล้ว ต่อมาคือ Variety ความหลากหลายที่มีให้ลูกค้า และสุดท้ายคือ Warranty รับประกันสินค้าให้ลูกค้านานถึง 2 ปี และประกันความเสียหายสูงสุดถึง 300,000 บาท หากเกิดเหตุอันมาจากสินค้า ซึ่งสะท้อนถึงคุณภาพสินค้า 

 



    นอกจากนี้ เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้ทุกกลุ่ม สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จึงขยายแบรนด์ให้ครอบคลุมได้ตั้งแต่ตลาดบนยันตลาดล่าง มีทั้งหมด 4 แบรนด์ ได้แก่ anitech อุปกรณ์ต่อพวงคอมพิวเตอร์ที่โดดเด่นด้านดีไซน์  เป็นแบรนด์เทคโนโลยีสำหรับไลฟ์สไตล์อย่างแท้จริง  nobi  เป็นแบรนด์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและราคาจับต้องได้ เพื่อเอาไว้สู้กับสินค้าจีนPentagonz  แบรนด์ที่เน้นอุปกรณ์เสริมสำหรับนักเล่นเกมส์โดยเฉพาะ และ    45๐ เป็นแบรนด์ครีเอทีพที่เน้นเรื่องการออกแบบ ผลิตให้ตัวแทนจำหน่ายขายเฉพาะแบรนด์นี้เจ้าเดียว และน่าจับตามองตรงที่ สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ Mai ในปี 2560  ซึ่งจะทำให้ก้าวไปสู่เป้าหมายการเป็น Regional Brand ในภูมิภาคอาเซียน  


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี


RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน

SME ไทยจะอยู่รอดได้อย่างไรท่ามกลางสงครามการค้า

การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 125% โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้จุดชนวนสงครามการค้ารอบใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ดังนั้น SME ไทยจึงกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง ...แล้วเราจะอยู่รอดได้อย่างไร