Laemgate Infinite โมเดลธุรกิจร้านอาหาร ที่ไม่ใช่แค่ร้านอาหาร

Text : กองบรรณาธิการ



     ชีวิตคนเราเหมือนดั่งละคร บางครั้งก็ยอกย้อนจนยากคาดเดา ในวันที่เด็กเจน Y ตบเท้าเข้าสู่โลกธุรกิจ สะกิดใจให้ อพิชาต บวรบัญชารักษ์ คิดเปลี่ยนใจจากเดิมที่ตั้งใจเด็ดเดี่ยวไม่คิดสืบทอดกิจการร้านอาหารของครอบครัว แต่ด้วยความอยากมีธุรกิจของตัวเองตามกระแสเด็กเจน Y ทั่วๆ ไป ร้านอาหาร จึงเป็นธุรกิจเดียวที่คุ้นเคยมานาน ท้ายที่สุดเขาจึงตัดสินใจปลุกชีพให้กับ “แหลมเกต” อดีตร้านอาหารดังของศรีราชา ด้วยเพื่อนฝูงคนรู้จักที่มีมาก จึงพากันมาอุดหนุนทำให้เปิดร้านมามีคนคึกคัก แต่ก็เพียงแค่เดือนแรกเท่านั้น พอทุกอย่างเข้าสู่ความเป็นจริง รายได้เริ่มไม่พอกับรายจ่าย ต้องทนควักเงินทิ้งแต่ละเดือนร่วม 5 แสน นานเกือบ 2 ปี




 


    แหลมเกตเวอร์ชั่นโค้ก-อพิชาติ ร้านแรกยังเป็นการถอดแบบมาจากแหลมเกตเวอร์ชั่นเก่าเมื่อ 30 ปีที่แล้ว คือเหมือนยกแหลมเกตของพ่อแม่ที่ศรีราชามาตั้งไว้ในห้างใจกลางกรุง รูปลักษณ์อาจดูทันสมัยขึ้นแต่ทุกอย่างยังเหมือนเดิม นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เขาต้องเจ็บตัวกับการลงทุนครั้งแรก ก่อนเขาจะค้นพบกลยุทธ์เคล็ดลับที่นำไปสู่ความสำเร็จได้ นั่นคือ การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า เพื่อให้เกิดการบอกปากต่อปาก จนกลายเป็นกระแสสร้างความดังให้กับแบรนด์ Laemgate Infinite




Cr :Laemgate Infinite 


      อพิชาตบอกว่าเขาไม่เคยเรียนเสริมด้านมาร์เก็ตติ้ง หรือการบริหารจัดการธุรกิจ การเรียนรู้ของเขามาจากประสบการณ์ล้วนๆ อย่างความพลาดหวังจากการเปิดร้านครั้งแรกที่สุขุมวิทเบ็ดเสร็จแล้วเขาโดนไปไม่ต่ำกว่า 10 ล้าน ถือเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่เขาบอกว่า “จ่ายแพงไปหน่อย แต่ก็ทำให้จำขึ้นใจและไม่ผิดพลาดซ้ำแบบเดิมอีก” จากความผิดพลาดเขามาตีโจทย์ใหม่หาโมเดลธุรกิจที่ต้องการ เปลี่ยนร้านอาหารทะเลทั่วไปมาเป็นร้านบุฟเฟต์ที่มีพนักงานเดินเสิร์ฟถึงที่ในเวลา 90 นาที 




Cr :Laemgate Infinite 



     เงิน 10 ล้านทำให้อพิชาตตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างแบรนด์ รู้ว่าสเต็ปของการสร้างแบรนด์คือการเล่าเรื่อง พร้อมกับบอกลายนิ้วมือของแบรนด์ เขากำหนดให้ลายนิ้วมือของแหลมเกตคือความสุข ตั้งใจให้ที่นี่เป็นโรงละครแห่งความสุขของทุกคน กำหนดให้มีช่วงเวลาเปิดเป็นรอบๆ เหมือนโรงละคร วันละ 4 รอบ โดยให้ลูกค้าโทรมาสั่งจองที่นั่งก่อน เพื่อให้สามารถจัดเตรียมของและบริหารจัดการต้นทุนได้ โดยตั้งราคาไว้ที่ 555 ให้เป็นสัญลักษณ์ของเสียงหัวเราะ




Cr :Laemgate Infinite 


     หลังยกเครื่องครั้งใหญ่ให้แหลมเกตจนเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน จากเดิมที่แต่ละวันมีคนเข้าร้านแค่ 1-2 โต๊ะ กลายเป็นคนแน่นร้านทุกวัน อพิชาติตัดสินใจขยายสาขา ซึ่งทุกสาขาก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีมีคนแน่นร้านทุกวัน ทว่าเจ้าตัวบอกว่าธุรกิจร้านอาหารที่ว่ายากแล้ว การบริหารจัดการร้านอาหารที่มีหลายสาขาเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า เพราะเมื่อคนแห่กันมาอุดหนุนจนแน่นร้านทำให้การบริหารจัดการยากต่อการควบคุมที่สุดคุณภาพก็หลุดมาตรฐาน ร้ายยิ่งไปกว่านั้นคือต้นทุนคุมไม่อยู่ ในที่สุดเขาตัดสินใจยุบสาขาทั้งหมดแล้วมารวมกันไว้ที่เดียวที่แหลมเกตอินฟินิต วาดฝันให้เป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตตลอดไป โดยวางแผนไว้ 6 ปี ให้ที่นี่เป็นจุดหมายปลายทางที่คนจะเดินทางมาหาความสุขกัน และเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับโมเดลธุรกิจใหม่ในอนาคตของเขา




Cr :Laemgate Infinite 



     ที่แหลมเกตอินฟินิทมีห้องเธียร์เตอร์สำหรับเสิร์ฟอาหารลูกค้า พื้นที่ข้างๆ มีแหลมเกตแฟคตอรี่ เปิดโชว์ให้ทุกคนได้เห็นขั้นตอนการจัดเตรียมอาหารทะเลสด หลังกินอาหารเสร็จลูกค้าสามารถมาเดินช้อปเพื่อเลือกซื้อกุ้งหอยปูปลากลับไปทำกินเองที่บ้านได้ อพิชาติบอกว่าอนาคตโมเดลธุรกิจของแหลมเกตจะไม่ใช่แค่ร้านอาหารแล้ว แต่จะพัฒนาไปเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมให้บริการรอบด้าน ทั้งทีมงานระดับมืออาชีพ และซัพพลายเออร์ของสดมีคุณภาพ โดยใช้แหลมเกตอินฟินิทเป็นโชว์รูมในการโชว์ศักยภาพความพร้อมขององค์กร


     ผู้สร้างแหลมเกตอินฟินิทบอกว่าการทำธุรกิจของแต่ละคนจะมีบลูปริ้นท์ต่างกัน ความสำเร็จของเขาในวันนี้จึงอาจไม่ใช่แนวทางสู่ความสำเร็จของใครๆ อีกหลายคนในอนาคตก็ได้ เพราะแต่ละคนมีแม่พิมพ์แตกต่างกันซึ่งต้องหาเองให้เจอ เหมือนดังเช่นตัวเขาเอง แม้ทำธุรกิจร้านอาหารเหมือนพ่อแม่แต่ก็มีเส้นทางความสำเร็จแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน