เวียดนาม ตลาดปราบเซียน เหตุใดฟาสต์ฟูดตะวันตกแจ้งเกิดไม่ได้?
Share:


ธุรกิจ QSR (quick service restaurant) หรือที่เรียกว่า ธุรกิจฟาสต์ฟูดนั้น มีมูลค่ามหาศาลถึง 651,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบรนด์ดังแบรนด์ใหญ่อย่างแมคโดนัลด์และเบอร์เกอร์คิง ไม่ว่าขยายไปยังตลาดใด มักได้รับการต้อนรับ และธุรกิจเติบโตดี จวบจนปัจจุบัน ในกว่า 100 ประเทศ แมคโดนัลด์มีสาขา 36,000 แห่ง ขณะที่เบอร์เกอร์คิงมี 16,000 สาขา แต่มีอยู่ประเทศหนึ่งที่เชนฟาสต์ฟูดทั้งสองแบรนด์เพิ่งเข้าไปชิมลางได้ไม่กี่ปี และพบว่าเป็นตลาดที่เจาะยากมากในหมู่ผู้บริโภคท้องถิ่น ส่งผลให้อัตราการเติบโตของธุรกิจชะลอตัวมากถึงมากที่สุด ประเทศที่ว่าคือ เวียดนาม
แมคโดนัลด์และเบอร์เกอร์คิงอาจประสบความสำเร็จในการละลายพฤติกรรมการกินของผู้บริโภคในตลาดจีนและญี่ปุ่น ทำให้ผู้บริโภคยอมรับอาหารตะวันตกมากขึ้น และธุรกิจเติบโตได้เร็ว แต่ที่เวียดนามนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ตอนที่แมคโดนัลด์เข้ามาเปิดสาขาแรกที่นครโฮจิมินห์เมื่อปี 2014 ผู้คนนับร้อยแห่เข้าคิวเป็นชั่วโมง เพื่อรอซื้อเบอร์เกอร์มาลิ้มลองตามที่เคยเห็นจากภาพยนต์ฮอลลีวู้ด แต่หลังจากนั้นไม่นาน ความคึกคักก็ซาลงจนกลายเป็นเงียบเหงา จากที่แมคโดนัลด์เคยตั้งเป้าจะขยายธุรกิจในเวียดนามให้ครบ 100 ภายใน 10 ปี จนถึงขณะนี้ แมคโดนัลด์ในเวียดนามมีเพียง 17 สาขาเท่านั้น
ด้านเบอร์เกอร์คิง เข้ามาเวียดนามเมื่อปี 2012 ด้วยเงินลงทุน 40 ล้านดอลลาร์ และหวังจะเปิดให้ได้ 60 สาขาภายในปี 2016 แต่นี่เลยกำหนดมา 2 ปีแล้ว เบอร์เกอร์คิงเพิ่งขยายได้ 13 สาขา ไม่ต่างจากซับเวย์ที่แม้จะเป็นแชมป์แฟรนไชส์ฟาสต์ฟูดที่มีสาขามากสุดในโลก แต่ในตลาดเวียดนามที่ซับเวย์เข้ามาตั้งแต่ปี 2011 จนถึงขณะนี้ 7 ปีผ่านไป ซับเวย์มีสาขาแค่ 7 แห่งและจำกัดเฉพาะในนครโฮจิมินห์เท่านั้น

ข้อมูลระบุว่าแมคโดนัลด์และเบอร์เกอร์คิงมีส่วนแบ่งในตลาดฟาสต์ฟูดเวียดนามรวมกันเพียง 2.8% ขณะที่เคเอฟซีมีส่วนแบ่ง 4.4% และพิซซ่าฮัทครองมากหน่อย 21.3% ทำไมเวียดนามจึงเป็นตลาดที่เจาะยากเจาะเย็นขนาดนั้น ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า เวียดนามเป็นประเทศที่กรำศึกสงครามมาอย่างต่อเนื่อง การที่โลกตะวันตกจะเข้ามาดำเนินธุรกิจจึงเป็นไปได้ยาก แม้สงครามสุดท้ายที่ต่อสู้กับอเมริกาจะสิ้นสุดเมื่อปี 1972 ก็ยังทิ้งช่วงไปอีกกว่า 2 ทศวรรษกว่าเวียดนามจะฟื้นฟูประเทศ และเปิดประตูรับนักลงทุนจากข้างนอกในปี 1995
สิ่งที่เชนฟาสต์ฟูดจากสหรัฐฯ เผชิญคือการแข่งขันอย่างดุเดือด ทั้งจากร้านอาหารท้องถิ่นและร้านจากต่างประเทศที่หวังเข้ามายึดหัวหาดทั้งสิ้น อย่าลืมว่าเวียดนามเองก็มีวัฒนธรรมอาหารอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง อาหารที่ได้ชื่อว่าเป็นฟาสต์ฟูดสไตล์เวียดๆ นั้นมีมากมาย โดดเด่นสุดได้แก่ เฝอ (ก๋วยเตี๋ยวน้ำ) และบั๋นหมี่ (แซนด์วิชเวียดนามที่ได้รับอิทธิพลจากยุคอาณานิคมฝรั่งเศส) ยังไม่รวมบรรดาข้าวราดแกง และขนมจีนหลากหลายแบบ จากสถิติ เวียดนามมีร้านอาหารประมาณ 540,000 ร้านค้า ในจำนวนนี้กว่า 430,000 ร้านเป็น street food หรือร้านข้างถนน มีเพียง 80,000 แห่งที่เป็นร้านอาหารแบบ full service และ 22,000 แห่งเป็นบาร์/คาเฟ่ สำหรับร้านฟาสต์ฟูดมีเพียง 7,000 แห่ง แน่นอนว่าหากนับเอาความสะดวก ผู้บริโภคย่อมเลือกร้านข้างถนนที่กระจายทั่วทุกตรอกซอกซอยเมื่อเทียบกับร้านฟาสต์ฟูดที่สาขาน้อยกว่ามาก
นอกจากร้านข้างถนนจะสะดวกและหาง่าย ปัจจัยสำคัญอีกอย่างคือ รสชาติและราคา หากไม่พูดถึงกลุ่มนักท่องเที่ยว ฟาสต์ฟูดตะวันตกไม่ได้ถูกปากลูกค้าชาวเวียดนามนัก เพราะพวกเขาคุ้นชินกับเฝอและบั๋นหมี่มากกว่า จะดีหน่อยก็แบรนด์ฟาสต์ฟูด “จอลลี่บี” จากฟิลิปปินส์ที่ยังพอทำรายได้ ขยายสาขาได้ 80 กว่าสาขาเพราะรสชาติหวาน เผ็ด เค็ม และจัดจ้านกว่า อย่างไรก็แล้วแต่ เบอร์เกอร์หรือไก่ทอดก็ไม่ใช่อาหารที่ลูกค้าจะบริโภคได้ทุกวัน เนื่องจากราคาแพงกว่าอาหารข้างทางมาก เบอร์เกอร์ 1 ชิ้นอาจซื้อเฝอได้ 2-3 ชามเลยทีเดียว ผู้บริโภคเวียดนามจึงเทใจให้สตรีทฟูดบ้าน ๆ มากกว่า
ไม่แปลกที่จะมีข้อมูลว่าชาวเวียดนามจ่ายเงินไปกับร้านอาหารท้องถิ่นถึง 78% และจ่ายให้กับร้านฟาสต์ฟูดแบรนด์นอกแค่ 1% เท่านั้น ช่วงระหว่างปี 2016-2018 จำนวนผู้บริโภคเวียดนามใช้บริการร้านฟาสต์ฟูดลดลง 31% และเดินเข้าร้านอาหารข้างทางมากขึ้น 70% อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีฟาสต์ฟูดจากต่างประเทศแบรนด์ไหนที่ถอดใจ ยังมีความพยายามจะปรับกลยุทธ์เพื่อเอาชนะใจผู้บริโภคท้องถิ่น อาทิ การปรับรสชาติให้ถูกปาก โดยเพิ่มเมนูที่ชาวเวียดนามคุ้นเคย เช่น ข้าวหมูย่างไข่ดาว และข้าวปลาทอด เป็นต้น แบรนด์ฟาสต์ฟูดสัญชาติอเมริกันจะอึดแค่ไหน จะสามารถพลิกกลยุทธ์จนพิชิตตลาดเวียดนามได้หรือไม่ คงต้องจับตาดู
อ้างอิง
www.cnbc.com/2018/09/13/mcdonalds-burger-king-vietnam-fast-food.html
https://english.vietnamnet.vn/fms/business/180988/foreign-fast-food-chains-show-underwhelming-performance-in-vietnam.html
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
Topics:
Share:
Related Articles
ล้วงสูตรลับ “Eu Yan Sang” ร้านยาจีนเก่าแก่กว่าร้อยปีเมืองสิงคโปร์ ทำอย่างไรให้เติบใหญ่เป็นแบรนด์ข้ามชาติ
จากร้านขายขายยาแพทย์แผนจีนเล็กๆ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 142 ปีก่อน จนถึงปัจจุบัน Eu Yan Sang ไม่เพียงอยู่ยั้งยืนยง หากยังพัฒนาธุรกิจให้เติบโตกลายเป็นแบร..
รับกระแสคนแห่เลี้ยงสัตว์ช่วงโควิด Ben & Jerry’s สบช่องเปิดตัวไอศกรีมสำหรับสุนัข
สร้างความฮือฮาให้กับวงการสัตว์เลี้ยงเมื่อแบรนด์ไอศกรีม Ben & Jerry’s เปิดตัว ”Doggie Desserts“ ไอศกรีมสำหรับสุนัข หลังจากการระบาดของโควิดทำให้จำ..
LOLI Beauty คิดนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ให้สินค้าออร์แกนิก กำจัดบับเบิลพลาสติกในกระบวนการขนส่ง
LOLI Beauty แบรนด์เครื่องสำอางออร์แกนิกที่วางขาย Amazon พัฒนาถุงย่อยสลายได้หลายชั้นที่ “ดัก” อากาศเอาไว้ระหว่างชั้นผลิตด้วยข้าวโพดและแป้ง ที่สุดท้าย..