SAVE THE OCEAN ในแบบ ‘ศิลปาโฆษณ์’ แบรนด์ผู้สร้างงานศิลปะด้วยวัสดุเหลือใช้

TEXT : พิมพ์ใจ พิมพิลา

 

 


Main Idea
 
  • โลกของเรากำลังต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน จะเห็นได้จากข่าวสารไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศที่กำลังประสบกับปัญหาภาวะโลกร้อนอันก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษมากมายหรือจะเป็นปัญหาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในทุกหย่อมหญ้า รวมไปถึงปัญหาขยะที่สั่งสมมานานหลายปี แต่กลับไม่ได้รับการกำจัดอย่างเหมาะสมโดยนำไปสู่การคร่าชีวิตเหล่าสัตว์ทั้งบนบกและในน้ำ
 
  • และจากปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เองได้นำมาสู่ “ศิลปาโฆษณ์” (Silpakote) แบรนด์ผู้สร้างสรรค์งานจากขยะที่หลายคนมองข้ามไป ด้วยการผสมผสานงานศิลปะเพื่อพลิกฟื้นสิ่งของเหลือใช้ให้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง เช่นเดียวกับโลกใบนี้ที่จะกลับมาสะอาดสดใส ด้วยการจุดแรงกระเพื่อมของผู้คนผ่านงานศิลปะเหล่านี้
 




     ในยุคที่เทรนด์รักษ์โลกกำลังถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง  ส่งผลให้หลายๆ ธุรกิจหันมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าได้เล็งเห็นถึงผลกระทบที่ตามมาจากภาวะโลกร้อนที่เป็นอยู่และไม่นิ่งนอนใจที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เช่นเดียวกับแบรนด์ “ศิลปาโฆษณ์” (Silpakote) ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้น






     โดยพวกเขาได้นำศิลปะที่ตนเองศึกษา เรียนรู้และฝึกฝนอยู่ประจำมารังสรรค์เป็นชิ้นงานที่สวยงามในคอนเซปต์ "SAVE THE OCEAN" เพื่อแสดงให้เห็นถึงความงดงามของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลที่กำลังถูกขยะกลืนกินจนอาจหมดความสวยงามในอนาคต หากไม่ได้รับการแก้ไขในเร็ววัน


     “พรทิพย์ โรจนเพ็ญกุล” หนึ่งในผู้ก่อตั้งแบรนด์ศิลปาโฆษณ์ ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า เธอกับเพื่อนทำงานศิลปะ โดยเน้นงานตกแต่งบ้านเหมือนกับงานในปัจจุบัน ทว่าวัสดุหลักที่ใช้จะเป็นสัมฤทธิ์ที่ถูกหล่อเป็นงานชิ้นใหญ่ แต่ว่างานเช่นนี้จะมีราคาสูงมาก ถึงแม้ว่าในประเทศไทยจะมีคนชื่นชอบและให้คุณค่ากับงานศิลปะแต่ก็ไม่มีกำลังมากพอที่จะจ่ายในส่วนนี้ เธอจึงต้องการทำให้ศิลปะสามารถเข้าหาผู้คนได้ง่ายขึ้น ด้วยการปรับราคา ปรับวัสดุ และรูปแบบ หากแต่ยังคงคุณค่าของงานศิลปะเอาไว้ได้






     “เรามีการปรับงานกันเรื่อยๆ จนช่วง 3 ปีที่ผ่านมา งานก็มีการตกตะกอนมากขึ้น อย่างการเปลี่ยนจากงานสัมฤทธิ์มาเป็นวัสดุที่มีประโยชน์ต่อธรรมชาติด้วยการใช้วัสดุรีไซเคิล อีกทั้งเรายังมองเห็นว่า การขายวัสดุไม่ว่าอะไรก็ตามจะต้องแตกต่างจากตลาดทั่วไป  อย่างเช่น งานเซรามิกเฉยๆ ก็อาจจะเหมือนทางเมืองจีนมากเกินไป เราจึงทำการผสมผสานกันระหว่างของเหลือใช้เข้ากับเซรามิกเพื่อให้เกิดความน่าสนใจมากขึ้น และหลีกเลี่ยงการลอกเลียนแบบ เราจึงทำให้งานชิ้นนี้ยากขึ้นด้วยการออกแบบที่ทำให้ขั้นตอนต่างๆ มีความซับซ้อน อย่าง การฉลุโลหะ อลูมิเนียม การตัดชิ้นเหล็กที่เหลือใช้โดยการใช้ไฟเพื่อให้เกิดเท็กเจอร์ หรือจะเป็นการเพ้นต์ลงไปบนโลหะหรือบนไม้เก่า และการเพิ่มเซรามิกเข้าไป จนนำมาสู่งานลักษณะนี้ขึ้นมา” เธอเล่าความแปลกต่างของผลงานจากศิลปาโฆษณ์


     ก่อนบอกถึงคอนเซ็ปต์ในการสร้างงานศิลปะในตอนนี้ว่า ได้จับแนวทะเลมาใช้เนื่องจากต้องการให้เกิดการอนุรักษ์ทะเลหรือ Save The Ocean เพิ่มขึ้น อีกทั้งวัสดุส่วนมากที่นำมาใช้ก็ล้วนได้มาจากวัสดุเหลือใช้ทั้งจากบนบกและในน้ำเพื่อให้ตรงกับคอนเซ็ปต์ของแบรนด์ที่ต้องการจะอนุรักษ์ท้องทะเลนั่นเอง






