Preen รองเท้าส้นสูงสำหรับผู้ชายนะคะ

Text : กองบรรณาธิการ
Photo : Preen

 



    ในโลกของการทำธุรกิจนั้น โอกาสมีรอให้เห็นอยู่ทั่วไป ขอเพียงแค่ลองคิด ลองมองให้แตกต่าง อะไรๆ ก็อาจสามารถกลายเป็นธุรกิจได้ เหมือนเช่นที่ ชีร่า - วันวชิรา จันทรานุตร และ แพรว - จิราภา ชนะพันธ์ สองสาวเพื่อนซี้มองเห็นความแตกต่างระหว่างสรีระผู้หญิงและผู้ชาย จนเป็นที่มาของ Preen (พรีน) แบรนด์รองเท้าส้นสูงสำหรับสาวประเภทสองขึ้นมา

 



     “เราเริ่มต้นขึ้นมาจากการหาโปรเจกต์จบปริญญาโททำ เรียนเกี่ยวกับการบริหารจัดการธุรกิจ เผอิญชีร่าเคยเรียนเกี่ยวกับด้านการออกแบบมาก่อน รวมถึงการทำรองเท้า เลยคุยกันว่างั้นลองมาทำรองเท้าสำหรับสาวประเภทสองกันไหม เพราะเราเคยรู้มาว่าสาวประเภทสองเขาหารองเท้าใส่ค่อนข้างยาก ถึงจะมีไซส์ใหญ่ให้เลือก แต่ก็ใส่ไม่พอดี เพราะเป็นรองเท้าที่ทำมาสำหรับผู้หญิงที่มีไซส์รองเท้าใหญ่ ความแข็งแรงทนทานก็น้อยกว่า เราเลยทดลองทำออกมา”


    ชีร่าและแพรวเล่าว่าเริ่มต้นจากการทำรีเซิร์ชเก็บข้อมูลความต้องการจากสาวประเภทสองออกมาก่อน จากนั้นจึงมาหาความแตกต่างระหว่างสรีระเท้าผู้ชายและผู้หญิง จากที่จะทดลองทำแค่เป็นโปรเจกต์จบ แต่กลับได้รับผลตอบรับที่ดีเกินขาด จึงตัดสินใจขยายสร้างเป็นธุรกิจขึ้นมา โดยทั้งคู่เล่าความแตกต่างรายละเอียดของรองเท้าแบรนด์ Preen ว่าดูภายนอกอาจเห็นแค่เป็นรองเท้าส้นสูงที่มีไซส์ใหญ่กว่ารองเท้าส้นสูงทั่วไป โดยมีให้เลือกถึงไซส์ใหญ่สุด คือ 45 แต่หากได้ลองสวมใส่จริงจะรู้ถึงความแตกต่าง



     “รองเท้าของเราจะออกแบบให้มีหน้าเท้าที่กว้างกว่าปกติ เพราะสรีระเท้าผู้ชายจะมีหน้าเท้าที่กว้างกว่าผู้หญิง ซึ่งพอได้ลองใส่จริงแล้วจะรู้สึกสบายกว่า พอดีกว่า แตกต่างจากรองเท้าไซส์ใหญ่ที่มีขายทั่วไป เพราะนั่นคือรองเท้าที่ทำมาเพื่อสรีระผู้หญิง นอกจากนี้เรายังคำนึงเรื่องความแข็งแรง ทนทานด้วย เพราะการลงน้ำหนักแรงเวลาเดินของผู้หญิงและผู้ชายก็แตกต่างกันด้วย”


     สองสาวเล่าว่านอกจากจะทำขึ้นมาเป็นรองเท้าที่รองรับสรีระเท้าของผู้ชายโดยเฉพาะแล้ว ผู้หญิงที่มีปัญหาหน้าเท้ากว้างกว่าปกติ ก็สามารถสวมใส่รองเท้าของพวกเธอได้ด้วย โดยทำไซส์มาเผื่อมีให้เลือกตั้งแต่ไซส์ 36 – 45 ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 790 -1,500 บาท 


     “เราต้องทำไซส์เผื่อไว้ด้วย เพราะยังไงก็เป็นสินค้าใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ฉะนั้นต้องกระจายความเสี่ยง เพราะตอนสั่งผลิตต้องมีเรื่องขั้นต่ำอยู่แล้วด้วย โดยรูปแบบที่เราออกแบบมาปัจจุบันนี้จะมีให้เลือก 2 รูปแบบ คือ รองเท้าส้นสูงและส้นเตี้ย คนทั่วไปอาจเข้าใจว่าสาวประเภทสองจะชอบรองเท้าที่วิ๊งๆ ใส่เพชรเยอะๆ แต่ความจริงแล้วเขาก็เหมือนกับผู้หญิงทั่วไปที่อยากมีรองเท้าใส่ออกงานบ้าง รองเท้าใส่วันธรรมดาๆ บ้าง โดยรองเท้าของเราจะเลือกโทนสีเรียบๆ แบบทูโทน เพื่อให้สามารถใส่ได้หลากหลายโอกาส”

 



    ทุกวันนี้ทั้งคู่เล่าว่าเลือกขายและทำการตลาดผ่านออนไลน์ก่อน รวมถึงการออกบูธเพื่อแนะนำให้เป็นที่รู้จักบ้าง ซึ่งมองว่าเป็นวิธีการที่ใช้ต้นทุนน้อย อีกทั้งยังสามารถสื่อสารและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุดกว่า หากลูกค้าสนใจก็สามารถติดต่อเข้ามาพูดคุยได้ แต่อาจจะมีข้อเสียอยู่บ้างที่ลูกค้าไม่ได้มาลองรองเท้าด้วยตัวเอง แต่ก็ใช้วิธีลงขนาดและไซส์ให้ลูกค้าลองเลือกด้วยตนเอง โดยในอนาคตข้างหน้าอาจเปิดหน้าร้านขึ้นมา คอลเลคชั่นให้หลากหลาย รวมถึงเจาะกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้นด้วย

     “ทุกวันนี้ด้วยความที่ทำงานประจำด้วยกันทั้งคู่ จึงทำให้เรายังไม่ได้ทำการตลาดที่จริงจังมากนัก แต่ก็มีลูกค้าประจำที่คอยติดตามเวลาออกคอลเลคชั่นใหม่ๆ มาตลอด เพราะเขาเองก็ไม่เคยเจอรองเท้าแบบนี้ที่ออกแบบมาเพื่อเขาโดยเฉพาะ ไม่เหมือนผู้หญิงทั่วไปที่อยากจะซื้อรองเท้าสักคู่ก็เดินเข้าไปเลือกซื้อร้านไหนก็ได้ ดังนั้นหากเขาได้เจอร้านที่ถูกใจจึงค่อนข้างเป็นลูกค้าที่เหนี่ยวแน่นและบอกต่อปากต่อปาก ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ดีในการทำธุรกิจให้ยั่งยืนต่อไป”


    และนี่คือ อีกหนึ่งเรื่องราวของธุรกิจที่เกิดขึ้นจากการมองเห็นโอกาสในความแตกต่าง


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน