เมื่อ Krispy Kreme จืดจางในแดนจิงโจ้
Share:

เรื่อง วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
ยังจำกันได้ใช่ไหมถึงช่วงที่ร้านโดนัทจากอเมริกาแบรนด์ Krispy Kreme มาเปิดใหม่ ๆ ในเมืองไทย มวลมหาประชาชนก็ไปเข้าคิวยาวเฟื้อยเพื่อรอซื้อขนมที่มีรูตรงกลาง กลายเป็นข่าวถึงขนาดมีการรับจ้างต่อแถว หรือใครซื้อได้ก็เอามาขายต่อทำกำไร ก็เป็นกระแสอยู่พักหนึ่งก่อนจะซาไป กระแสแบบนี้เรียกว่า มาไวไปไว จะว่าไป คริสปี้ ครีมก็ยังดี ยังขายได้เรื่อย ๆ ไม่ม้วนเสื่อพับกิจการไปเหมือนโรตีบอย
ที่ออสเตรเลียก็เคยมีโมเมนต์แบบนี้เหมือนกัน ตอนที่คริสปี้ ครีมเปิดตัวครั้งแรกที่ชานเมืองซิดนีย์เมื่อปี 2546 ผู้คนก็พากันว้าวแบบนี้แหละ แบบว่าทึ่งกับรสชาติต่าง ๆ ที่ฉาบหน้าโดนัท
กระแสคลั่งคริสปี้ ครีมทำให้มีลูกค้าเข้าร้านแบบทะลักทะลาย เรียกว่าเป็นการเปิดตัวสวยงามเพราะได้รับการตอบรับดีมาก เหมือนจะมั่นใจว่าต้องใช่ ต้องโดนใจตลาดแน่ ๆ คริสปี้ ครีมขยายสาขาอย่างรวดเร็ว จะเรียกว่าก้าวกระโดดก็ได้ ขนาดในปั๊มน้ำมันยังมี หรือเปิดเป็นคีออสก็เอา
ไม่กี่ปีก็ขยายไปมากถึง 59 สาขา ไม่เฉลียวใจเลยว่ามันจะกลายเป็นแค่กระแสมาแล้วก็ไป หลังจากนั้นไม่นาน คริสปี้ ครีมก็ทะยอยยุบสาขา จนถึงปี 2553 ปิดไปแล้วรวม 24 ร้านหรือเกือบครึ่งของจำนวนทั้งหมด สงสัยไหมว่าทำไมตอนเปิดตัวแรก ๆ จึงได้รับการตอบรับดี แต่ผ่านไปสักพัก คนก็เมินละ เดินผ่านร้าน แทบไม่มีลูกค้าเลย
อย่างหนึ่งคือเรื่องของวัฒนธรรมการกิน คริสปี้ครีมอาจเป็นของแปลกใหม่เรียกความสนใจได้ก็เฉพาะช่วงแรก ๆ เท่านั้น เพราะโดยธรรมชาติแล้ว คนออสซี่ไม่นิยมรับประทานโดนัทหรือเบเกิล (bagel) กับกาแฟเป็นอาหารเช้าหรืออาหารว่างเหมือนคนอเมริกัน
ไปดูตามร้านคาเฟ่ออสเตรเลียเถอะจะเห็นว่าที่วางขายโดยมากเป็นมัฟฟินชิ้นใหญ่ ๆ ใหญ่กว่ากำปั้นอีก หรือไม่ก็บานานาเบรดชิ้นหนา ๆ ประเภทกินชิ้นเดียวอิ่มนาน มัฟฟินกับเค้กกล้วยหอมจึงเป็นอาหารเช้าและอาหารว่างยอดนิยมอย่างหนึ่งของชาวดาวน์อันเดอร์
นอกจากวัฒนธรรมการบริโภคที่ไม่เหมือนกัน ยังเป็นเรื่องของ timing หรือช่วงเวลาที่เข้ามาในตลาดอีกด้วย คริสปี้ ครีมเข้ามาในช่วงที่ออสเตรเลียกำลังเผชิญกับวิกฤติโรคอ้วนที่ทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาลไปกับปัญหาด้านสาธารณสุข นั่นคือค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคอ้วน โรคเบาหวาน
วิกฤติ fat bomb นี่เองที่ทำให้เกิดการรณรงค์อย่างหนักให้ประชาชนหันมารับประทานเพื่อสุขภาพ และหลีกเลี่ยงอาหารขยะที่ทำให้เกิดโรคอ้วน กระแสอาหารสุขภาพมาแรงจนกระทั่งแมคโดนัลด์เองยังต้องเพิ่มเมนูสลัดผักให้ลูกค้า แล้วคริสปี้ ครีมล่ะ ขนมแป้งทอดฉาบน้ำตาลหวานจัดที่ถูกจัดอยู่ในอาหารประเภท empty calories (อาหารที่ให้พลังงานสูงและคุณค่าทางโภชนาการต่ำ) จะเอาอะไรไปสู้ จากโปรดักส์ที่สร้างกระแสฮือฮา คริสปี้ ครีมจึงกลายเป็นร้านขนมที่ถูกเมิน จนต้องลดขนาดธุรกิจลงอย่างที่เห็น
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
Topics:
Share:
Related Articles
ทำไม “มูซังคิง” ทุเรียนบ้านๆ จากมาเลย์ ถึงกลายเป็นราชันแห่งทุเรียน ส่งออกไปจีนปีละกว่า 1,000 ตัน
“มูซังคิง” ผลไม้ยอดฮิตของกลุ่มคนรักทุเรียนในจีน ได้เริ่มต้นส่งออกทุเรียนมูซังคิงไปยังประเทศจีนเมื่อ 6 ปีก่อน และปัจจุบันได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราช..
EAON MALL สลัดภาพค้าปลีกหัวเก่า ก้าวเท้าสู่ “ดิจิทัล” ตั้งศูนย์เทคโนโลยีนำร่องในจีน ก่อนใช้จริงในญี่ปุ่น
อิออน มอลล์ที่ให้บริการในจีนได้เคยนำร่องให้ร้านค้าของห้างไลฟ์สดจำหน่ายสินค้าไปแล้วหลังจากที่มีการก่อตั้งศูนย์บริหารดิจิทัลอิออนขึ้นในเมืองหังโจว เรี..
หมัดเด็ดเล็กสู้ยักษ์! ถอดกลยุทธ์ Dunham's ห้างสรรพสินค้าอิสระแห่งสุดท้ายในอเมริกา
ทุกเมืองคงเคยมีห้างสรรพสินค้าในท้องถิ่น ก่อนที่แบรนด์ใหญ่ทุนหนาจะค่อยๆ คืบคลานเข้ามาจนห้างท้องถิ่นสู้ไม่ไหวปิดตัวลงไปในที่สุด แต่ไม่ใช่กับ Dunham’s ..