     “พอดีเราไปเดินเล่นทะเลแล้วเห็นไม้ จึงเลือกนำแก่นไม้มาใช้เพราะด้วยรูปทรงแปลกๆ อีกทั้งยังมีร่อยรอยของเพรียงทะเล ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความสวยงามทางธรรมชาติ และเนื่องจากไม้ที่อยู่ตามชายทะเลนั้นบางชิ้นเปื่อยยุ่ยเราจึงไปขอซื้อไม้มาจากหมู่บ้านต่างๆ อย่างนำเสาที่ผุพังหรือถูกตัดทิ้งมาใช้ เพราะไม้พวกนี้ถ้าไม่เอาไปใช้งานต่อก็จะถูกนำไปทิ้งหรือนำไปเผาไปในสักวัน  ซึ่งมันจะก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษ แต่เราจะสร้างชีวิตใหม่ให้กับวัสดุเหล่านั้นกลับมามีคุณค่าอีกครั้ง”


     พรทิพย์อธิบายต่อว่า ในงานหนึ่งชิ้นใช้เวลาในการออกแบบมากกว่าการลงมือทำ อีกทั้งยังไม่ได้ทำชิ้นต่อชิ้น แต่เป็นการนำมาประกอบให้ขึ้นรูปให้เกิดความสมบูรณ์ ซึ่งต้องใช้เวลาในการคัดเลือกวัสดุพอสมควร จึงทำให้งานไม่เหมือนกันสักชิ้น เพราะการออกแบบนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของวัสดุที่ได้มา ไม่ว่าจะเป็นไม้หรือว่าโลหะ ที่เธอต้องดูก่อนว่า มีขนาดเท่าไหร่ มีร่องรอยอะไรหลงเหลืออยู่ และสามารถนำมาใช้ตรงไหนได้บ้าง






     “อย่างงานชิ้นล่าสุดที่ได้วัสดุเป็นแผ่นเหล็กกลมที่ถูกตัดทิ้งมา ก็นำมาสร้างเป็นเรื่องราวเหมือนกับว่า เรามองมาจากท้องฟ้าผ่านช่องตรงกลางมายังมวลน้ำในมหาสมุทร แล้วก็นำมาสร้างเรื่องให้มันมีจุดเด่นโดยการนำไม้เข้ามาประกอบกับฉากใต้ทะเลอีกทีนึงเหมือนกับโลกกลมๆ แล้วก็ซูมเข้าไปเพื่อเจอกับสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล  ซึ่งตรงนี้คือจินตนาการที่เราพยายามเสริมเข้าไปให้เกิดเรื่องราวมากขึ้น”


     เธอเล่าจุดมุ่งหมายของแบรนด์ว่า อยากจะสร้างผลงานเกี่ยวกับทะเลไปก่อน เพราะปัญหาที่เห็นเด่นชัดในวันนี้ก็คือเรื่องของขยะในทะเล โดยอนาคตข้างหน้าก็มีจุดหมายว่า อยากจะทำเกี่ยวกับสัตว์ป่าของไทย แต่ว่าก็ยังไม่ได้เป็นอนาคตอันใกล้เพราะเธออยากมั่นใจก่อนว่า ปัญหาในทะเลนั้นได้รับการแก้ไขแล้ว






     ในตอนนี้แบรนด์ศิลปาโฆษณ์มีความชัดเจนในการทำงานแล้ว พวกเขาจึงเริ่มทำอะไรบางอย่างเพื่อท้องทะเล เช่น การใช้เงินจากรายได้บางส่วนมาช่วยเหลือด้านการเก็บขยะทางทะเล การซื้อโปรดักต์ของ 4OCEAN องค์กรเก็บขยะจากท้องทะเลและนำวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ไปสร้างเป็นถุงช้อปปิ้ง กำไลข้อมือ โดยรายได้จากส่วนนี้ก็นำไปเก็บขยะต่อไป เธอบอกว่า การช่วยเหลือในตอนนี้ยังเป็นเพียงแค่การเริ่มต้นเท่านั้น ในอนาคตอาจจะมีการเข้าไปช่วยเหลือเต่าทะเลหรือทางอื่นที่ชัดเจนกว่านี้ และเมื่อถามถึงการตอบรับของชิ้นงานและการขยายธุรกิจในอนาคตเธอก็ตอบอย่างชัดเจนว่า


     “ปีที่แล้วผลตอบรับดีจนเรารู้สึกว่า อยากจะคืนให้กับสังคม แต่การตอบรับในตอนนี้ก็เข้าใจว่า ด้วยปัจจัยหลายอย่างทั้งเศรษฐกิจและโรคภัยไข้เจ็บทำให้อาจจะไม่ดีมากนัก ส่วนการส่งออกยังต้องคิดอีกทีเพราะเราไม่อยากทำงานเป็นออเดอร์ แต่อยากจะขายงานในนามการดีไซน์ของตัวเองมากกว่า แล้วด้วยปัจจัยของทั้งเรื่องคนงานน้อยและการไม่พร้อมด้านสถานที่จึงทำให้การส่งออกยังต้องเป็นเรื่องของอนาคต แต่ถ้ามีคนสนใจอยากจะสั่งซื้อก็มาคุยกันได้”
               





     ทุกธุรกิจล้วนมีคุณค่าในตัวเอง เพียงแต่คุณค่าที่จะคงอยู่และเป็นคุณค่าที่ไม่ว่าแบรนด์ใดก็สามารถทำได้นั้น คือการช่วยเหลือผู้อื่นที่ไม่เพียงเป็นมนุษย์ด้วยกัน หากแต่ยังรวมถึงสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ ที่เราต่างพึ่งพาอาศัยและใช้ประโยชน์อยู่ทุกวัน 
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​