VANZTER ไอเดียจากสิงห์นักบิด! สุนทรียะของเด็กแว้น สู่แบรนด์ของแต่งบ้าน

TEXT : พิมพ์ใจ พิมพิลา

PHOTO : พิมพ์ใจ พิมพิลา และ VANZTER

 

 

Main Idea
 
 
  • คำว่า "เด็กแว้น" ของแต่ละคนอาจมีความหมายมุมมองที่แตกต่างกันไปตามประสบการณ์หรือข่าวสารที่ได้รับมา ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักเป็นแง่เสียมากกว่าแง่ดี
 
  • แต่จริงๆ แล้วในความแว้นที่หลายคนเข้าใจ กลับมีมุมมองความคิดสร้างสรรค์ เทคนิคงานประดิษฐ์ที่น่าสนใจ เพียงแต่บางครั้งเราอาจมองข้ามไปเท่านั้น
 
  • ด้วยเหตุนี้ “VANZTER” แบรนด์สินค้าของแต่งบ้านที่ได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาถึงพฤติกรรมและเรื่องราวชีวิตของเด็กแว้น จึงได้หยิบนำมาสร้างสรรค์เป็นธุรกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่ออยากจะนำเสนอศิลปะและหัตถกรรมที่ถูกซ่อนอยู่ในกลุ่มเด็กแว้นเหล่านี้ออกมาให้คนทั่วไปได้รับรู้
 



 
     ถ้ากล่าวถึง “เด็กแว้น” ใครหลายคนคงนึกถึงเสียงท่อดังๆ น่ารำคาญ ซึ่งมักจะตามมาด้วยเสียงสาปแช่งจากชาวบ้าน โดยเฉพาะในเวลายามค่ำคืนที่ควรเป็นเวลาแห่งการพักผ่อนและความสงบเงียบ





     นั่นเป็นเพียงมิติเดียวที่ทุกคนมองเห็น แต่หากมองลึกเข้าไปในความน่ารำคาญและเสียงก่นด่า ยังมีอีกหลายแง่มุมที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้น คือ เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ เคยนึกสงสัยกันบ้างไหมว่า เสียงท่อที่ดังแสบหู ตัวท่อที่มันวาว สีสันสะดุดตาสะดุดใจที่เราเห็นนี้ จริงๆ แล้วอาจเป็นงานฝีมือระดับขั้นเทพที่หากใครไม่ได้เข้ามาเป็นเด็กแว้นก็อาจไม่เข้าใจ หรือเข้าถึงงานสร้างสรรค์ที่เป็นเทคนิครู้กันเฉพาะกลุ่มของเหล่าแว้นสเตอร์


     “VANZTER” ธุรกิจที่มีเป้าหมาย เพื่อต้องการนำเสนอให้เห็นถึงความสร้างสรรค์ งดงาม และเป็นเอกลักษณ์ที่ถูกสร้างโดยเด็กแว้นเหล่านั้น โดยการนำเทคนิคหรือหัตถกรรมในการตกแต่งท่อรถมาต่อยอดเป็นงานศิลปะ ไปจนถึงการออกแบบให้กลายเป็นสินค้าตกแต่งบ้านสุดแหวกที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน





     โดยผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้เกิดจากร่วมมือกันระหว่าง พัทธมน ศุขเกษม และ ศิรินภา ประจักษ์โก จุดเริ่มต้นเกิดจากการทำธีสิสระดับปริญญาโทของพัทธมน จึงทำให้เธอได้เข้าไปสัมผัสกับการใช้ชีวิตของเด็กแว้นกลุ่มใหญ่ จนสุดท้ายเธอได้มองเห็นถึงความงามของท่อไอเสียที่ไม่ได้มีแค่เสียงดังรบกวนกับควันโขมงยามเมื่อรถถูกขับเคลื่อนออกไปเท่านั้น


     “จริงๆ ทำธีสิสปริญญาโทเกี่ยวกับเรื่องเด็กแว้น โดยเราเรียนดีไซน์ แต่มีความสนใจประเด็นเกี่ยวกับสังคม จึงจับสองอย่างนี้มาร่วมกัน ทีนี้ก็มีการรวมทีมกับพี่ศิรินภา เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์นี้ขึ้นมา โดย VANZTER คือ การนำเอาประเด็นทางสังคมมาดีไซน์เป็นของตกแต่งบ้าน เพราะมุมมองของเด็นแว้นที่คนส่วนใหญ่นึกถึงมักจะมองในพฤติกรรมเชิงลบ แต่เราอยากออกแบบงานให้คนมองแล้วเข้าใจว่าจริงๆ แล้ว พวกเขาเหล่านั้นทำอะไรกัน มีเทคนิคอะไร มีสไตล์แบบไหน โดยที่เราจะเล่ามันอยู่ในรูปแบบของอย่างอื่นแทนที่ไม่ใช่แค่ท่อไอเสีย หรือบนตัวรถมอเตอร์ไซต์” พัทธมนเล่า





     ด้วยแนวคิดดังกล่าว สินค้าของ VANZTER จึงออกมามีลักษณะออกมาคล้ายคลึงกับส่วนประกอบบางอย่างของรถมอเตอร์ไซต์ ยกตัวอย่างเช่น แจกันที่ทำออกมามีลักษณะคล้ายกับท่อรถ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมากจากการแต่งท่อของเหล่าเด็กแว้น แน่นอนว่าหากไปอยู่บนท้องถนน นี่อาจเป็นงานประดิษฐ์ที่ผิดกฏหมายและไม่ผ่านมาตรฐานมอก. พาลให้ร้านที่รับปรับแต่งมีความผิดต้องปิดร้านไปด้วย แต่หากนำมาดัดแปลงใช้เป็นเทคนิคทำของตกแต่งบ้าน สร้างสรรค์งานดีไซน์ต่างๆ นอกจากไม่ผิดกฏหมายแล้ว ยังกลับสร้างรายได้ให้กับช่างได้อีกด้วย





     นอกจากนี้ความเป็นเอกลักษณ์ของงานคราฟต์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเป่าสี เชื่อมท่อ หรือการนำวัสดุที่มีคุณสมบัติพิเศษมาใช้อย่างคาดไม่ถึง เช่น ไทเทเนียม วัสดุสำคัญที่ถูกใช้กับท่อของเด็กแว้นจริงๆ ซึ่งเมื่อนำมาเป่าไฟแล้วจะทำให้เกิดสีต่างๆ อีกทั้งไทเทเนียมยังเป็นวัสดุที่มีความปลอดภัยเป็นมิตรต่อสุขภาพของผู้คนมากกว่าวัสดุอื่นๆ เพราะมีน้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดี ไม่เป็นสนิม ทนต่อการกัดกร่อน


     จากความตั้งใจดังกล่าว พัทธมนและศิรินภาจึงมีความคิดที่จะนำเทคนิค ศิลปะงานคราฟต์เหล่านี้ไปต่อยอดในระดับอุตสาหกรรม เช่น เทคนิคการยิงทราย เพื่อสร้างทางเลือกและมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยมองว่าหากงานสามารถกระจายออกไปได้มากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะทำให้ผู้คนสามารถสัมผัสกับความงดงาม ความสร้างสรรค์ เทคนิคการตกแต่งที่ไม่เหมือนใครออกมาให้ทุกคนได้รู้จัก รวมถึงเรื่องราวต่างๆ ของเหล่าเด็กแว้นที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังชิ้นงานเหล่านั้นได้มากกว่าที่จะมองแต่แง่ลบเพียงด้านเดียว





     “การที่เราทำตรงนี้ออกมา อย่างน้อยๆ เมื่อเขาได้มาเห็นสิ่งเหล่านี้ จากที่เคยคิดว่าเท่แค่ในกลุ่ม แต่เมื่อชิ้นงานได้เผยแพร่ออกมาให้คนทั่วไปได้รับรู้ด้วย อาจทำให้เขาเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจกับตัวเองมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยให้มุมมองภาพลักษณ์ของเด็กแว้นอาจเปลี่ยนไปในอีกมิติหนึ่ง ที่คนทั่วไปอาจไม่เคยมองเห็น ซึ่งการเล่าเรื่องผ่านวัตถุผ่านชิ้นงานน่าจะแสดงความเป็นตัวเขาออกมาได้ดีกว่า เราดีใจที่ได้ใช้ตรงนี้เป็นพื้นที่หนึ่งให้เขาได้แสดงตัวตนออกมาอย่างสร้างสรรค์”


     และจากที่ได้ออกร้านนำผลิตภัณฑ์ไปจัดแสดงเผยแพร่ตามงานต่างๆ ทำให้พวกเธอได้รู้ว่ากลุ่มคนที่ให้ความสนใจส่วนใหญ่ นอกจากจะชื่นชอบแนวคิดที่สร้างสรรค์ เทคนิคการทำ และความสวยงามไม่เหมือนใครแล้ว ยังมีความเข้าใจ รวมถึงต้องการทำความเข้าใจใหม่ในความเป็นตัวตนของเด็กแว้นเหล่านั้นด้วย ซึ่งในอนาคตพวกเธอเองก็อยากที่จะพัฒนาชิ้นงานให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ด้วยการใส่เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เข้าไป แต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์สไตล์แว้น อย่างเช่นการไล่เฉดสีสันของไทเทเนียม เป็นต้น





     “เป้าหมายหลักๆ ของการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ขึ้นมา คือ เราอยากสื่อให้เห็นว่าไม่ควรทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะบางครั้งกลุ่มคนที่ถูกมองข้ามไปเหล่านั้น เขาอาจมีสุนทรียะบางอย่างซ่อนอยู่ รวมถึงอะไรอีกหลายอย่างที่เราไม่เคยรับรู้ ซึ่งถ้างานเหล่านี้สามารถเข้าไปในระบบอุตสาหกรรมได้ จะสามารถขับเคลื่อนความเข้าใจเหล่านี้ให้กระจายออกไปได้มากยิ่งขึ้น ทั้งผู้คนทั่วไปได้เข้าใจในความเป็นเด็กแว้นมากขึ้น รวมถึงตัวเด็กแว้นเองที่สามารถเข้าใจตัวเองและสังคมมากยิ่งขึ้น ทำในสิ่งที่สร้างสรรค์เป็นผลดีทั้งกับตัวเองและผู้อื่น”





     การทำธุรกิจทุกวันนี้ เราไม่ควรนำเสนอแค่คุณภาพของผลิตภัณฑ์เท่านั้น เพราะผู้บริโภคในยุคนี้มักจะเลือกซื้อสินค้า จากการที่สินค้านั้นสร้างหรือทำอะไรเพื่อส่วนรวมบ้างด้วย เหมือนเช่นกับ VANZTER ที่ต้องการเปิดมุมมองขับเคลื่อนความเป็นเด็กแว้นในอีกแง่มุมหนึ่งให้คนทั่วไปได้รับรู้ ซึ่งหากไม่เข้ามาสัมผัสก็อาจไม่มีทางเข้าใจได้ และเมื่อพวกเขาได้รับการดูแลและแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธี คุณภาพชีวิตของเขาก็จะดีขึ้น ปัญหาของสังคมก็จะลดน้อยลง
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​